×

‘จะไม่ยอมถูกกระทำ เพราะถ้าฉันเป็นผู้กระทำ ตัวฉันจะปลอดภัย’ ความรุนแรงในเด็กที่มีได้ตั้งแต่เกิด

โดย THE STANDARD TEAM
29.01.2024
  • LOADING...
ความรุนแรงในเด็ก

เป็นเพียงการหยอกล้อ ทะเลาะวิวาท หรือความกดดันของคนที่ถูกรังแกมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีการสรุปถึงมูลเหตุ แรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากผู้ก่อเหตุที่เป็นเพียงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขตสวนหลวง ซึ่งนำไปสู่การจบชีวิตของเพื่อนนักเรียนด้วยกันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ (29 มกราคม) 

 

หากนับรวมไปถึงการจับกลุ่มกันก่อเหตุอุกอาจทำร้ายบุคคลซึ่งไร้ทางสู้ที่จังหวัดสระแก้ว และการบุกเดี่ยวยิงผู้บริสุทธิ์กลางศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ ผู้ต้องหาในทุกคดีที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เป็นเพียง ‘ผู้เยาว์’ หรือเป็นเด็กและเยาวชน กลุ่มคนที่สังคมคาดหวังให้พวกเขากลายเป็นอนาคตของชาติ

 

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 กำหนดนิยามของเด็กคือ มีอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ส่วนเยาวชนมีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะมีผลต่อโทษจากการลงมือกระทำความผิดด้วย

 

THE STANDARD พูดคุยกับ ‘พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ’ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งนับวันตัวผู้ก่อเหตุมักจะเป็นเพียงผู้เยาว์

 

ต้นเหตุความรุนแรง 4 ส่วน

 

สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กที่นับวันสังคมมองว่าตัวผู้กระทำมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ พญ.วิมลรัตน์ กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ 

 

อันดับแรกคือ ตัวของเด็กเองที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วย ทำให้พวกเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

 

เรื่องนี้เป็นปัจจัยในตัวของเขาเอง เช่น เรื่องการจัดการอารมณ์ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีการจัดการ รับมือกับอารมณ์แตกต่างกัน เป็นไปได้ที่เด็กบางคนใจร้อนมาตั้งแต่เกิด ขณะที่เด็กอีกคนเกิดมาก็ใจเย็นเลย 

 

ปัจจัยที่สองคือ เรื่องครอบครัว พญ.วิมลรัตน์ กล่าวว่า สถานภาพครอบครัวปัจจุบันมีสถานะหย่าร้างสูง มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าเวลาเกิดปัญหา เขาสามารถใช้ความรุนแรงตอบโต้ได้ 

 

ความรุนแรงปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการทำร้ายร่างกาย ใช้คำหยาบด่าทอ ปัจจุบันที่เราเจอมากคือความรุนแรงทางด้านจิตใจ การเปรียบเทียบ การคาดหวัง และการด้อยค่า 

 

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่สามคือ ความรุนแรงในโรงเรียนและชุมชน ซึ่งการที่เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน พวกเขามีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมตามสภาพนั้น เช่น บางครั้งต้องไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีแต่การรังแกกัน มีการใช้ความรุนแรง มีการใช้สารเสพติด 

 

“สิ่งแวดล้อมจะทำให้เด็กคิดได้ว่า แทนที่ฉันจะเป็นผู้ถูกกระทำ ตัวฉันสามารถเป็นผู้กระทำเองได้ เพื่อความปลอดภัย” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว

 

อีกส่วนที่ พญ.วิมลรัตน์ มองว่ามีผลต่อความรุนแรงในเด็กอย่างมากคือ เรื่องของสื่อ เพราะเด็กสมัยนี้มีโอกาสได้เรียนรู้จากโลกออนไลน์ หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น การที่เด็กได้เจอความคิดเห็นที่เข้ามาสนับสนุนความรุนแรงก็กลายเป็นว่าเด็กมองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ถูก

 

ความรุนแรงไม่มีเงื่อนไข ‘ป่วย’ หรือ ‘ไม่ป่วย’ ทางจิต

 

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวว่า เรื่องของความรุนแรงบนโลกนี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และสามารถเกิดจากคนที่ไม่มีอาการป่วยทางจิตเวชมากกว่าคนที่มีอาการป่วย เพียงแต่สังคมอาจจะให้ความสนใจในกรณีที่มีผู้ป่วยเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

ความรุนแรงสังเกตได้ตั้งแต่เกิด

 

“พ่อแม่สามารถสังเกตอาการป่วยของโรคได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกเป็นอะไร โรคบางอย่างเริ่มได้ตั้งแต่เกิด สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เกิดพัฒนาการ การควบคุมอารมณ์ ซนมากจนเกินไป โมโหร้ายจนเกินไป พ่อแม่จะต้องสังเกตว่ามากเกินกว่าเด็กทั่วไป ไม่สามารถอยู่กับใครได้หรือไม่” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว

 

พญ.วิมลรัตน์ อธิบายต่อว่า การสังเกตเมื่อลูกโตขึ้น ดูได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เก็บตัวมากขึ้น, พูดคำหยาบ, ชอบใช้ความรุนแรงเข้ามาจัดการปัญหา และการใช้สารเสพติด หากพ่อแม่สังเกตเห็นแล้วว่าลูกมีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่แปลกไปจากเดิม พ่อแม่ก็จะต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างทันที

 

โดยสิ่งที่พ่อแม่ทำได้เลยคือ การพูดคุยระหว่างกัน รับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน หากเราพูดกับลูกไปเลยว่า “ไปทำอะไรมา ทำไมถึงเป็นแบบนี้” ลูกจะรู้สึกว่ายังไม่ได้อธิบายอะไรก็ผิดแล้ว เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องฟังก่อนว่าช่วงนี้เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงแสดงออกแบบนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยความรู้สึกเป็นห่วง

 

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเราเริ่มเห็นข้อมูลว่ามีเด็กอายุน้อยลงเกี่ยวข้องกับความรุนแรง มีการใช้สารเสพติด จากเมื่อก่อนจะพบปัญหานี้ในเด็กโตเท่านั้น เรื่องการมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ เด็กบางคนเริ่มมีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา จากเมื่อก่อนเราอาจจะพบว่าเรื่องเหล่านี้เริ่มต้นที่วัยมัธยมศึกษาเป็นต้นไป

 

สถิติ ‘เด็ก’ ก่อเหตุ

 

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้รวบรวมรายงานสถิติคดีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบว่า ช่วงวัยที่ก่อคดีมากที่สุดคือ มัธยมศึกษา 6,306 คดี คิดเป็น 51.72% รองลงมาคือ ประถมศึกษา 2,142 คดี คิดเป็น 17.57%

 

เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมากถึง 4,885 คดี ตามมาด้วยคดีเกี่ยวกับทรัพย์ 1,828 คดี และชีวิตและร่างกาย 1,695 คดี ซึ่งการลงโทษใช้วิธีนำตัวผู้ทำผิดไปฝึกและอบรม 2,594 คดี มีเพียง 24 คดีเท่านั้นที่ถูกตัดสินจำคุก

 

ข้อมูลอีกส่วนที่น่าสนใจคือ ในบรรดาเด็กที่กระทำผิด มีมากถึง 9,239 รายที่ครอบครัวแยกกันอยู่ มีเพียง 3,820 รายเท่านั้นที่อยู่กับบิดามารดา 

 

จนถึงวันนี้แม้ตัวเลขอายุผู้กระทำผิดจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากสมัยอดีตที่ผู้ทำผิดมักเป็นเด็กโตหรือวัยรุ่นแล้วเท่านั้น ในความเปลี่ยนแปลงนี้มีเงื่อนไขหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือ การตัดไฟแต่ต้นลมด้วยสถาบันครอบครัวที่มีส่วนอย่างมากในการช่วยลด ปรับ ดูแล และควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กได้ดีที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising