ปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจต้องควบคู่ไปกับการตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นอีกหัวใจหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจ อย่างเช่น ธุรกิจธนาคาร ซึ่งเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นแหล่งเงินทุน ซึ่งเปรียบได้กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่มาหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ที่ชื่อว่าเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ธนาคารจึงต้องเพิ่มมิติของ ESG เข้ามาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุน เพื่อให้ได้เงินทุนที่ดีต่อโลก เหมือนน้ำมันที่จะใช้กับเครื่องยนต์ และน้ำมันนั้นก็ต้องเป็นน้ำมันที่สะอาด สามารถช่วยลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นกับโลกของเราด้วย
ดังนั้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว หรือ Green Finance จึงเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนพร้อมกับตอบสนองความต้องการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กันได้ จึงไม่ใช่แค่กองทุนพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า หรือกิจการเพื่อสังคม และยังมีหลายเครื่องมือทางการเงินที่ทางธนาคารได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- Brand & Marketing Trend 2022: เปิดเทรนด์ยุคใหม่ของโลกหลังโควิด แบรนด์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่
Green Bond หรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง และอาคารสีเขียว เป็นต้น
Social Bond หรือตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม โดยจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคม เช่น โครงการเพื่อลดปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร การเข้าถึงสาธารณูปโภค สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และการศึกษา เป็นต้น
Sustainability Bond หรือตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน คือส่วนผสมระหว่าง Green Bond และ Social Bond ซึ่งมุ่งหวังทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป
Sustainability-Linked Bond หรือตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเหมือนกัน แต่เงื่อนไขการให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) จะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออก ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
Sustainability-Linked Loan คือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ในกลุ่มตราสารหนี้สีเขียว ที่อัตราดอกเบี้ยสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายของบริษัทผู้ออก ที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
ESG-Linked Interest Rate Swap คือการทำสัญญาอนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย Thai Overnight Repurchase Rate หรือ THOR ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับบริบทสากลที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อนและสร้างโลกที่สมดุล พร้อมก้าวไปในอนาคตอย่างยั่งยืน
Green Equity Funds หรือกองทุนรวมตราสารทุนสีเขียว คือกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในโครงการที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สินเชื่อเพื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อส่งเสริมและช่วยให้โลกลดพลังงานอีกทางหนึ่ง
นอกจากการให้สินเชื่อแล้ว ในแง่ของการลงทุน ธนาคารก็ยังใช้เกณฑ์ด้าน ESG ในด้านของการแนะนำหรือการให้ข้อมูลสำหรับลูกค้าที่ต้องการนำเงินมาลงทุนกับธนาคาร การวิเคราะห์ด้าน ESG จะช่วยให้ธนาคารเข้าใจจุดแข็งและความยืดหยุ่นของรูปแบบธุรกิจของลูกค้าที่มีต่อความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือจากทุนทางธรรมชาติ รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในกิจการที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน เช่น กองทุน SCBCLEAN, SCBGEESG และ K-CHANGE เป็นต้น
สำหรับนักลงทุนและประชากรโลกที่เปรียบเสมือนเป็นคนขับรถยนต์ที่ช่วงนี้อาจใช้เวลาเดินทางแบบสาหัส ซึ่งอาจเจอน้ำท่วม พายุฝนตกหนัก หรือแม้กระทั่งฝุ่น PM2.5 จากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้สภาพอากาศที่เลวร้ายขึ้นทุกวัน ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวอย่างจริงจัง เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลังไปพร้อมๆ กับโลกสีเขียวสดใสและยั่งยืน ซึ่งนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเราและลูกหลานสืบต่อไป
อ้างอิง: