×

The Big Four สี่รางวัลใหญ่ Grammy Awards ศึกแห่งศักดิ์ศรีที่คนดนตรีต่างจับตามอง!

โดย Homesickalienn
22.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ในปี 2010 เทย์เลอร์ สวิฟต์ อายุ 20 ปี เป็นผู้ชนะรางวัล ‘อัลบั้มแห่งปี’ ที่อายุน้อยที่สุดตั้งแต่มีการมอบรางวัลแกรมมี่ กับผลงานอัลบั้ม Fearless โดยสถิติเดิมเป็นของ อลานิส มอริสเซตต์ ในวัย 21 ปี ที่ชนะรางวัลแกรมมี่ด้วยอัลบั้ม Jagged Little Pill ในปี 1996
  • มีคำกล่าวว่า การเป็นผู้ชนะรางวัล ‘ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม’ บนเวทีแกรมมี่ถือเป็นคำสาปแห่งวงการดนตรี เพราะว่ากันว่าผู้ชนะรางวัลนี้มักจะไม่ประสบความสำเร็จในวงการดนตรี หากออกผลงานอัลบั้มต่อมา
  • จากสถิติที่ผ่านมา ศิลปินชายผู้เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ‘บันทึกเสียงแห่งปี’ บ่อยที่สุดได้แก่ แฟรงก์ ซินาตรา (7 ครั้ง) ส่วนฝ่ายหญิงได้แก่ บาร์บรา สไตรแซนด์ และ บียอนเซ่ (5 ครั้ง) ซึ่งในกรณีของ บียอนเซ่ นั้น เธอเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งในขณะที่เป็นศิลปินเดี่ยว และเมื่อครั้งยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Destiny’s Child กับเพลง Say My Name

 

 

หากจุดสูงสุดในชีวิตการเป็นนักแสดงของคนคนหนึ่ง คือการก้าวขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัลในฐานะผู้ชนะรางวัลออสการ์ เชื่อว่านักดนตรีหลายคน (ที่ไม่อินดี้จนเกินไปนัก) ก็มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ชนะรางวัลแกรมมี่อวอร์ดส์ (Grammy Awards) เช่นกัน

นับเป็นเวลากว่า 58 ปี ตั้งแต่มีการประกาศรางวัลแกรมมี่อวอร์ดส์ ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1959 มีศิลปินและผู้อยู่เบื้องหลังวงการดนตรีนับพันคนที่ได้มีโอกาสสัมผัสโล่รางวัลอันทรงเกียรตินี้ ที่ถูกออกแบบให้เป็นรูปทรงหีบเสียงทองคำ (Gramophone) ซึ่งนักวิจารณ์และนักฟังเพลงทั่วโลก ให้การยอมรับว่าเป็นหนึ่งในงานประกาศรางวัลเกี่ยวกับผลงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นอีเวนต์บันเทิงที่แฟนคลับของเหล่าบรรดาศิลปินตั้งหน้าตั้งตาคอยมากที่สุด (เคียงคู่รางวัล BRIT Awards ของทางฝั่งอังกฤษและ World Music Awards ซึ่งเป็นงานแจกรางวัลสำหรับผลงานดนตรีทั่วโลก)

อย่างไรก็ดี จากประเภทของรางวัลซึ่งมีมากกว่า 70-80 รางวัลในแต่ละปี (ซึ่งจำนวนรางวัลถูกแบ่งซอยออกเป็นจำนวนมากที่สุดในปี 2017 นี้เอง โดยมีการแจกรางวัลทั้งหมด 84 ประเภท) ว่ากันว่ามีรางวัลอยู่ทั้งหมด 4 ประเภท ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด หรือ ‘The Big Four’ อันได้แก่ รางวัลเพลงแห่งปี, รางวัลบันทึกเสียงแห่งปี, รางวัลอัลบั้มแห่งปี และรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม นั่นเอง

 

Coldplay และ Jay-Z

 

Song of The Year: รางวัลเพลงแห่งปี
รางวัลแกรมมี่ในสาขาเพลงแห่งปี เป็นรางวัลใหญ่ที่มอบให้แก่บทเพลงอันทรงคุณค่าทั้งในแง่ของการประพันธ์ โดยผู้ที่จะได้รับรางวัลนั้นไม่ใช่ศิลปินซึ่งขับร้องบทเพลง แต่จะมอบให้แก่นักเขียนเพลง (แต่อาจจะเป็นคนเดียวกันกับผู้ขับร้องก็ได้ เช่น อเดล) ซึ่งชนะรางวัลนี้จากการประกาศรางวัลแกรมมี่ในปี 2017 ด้วยเพลง Hello ที่เธอแต่งร่วมกับเกร็ก เคอร์สติน) บทเพลงที่ถูกเลือกให้รับรางวัลนั้นจะต้องเป็นเพลงที่ถูกประพันธ์ขึ้นใหม่ และไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเนื้อร้องที่ถูกหยิบยกมาจากบทเพลงอื่นๆ ในอดีต

มีศิลปินหลายคนซึ่งเป็นผู้ชนะรางวัลนี้จากการประพันธ์เพลงให้ตนเองขับร้อง เช่น ลอร์ด, อลิเซีย คียส์, โคลด์เพลย์ หรือเอ็ด ชีแรน อย่างไรก็ดีในประวัติศาสตร์รางวัลแกรมมี่ มีเพียง คริสโตเฟอร์ ครอสส์ และ อเดล เท่านั้นที่สามารถชนะรางวัลใหญ่ทั้ง 4 รางวัลมาครองได้สำเร็จ (เพลงแห่งปี, บันทึกเสียงแห่งปี, อัลบั้มแห่งปี และศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม)

ผู้เข้าชิงรางวัลเพลงแห่งปีในงานแกรมมี่ครั้งที่ 60 นี้ได้แก่

  • Despacito ของ Luis Fonsi and Daddy Yankee Featuring Justin Bieber
  • That’s What I Like ของ Bruno Mars
  • 4:44 ของ Jay-Z
  • Issues ของ Julia Michaels
  • 1-800-273-8255 ของ Logic featuring Alessia Cara & Khalid

 

โดยตอนนี้ภาษีที่ดูมีออร่ากว่าใครเพื่อน เหมือนจะเป็น 1-800-273-8255 ซึ่งยกชื่อเพลงทั้งดุ้นมาจากสายฮอตไลน์ให้คำปรึกษาปัญหาวัยรุ่น หรืออาจจะเป็น Despacito เพลงลาติโน่ที่แกรมมี่อาจจะบ้าจี้สร้างกระแสให้รางวัล แต่ใครจะรู้ เพลงที่ดูเรื่อยๆ มาเรียงๆ เคียงคู่ใจสตรีคิดมากอย่าง Issues ของจูเลีย ไมเคิลส์ อาจจะเป็นผู้ชนะแบบตบหน้ารุ่นเก๋าอย่าง เจย์-ซี หรือขวัญใจประชาชนอย่าง บรูโน มาร์ส ก็เป็นได้

 

Bruno Mars และ Beyonce

 

Record of The Year: รางวัลบันทึกเสียงแห่งปี

หนึ่งในประเภทของรางวัลที่ผู้ติดตามรางวัลแกรมมี่หลายคนยังมีความสับสนว่ามันแตกต่างอะไรกับ ‘รางวัลเพลงแห่งปี’ ซึ่งคำตอบก็คือ ในขณะที่รางวัลเพลงแห่งปีถูกมอบให้กับผู้ประพันธ์บทเพลง แต่รางวัลบันทึกเสียงแห่งปีนั้น ถูกมอบให้กับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลง โปรดิวเซอร์ ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ผู้มิกซ์เสียง รวมถึงศิลปินผู้ขับร้องบทเพลงนั้น

จากสถิติที่ผ่านมา ศิลปินชายที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบันทึกเสียงแห่งปีบ่อยครั้งที่สุดได้แก่ แฟรงก์ ซินาตรา (7 ครั้ง) ส่วนฝ่ายหญิงได้แก่ บาร์บรา สไตรแซนด์ และบียอนเซ่ (5 ครั้ง) ซึ่งในกรณีของบียอนเซ่นั้น เธอเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งในขณะที่เป็นศิลปินเดี่ยว และเมื่อครั้งยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Destiny’s Child กับเพลง Say My Name อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่เป็นผู้ชนะรางวัลนี้ พ่วงกับรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม เป็นตัวการันตีคุณภาพอันล้นเปี่ยมของเหล่าบรรดาดาวรุ่งพุ่งแรง เช่น เอมี ไวน์เฮาส์ และล่าสุดกับแซม สมิธ เป็นต้น


สำหรับในปีนี้ เป็นการชิงชัยกันระหว่าง

  • Redbone ของ Childish Gambino
  • The Story of O.J. ของ Jay-Z
  • Despacito ของ Luis Fonsi and Daddy Yankee featuring Justin Bieber
  • Humble ของ Kendrick Lamar
  • 24K Magic ของ Bruno Mars

 

ซึ่งก็ต้องมาลุ้นกันว่าการทำสถิติเป็นเพลงที่อยู่บนอันดับ 1 ชาร์ตบิลบอร์ดยาวนาน 16 สัปดาห์ของ Despacito จะโชว์ความเหนือด้วยพลังลาติน ฝ่าด่านสุดหินจนเป็นผู้ชนะได้หรือไม่ โดยที่หลายฝ่ายตอนนี้เหมือนจะเก็ง Humble ของเคนดริก ลามาร์ ขาประจำแกรมมี่ แต่อาจจะเป็นเจย์-ซี ที่คว้ารางวัลไปแบบเกินคาดก็เป็นได้ เพราะอะไรก็เซอร์ไพรส์เราได้เสมอบนเวทีนี้!

 

Ed Sheeran และ Taylor Swift

 

Album of The Year: อัลบั้มแห่งปี

รางวัลอัลบั้มแห่งปีเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานอัลบั้ม ซึ่งผู้ได้รับรางวัลประกอบไปด้วยตัวศิลปินเจ้าของอัลบั้ม โปรดิวเซอร์ ซาวด์เอ็นจิเนียร์ รวมถึงศิลปินที่มีส่วนร่วมอื่นๆ อยู่ในผลงานอัลบั้มนั้นๆ

ในปี 2010 เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นผู้ชนะรางวัลอัลบั้มแห่งปีที่อายุน้อยที่สุดตั้งแต่มีการมอบรางวัลแกรมมี่ด้วยวัย 20 ปี กับผลงานอัลบั้ม Fearless โดยสถิติเดิมเป็นของอลานิส มอริสเซตต์ ในวัย 21 ปี ที่ชนะรางวัลแกรมมี่แบบตบหน้านักมาร์เก็ตติ้งกับผลงานอัลบั้มอันเกรี้ยวกราด ซึ่งผงาดกลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มของศิลปินหญิงที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง Jagged Little Pill ในปี 1996

สำหรับรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลอัลบั้มแห่งปีในปีนี้ได้แก่

  • Melodrama ของ Lorde
  • 24K Magic ของ Bruno Mars
  • Damn ของ Kendrick Lamar
  • 4:44 ของ Jay-Z
  • Awaken, My Love! ของ Childish Gambino

 

ซึ่งแฟนเพลงต่างโล่งอกโล่งใจที่นักวิจารณ์ยังคงให้เครดิตความดีงามของอัลบั้มชุดล่าสุดของลอร์ดอยู่ แม้ตัวเพลงจะดูแป้กเบาๆ บนชาร์ตก็ตาม แต่คนที่ภาษีดีที่สุดตอนนี้ต้องยกให้เคนดริก ลามาร์ เพราะนอกจากจะเป็นขาประจำแกรมมี่ ผลงานอัลบั้มล่าสุดยังเน้นงานเพลงแรปแนวจี้จุดประเด็นสังคม เสียดสีค่านิยมต่างๆ อย่างถูกจริตแกรมมี่อย่างที่รู้ๆ กันดีอีกด้วย

 

Alicia Keys, Christina Aguilera และ Lauryn Hill

 

Best New Artist: ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม เป็นรางวัลที่มอบให้กับศิลปินผู้ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานอัลบั้มที่ออกวางจำหน่ายในวงกว้างเป็นครั้งแรก (โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานอัลบั้มแรกในชีวิตของศิลปินนั้นๆ) หรือมีการออกซิงเกิลมาโปรโมตไม่ต่ำกว่า 5 เพลงโดยที่ยังไม่ได้ออกผลงานอัลบั้มเต็ม รวมทั้งต้องไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงในรางวัลนี้มาก่อนเกินสามครั้งในฐานะสมาชิกของวงดนตรีต่างๆ ที่ตนเคยสังกัดอยู่

รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ถือเป็นหนึ่งในรางวัลที่ก่อให้เกิดดราม่าแทบจะทุกปี เพราะบรรดาแฟนคลับของศิลปินผู้ซึ่งแจ้งเกิดอย่างพลุแตกในปีนั้นๆ มักจะคาดหวังว่าศิลปินอันเป็นที่รักของตนเองจะเป็นผู้ชนะเสมอ และแน่นอนหากผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ความโกรธเกรี้ยวของแฟนเพลงย่อมมีให้เห็นเป็นบุญตาต่อผู้เสพดราม่าวงการดนตรี อย่างเช่นกรณีของ จัสติน บีเบอร์ กับ เอสเปอรันซา สปัลดิง ในงานประกาศรางวัลแกรมมี่ปี 2011 ซึ่งบีเบอร์นั้นพ่ายแพ้ให้แก่สปัลดิงในคืนตัดสิน ทำให้เหล่าบรรดาแฟนเพลงผู้เกรี้ยวกราดขอบีเบอร์ได้เข้าไปถล่มเพจวิกิพีเดียของสปัลดิงด้วยการแก้ไขข้อมูลต่างๆ รวมทั้งขึ้นข้อความว่า “จัสติน บีเบอร์ ควรเป็นผู้ชนะ เชิญไปตายในรูเถอะค่ะ หล่อนเป็นใครฉันยังไม่รู้เลย!”

มีการกล่าวเอาไว้ว่าการเป็นผู้ชนะรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมบนเวทีแกรมมี่ถือเป็นคำสาปแห่งวงการดนตรีที่ศิลปินมากมายได้ประสบในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่าผู้ชนะรางวัลนี้มักจะไม่สามารถกลับมาประสบความสำเร็จในวงการดนตรีจากการออกผลงานอัลบั้มต่อมาเสมอ พูดง่ายๆ ก็คือ “ปีนี้รับรางวัลปุ๊บ ปีหน้ากริบปั๊บ” เช่น นอราห์ โจนส์ (2003), ลอรีน ฮิลล์ (1999), เชลบี ลีนน์ (2001) หรือฟัน (Fun) (2013) ที่หลังจากปีนั้นประกาศขอแยกย้ายไปทำผลงานเดี่ยวของตัวเอง


อย่างไรก็ดีมีศิลปินผู้ซึ่งเคยเป็นผู้ชนะรางวัลนี้อีกหลายคนที่กลับมาพร้อมผลงานอัลบั้มซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในเวลาต่อมา เช่น คริสตินา อากีเลรา (2000), อลิเซีย คียส์ (2002) หรือมารูนไฟฟ์ (2005) เป็นต้น

ศิลปินหน้าใหม่บ้างไม่ใหม่บ้างที่ก้าวย่างเข้ามาอยู่ในรายชื่อผู้เข้าชิงปีนี้นั้นได้แก่

  • Alessia Cara
  • Khalid
  • Lil Uzi Vert
  • Julia Michaels
  • SZA

 

อย่างที่บอกว่านักวิจารณ์แกรมมี่ชอบศิลปินที่มีผลงานเสียดสีสังคม เนื้อเพลงพูดถึงความซีเรียสระทมของวัยรุ่นในโลกทุนนิยมสามานย์ ถ้าเป็นเช่นนั้น สาวฮิปสเตอร์อเลสเซีย คารา อาจจะซิวรางวัลไปก็เป็นได้ หรือ SZA กับผลงานสตูดิโออัลบั้มแรกหลังจากผลุบๆ โผล่ๆ แบบอินดี้ในวงการมาระยะหนึ่ง แต่แฟนๆ อาจจะต้องเตรียมใจอึ้ง เพราะอย่างที่รู้ ‘ม้ามืด’ มักสร้างเซอร์ไพรส์บนเวทีเสมอ!

 

 

หนึ่งในสิ่งที่คณะกรรมการรางวัลแกรมมี่พร่ำบอกอยู่ตลอดก็คือ “เราเฉลิมฉลองและสรรเสริญความดีงามทางด้านผลงานดนตรี โดยมิได้อิงถึงยอดขายหรือความสำเร็จบนชาร์ตเพลงแต่อย่างใด” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีศิลปินอีกมากมายที่ถึงแม้พวกเขานั้นมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก มีซิงเกิลฮิตติดบิลบอร์ดนับสิบ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้หยิบรางวัลแกรมมี่แม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต บ้างก็ว่าเป็นเรื่องของจังหวะเวลา แต่ที่แน่ๆในปีนี้ใครจะหมู่ใครจะจ่า รอลุ้นกันได้ในงานประกาศรางวัลแกรมมี่ครั้งที่ 60 วันที่ 29 มกราคมช่วงเช้าตามเวลาบ้านเรา!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X