×

บัณฑิตใหม่ปี 60 เตะฝุ่นทะลุ 1.7 แสนคน สถานการณ์แรงงานไทยที่ยังน่าห่วง

18.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ในจำนวนคนว่างงาน 4.02 แสนคน มีบัณฑิตใหม่ปี 2560 รวมอยู่ด้วยถึง 170,900 คน  
  • แม้คนรุ่นใหม่บางส่วนมักประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่ข้อมูลระบุว่า มีบัณฑิตที่ไม่มีงานทำจริงๆ ถึง 1.2 แสนคน
  • ปัญหาเชิงโครงสร้างคือ คนจบ ป.ตรี ไม่ตรงตลาดแรงงาน โดยบัณฑิตใหม่สายสังคมฯ มีมากกว่า 2 แสนคน

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่ามีจำนวนคนว่างงานที่จบปริญญาตรีมากที่สุด จำนวน 170,900 คน จากจำนวนผู้ว่างงานรวม 4.02 แสนคน ซึ่งปัญหาบัณฑิตใหม่ตกงาน เป็นเรื่องซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปี แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุมแนวทางแก้ไขการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

 

โดย พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวว่า ผลสำรวจข้อมูลภาวการณ์มีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนคนว่างงานที่จบปริญญาตรีมากที่สุด จำนวน 170,900 คน โดยสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนงานบ่อย การเลือกเรียน และจบในสาขาที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน รวมทั้งพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานที่อยู่ในกรอบ เป็นต้น

 

ตั้งศูนย์ One Stop Service 11 แห่งทั่วไทย แก้ปมจบ ป.ตรี เตะฝุ่น

กระทรวงแรงงานมีแนวทางการแก้ไขปัญหาว่างงานของผู้จบปริญญาตรี ซึ่งกำหนดไว้ 2 ระยะคือ

 

สำหรับระยะเร่งด่วนภายใน 3 เดือน กระทรวงแรงงานจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 11 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ คือ จ.เชียงใหม่ และ จ.พิษณุโลก ภาคอีสาน คือ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ภาคตะวันออก คือ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ภาคใต้ คือ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา รวมถึงในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครด้วย เพื่อบูรณาการข้อมูลความต้องการแรงงานของภาคเอกชน รวมถึงเพิ่มทักษะแรงงานทั้งที่เป็นงานประจำ และงานประเภทฟรีแลนซ์ รวมถึงการทำธุรกิจส่วนตัว

 

โดยแต่ละศูนย์จะแบ่งการทำงานออกเป็นด้านๆ ประกอบด้วย แนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระให้บัณฑิตมีงานทำ จำนวน 2,000 อัตรา

 

จับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย และ Job Box ของกรมจัดหางาน จำนวน 20,000 อัตรา รวมถึงตำแหน่งงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) จำนวน 4,500 อัตรา

 

มีการจัดนัดพบแรงงานในสถานศึกษา (Job Fair) จำนวน 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในเครือข่าย อาทิ JobsDB, BKK job จำนวน 28,000 อัตรา และช่องบริการรับสมัครงานผ่านไลน์ จำนวน 20,000 อัตรา และตำแหน่งงานในต่างประเทศอีกจำนวน 500 อัตรา

 

นอกจากนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up -Skill, Re-Skill) ให้กับบัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมอย่างน้อย 10 วัน อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ อินโฟกราฟิก เป้าหมาย 5,000 คน

 

ป.ตรี เรียนจบไม่ตรงตลาด บัณฑิตใหม่สายสังคมฯ ทะลุ 2 แสนคน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เดือนพฤษภาคม 2561 เปิดเผยจำนวนคนว่างงานทั้งหมดมีกว่า 4.02 แสนคน โดยในจำนวนนี้มีผู้จบ ป.ตรี มากที่สุดถึง 1.7 แสนคน

 

ขณะที่กระทรวงแรงงาน สำรวจสาเหตุที่เด็กจบปริญญาตรีใหม่แต่ยังไม่มีงานทำ พบว่าสาเหตุมาจากเปลี่ยนงานบ่อย อยู่ระหว่างรองานเพราะลาออกจากงานเดิม เลือกเรียนตามกระแส จบไม่ตรงตลาดแรงงาน ค่านิยม หรือเรียนตามเพื่อน เลือกงานหรือ ต้องการทำงานที่สบาย เงินเดือนสูงๆ รวมถึงพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานที่อยู่ในกรอบ

 

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อี คอนไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี แต่ปัญหาคือในช่วงรอยต่อนี้เรายังมีการผลิตบัณฑิตแบบเดิม จะเห็นได้ว่ามีเด็กจบสายสังคมศาสตร์กว่า 70% แต่ความต้องการของตลาดแรงงานไม่ได้ต้องการคนจบสายนี้

 

ขณะเดียวกันสาขาที่ต้องการกลับผลิตบัณฑิตมาน้อย เช่น สายเทคโนโลยี ผลิตมาเพียง 4% ของบัณฑิตทั้งหมด ซึ่งโครงสร้างมันบิดพลิ้วไป ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพูดถึงซูเปอร์คลัสเตอร์ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่เด็กที่จบมาในสาขาเทคโนโลยีพอเห็นตัวเลขก็น่ากังวล

 

สำหรับบัณฑิตใหม่ที่ตกงานจำนวน 1.7 แสนคน มีส่วนหนึ่งที่ทำอาชีพอิสระหรือประกอบธุรกิจ แต่บัณฑิตจบใหม่ส่วนใหญ่ ประมาณ 1.2 แสนคน เป็นบัณฑิตที่ยังหางานไม่ได้

 

นายธนิต กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับความจริงว่า เด็กจบปริญญาตรีส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ มีกว่า 80% ที่จบมาแล้วยังใช้งานไม่ได้ ซึ่งต่อไปต้องมีการบูรณาการกันระหว่างสถาบันการศึกษากับผู้ประกอบการในพื้นที่ เพราะปกติภาคเอกชนจะอ้างว่า ตนไม่ได้คนที่มีทักษะที่ต้องการ แต่อนาคตก็จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบหลักสูตร และรับเด็กไปฝึกงานในสถานที่ทำงานจริงเพื่อเรียนรู้งาน และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมในแต่ละองค์กร หากมีคุณสมบัติครบและเข้ากับองค์กรได้ก็รับเข้าทำงานไปเลย

 

สำหรับข้อมูลผู้จบการศึกษาระดับ ป.ตรี ปี 2560 มีจำนวนกว่า 3.46 แสนคน แบ่งเป็นจบสายวิทยาศาสตร์ 1.10 แสนคน หรือ 31.86% จบสายสังคมศาสตร์ 2.36 แสนคน หรือ 68.14%

 

โดยสาขาที่เรียนจบ ป.ตรี มากที่สุดคือ สังคมศาสตร์, บริหารธุรกิจ, กฎหมาย มีจำนวน 117,444 คน สาขาที่เรียนจบ ป.ตรี น้อยที่สุดคือ เกษตรกรรม และปศุสัตว์ มีจำนวน 8,748 คน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising