เรารู้จักชื่อ เกรซ-นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ ครั้งแรกในฐานะนักแสดงที่รับบทเป็นคนดูแลเด็กพิเศษในภาพยนตร์เรื่อง เอ๋อเหรอ (2548) ตอนนั้นทุกคนไม่ได้สนใจในตัวเด็กหญิงบนจอเงินมากไปกว่าสถานะ ‘ลูกเสี่ยเจียง’ เจ้าของบริษัทสหมงคลฟิล์ม หนึ่งในบุคคลที่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ไทยมากที่สุดในเวลานั้น
หลังจากผ่านผลงานการแสดงหลายเรื่อง ชื่อของเกรซค่อยๆ หายไปจากการรับรู้ จนกระทั่งวันที่ตัดสินใจโพสต์ภาพลงในอินสตาแกรมส่วนตัว ทุกคนให้ความสนใจกับเกรซอีกครั้งในฐานะนิสิตคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายข้ามเพศเพื่อเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป จากการให้สัมภาษณ์สั้นๆ ไม่กี่นาทีเกี่ยวกับ ‘ตัวตนที่เลือกได้ด้วยตัวเอง’ ในวันรับปริญญา เรารู้ได้ทันทีว่าความคิดภายในของเธอเติบโตไปไกลกว่าภาพลักษณ์ที่หลายคนเคยจดจำไปหลายเท่าตัว
THE STANDARD ชวนเธอมาเปิดใจถึงสถานะ ‘ลูกเสี่ยเจียง’ และ ‘Transgender’ ที่เธอต้องแบกรับมาตลอดชีวิต และตลอด 1 ชั่วโมงที่พูดคุยกัน เกรซได้ยืนยันให้เรารู้ถึงข้อความที่โพสต์ไว้ในอินสตาแกรมว่า “จริงๆ แล้วทุกคนควรมีโอกาสและมีอิสระในการใช้ชีวิต และอย่าให้คำว่าเพศมาเป็นประเด็นเหนือชีวิต อย่าให้มันมาเป็นการปิดกั้นโอกาส มาแบ่งแยก หรือทำให้เราทำอะไรไม่เต็มที่ เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกันทุกคน” นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง และไม่ใช่แค่เกรซคนเดียวเท่านั้น ทุกๆ คนก็มีสิทธิ์ที่จะ ‘เลือก’ เส้นทางสถานะในชีวิตไม่ต่างกัน
ย้อนไปสมัยเด็กๆ เกรซเติบโตมาแบบไหน ตัวจริงเหมือนกับภาพที่เราเห็นเป็นเด็กซนๆ แก่นๆ อย่างในภาพยนตร์หรือเปล่า
เป็นเด็กธรรมดามากเลยนะ ถ้าอยู่กับคุณพ่อจะไม่ดื้อเลย อยู่โรงเรียนก็ไม่ดื้อ แต่เป็นเด็กแอ็กทีฟ ตั้งใจเรียน วิชาการพอได้ แต่จะมีความสุขมากถ้าได้ทำงานศิลปะ ชนิดที่ว่าในชั่วโมงศิลปะเกรซแทบจะอยากทำงานแทนเพื่อนๆ เลย เพื่อนจะเอางานมาให้เราทำตลอด (หัวเราะ) พอพักเที่ยงจะไปเตะบอล ตอนเย็นปั่นจักรยานกับเพื่อน โตขึ้นมาก็ซ้อมวอลเลย์บอล เป็นนักกีฬาโรงเรียน พอกลับบ้านก็ทำการบ้าน เสร็จแล้วก็เล่นเกมเหมือนเด็กทั่วไปเลย
แต่ช่วงมัธยมอาจจะแปลกหน่อย เพราะเกรซเลือกที่จะสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นคิดว่าคุณพ่ออายุมากแล้ว เกรซรู้ว่าคุณพ่ออยากเห็นเราเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงนั้นเรียนหนักมาก ตัดกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตออกไปหมดเลย แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเร็วเกินไป เพราะรู้ตั้งแต่เด็กแล้วว่าเราชอบสายศิลปะ ชอบงานอาร์ต ชอบงานดีไซน์ ถ้าเรายิ่งโฟกัสในสิ่งที่เราอยากทำได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี
พอเข้ามาเรียนก็เป็นแบบที่คิดจริงๆ นอกจากเรื่องการออกแบบที่เน้นเป็นหลัก เกรซได้เรียนรู้การมองโลกอีกแบบหนึ่งผ่านการดีไซน์ ทำให้รู้ว่าทุกอย่างมีเหตุและผลของตัวเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะอะไรก็ไม่รู้ ทำให้เราแฮปปี้และใช้ชีวิตในทุกๆ วันได้อย่างสบายใจมากขึ้น
พูดได้ไหมว่าทุกๆ การตัดสินใจมาจากตัวเราเองจริงๆ ไม่ได้ถูกกดดันจากความคาดหวังของใคร
พูดได้เลย อย่างการเล่นกีฬาก็ไม่ต้องบอกใคร ตอนสอบเทียบก็เลือกเอง เพราะพ่อไม่เคยพูดกับเกรซในเรื่องนี้เลย ไม่เคยบังคับว่าอยากให้เรียนอะไร ที่ไหน เขาพูดแค่ว่าขอให้เรียนเท่านั้น ไม่เคยมีการบังคับอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราเลยสนุกกับการได้เลือกทำอะไรด้วยตัวเองมาตลอด
อย่างตอนเล่นหนังสมัยเด็กๆ ก็ไม่ได้ถูกบังคับใช่ไหม
เป็นความบังเอิญที่คุณพ่อไปคุยงานกับพี่พชร์ อานนท์ เขาอยากได้เด็กผู้หญิงคาแรกเตอร์แก่นๆ แล้วเกรซอยู่ตรงนั้นพอดี เขาก็ชวนมาเล่น บอกว่าถ่ายไม่กี่วัน คุณพ่อบอกว่าแล้วแต่ เราก็ลองดูสนุกๆ แต่สรุปว่าต้องถ่ายทั้งเรื่องเป็นเวลาหลายเดือน แล้วก็ลากยาวมาอีกหลายเรื่อง
เราเอ็นจอยที่ได้ออกไปเจอคนเยอะๆ อย่างตอนที่เล่นเรื่อง เอ๋อเหรอ ได้เล่นกับเด็กออทิสติก เกรซก็สนุกที่ได้คุยกับเขา ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เลยไม่ได้รู้สึกว่ามีใครมาบังคับจิตใจเรา เวลาเข้าฉากที่ต้องใส่กระโปรง ถามว่าใจเราอยากใส่ไหม ก็ไม่ได้อยากขนาดนั้น แต่เราคิดว่าว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่เรายอมรับได้ เพราะฉะนั้นเลยไม่ใช่ปัญหาอะไร
เคยมีเรื่องไหนที่รู้สึกว่าเราต้องฝืนใจทำจนกลายเป็นปัญหาบ้างไหม
ไม่เคยถึงขนาดดื้อ ต่อต้าน ขบถนะ แค่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา อย่างเวลาขานชื่อนางสาว แต่เราใส่กางเกง คนก็จะฮือฮา “เฮ้ย ใช่เหรอวะ” ก็จะมีความคิดนิดหนึ่งว่า “ใช่สิ” แล้วทำไมล่ะ (หัวเราะ) ตอนเข้ามหาวิทยาลัยแรกๆ ก็มีเรื่องการรับน้อง เรื่องต้องใส่กระโปรง ซึ่งเรายอมทำตามเพราะความกลัวล้วนๆ เรากลัวว่าจะทำผิดกฎที่เขาวางเอาไว้ พูดจริงๆ มันเป็นแรงกดดันที่ไม่ดีนะ พอกลัวเลยต้องทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง เรากลัวโดนด่า แต่พอเราเริ่มชินกับสังคมตรงนั้นเราก็โอเค เราไม่ได้มีความคิดยิ่งใหญ่ขนาดต้องต่อต้านระบบอะไรหรอก แค่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเราเท่านั้นเอง
บอกว่าคุณพ่อไม่เคยบังคับให้ต้องทำอะไร แต่พื้นฐานของคนเป็นพ่อน่าจะมีความคาดหวังหรือเป็นห่วงเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา
ช่วงเข้าปี 1 เกรซมีปัญหากับคุณพ่อมากเรื่องการกลับบ้านดึก ช่วงนั้นคิดว่าเกรซกับคุณพ่อมองไม่เหมือนกันเลย เขาเคยพูดว่า “เราเป็นผู้หญิงนะ ทำไมถึงกลับบ้านดึก” ตอนนั้นเกรซไม่เข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ เลยพูดกลับไปว่า “ถ้าเกรซเลือกได้ เกรซไม่อยากเป็นแบบนี้หรอก” แต่เพิ่งมาเข้าใจตอนหลังว่ามันมีสิ่งที่เขาพยายามบอกเราผ่านคำว่าผู้หญิง เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในสังคมที่รู้ว่าเราอยากเป็นผู้ชาย แต่เขาไม่มีทางทรีตเราแบบผู้ชายอยู่แล้ว เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นเพศหญิง แต่ในเชิงสรีระร่างกายหรือภาพที่สังคมมองเรามันไม่มีทางเปลี่ยนได้ แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ พอเปลี่ยนจากความสงสัยเป็นความเข้าใจ ทุกอย่างก็คลี่คลาย
มีช่วงเวลาไหนหรือเปล่าที่รู้สึกว่าคุณพ่อไม่โอเคกับสิ่งที่เราเป็น
ไม่มีเลย เพราะคุณพ่อเห็นเกรซมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ตัดผมสั้น เขาไม่ได้ทรีตเราเป็นเพศอะไรเลย เขาทรีตแค่เราเป็นลูกของคุณพ่อกับคุณแม่เท่านั้นเอง ไม่ต้องมานั่งคุยกับอย่างจริงจังว่าสรุปเราเป็นอะไร มียุคหนึ่งที่เกรซเรียกว่าเป็นยุคมืด ซึ่งทุกคนต้องมีคือช่วงเล่น Hi5 ทำผมสีๆ ที่คนชอบมาถามว่ามึงตัดผมทรงอะไรวะ (หัวเราะ) แต่นอกจากเหนือจากนั้นไม่มีเลย
ถ้าคนภายนอกมองเข้ามา ส่วนใหญ่ต้องคิดว่าเสี่ยเจียงเป็นพวกอนุรักษนิยมแบบสุดขั้วแน่ๆ
ด้วยภาพพจน์ที่เขาเป็นคนจีนอายุเยอะ แต่ถ้ามองอีกมุม เขาทำหนังนะ เขาอยู่กับงานครีเอทีฟมาตลอด เขาต้องเปิดรับไอเดียใหม่ๆ มากมาย เขาทำงานแล้วเห็นคนที่ไม่จำเป็นต้องคิดว่าเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศไหน แต่ถ้าคนนั้นมีความสามารถ มีไอเดีย เขาพร้อมที่จะยอมรับอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาไม่มีทางเอาเรื่องแค่นี้มากดดันเราแน่ๆ
ส่วนมุมอนุรักษนิยมของคุณพ่อ ที่เห็นมาตลอดคือการใส่เสื้อตัวเดิมตลอด ตอนเด็กๆ เกรซจะบอกคุณแม่ตลอดว่าซื้อชุดใหม่ให้ป๊าดีไหม (หัวเราะ) หรือการทำอะไรที่เป็นรูทีนมากๆ กินอาหารก็กินร้านเดิมๆ เป็น 40 ปีแค่นั้นเอง
สรุปชัดๆ เสี่ยเจียงเป็นคุณพ่อที่ดุหรือเปล่า
(คิดนาน) เกรซว่าก่อนดุ เขาจะถามเราก่อนว่าเพราะอะไร ถ้าตอบตรงนั้นได้ตั้งแต่แรกเราจะไม่โดนดุ ตอนเด็กๆ เกรซตอบไม่ได้ เพราะคิดอย่างเดียวว่าเขากำลังดุมากกว่าถาม อย่างคำถามง่ายๆ ว่าทำไมต้องกลับบ้านดึก ถ้าเราอธิบายว่ามีงานอย่างนั้นอย่างนี้ก็จบ แต่เราดันตอบว่าก็งานเยอะ ทำไมล่ะ คือขึ้นเสียง ตอบแบบกวนๆ แบบนั้นล่ะที่เขาจะดุเรา
มีเรื่องไหนที่คิดว่ายังต้องพิสูจน์ตัวเองกับคุณพ่ออยู่อีกไหม
เรื่องแรกคือก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หลายๆ คนรอบตัวเขามองว่าเกรซดูเกเร เพราะตัดผม ทำสีผม ใส่กางเกงไปเรียน ชอบทำตัวเฮ้วๆ เขาพูดกันเสมอว่าเกรซคงเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เราคิดตลอดว่าต้องพิสูจน์เรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งตอนนี้ทำสำเร็จแล้ว
เรื่องต่อมาคือเข้าวัยทำงาน ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนทำงานมาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่เราต้องพิสูจน์ก็คือเรื่องนี้ อยากให้เขาเห็นว่าเราทำได้ เราหาเงินได้เอง อยากทำเรื่องนี้ให้ได้ก่อนที่เขาจะอายุมากกว่านี้ หรือก่อนที่เราต้องเข้ามาสานต่อสิ่งที่เขาสร้างเอาไว้ อันดับแรกคือเราต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้
เกรซถือว่าโชคดีมากเลยนะที่มีคุณพ่อคอยเข้าใจ เคยคิดบ้างหรือเปล่าว่าถ้าคุณพ่อเกิดไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเป็นขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น
คำถามนี้เคยเกิดจากจิตแพทย์ตอนเกรซทำเรื่องเพื่อใส่ชุดผู้ชายในวันรับปริญญา เขาถามคล้ายๆ กันว่าถ้าเราไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนี้ ถ้าเราเป็นเกรซในแบบทุกวันนี้ไม่ได้จะเป็นยังไง เกรซตอบคำถามนั้นไม่ได้เลยนะ ว่างเปล่ามาก หมอถามอะไรเหรอ (หัวเราะ) คำถามนี้ก็เหมือนกัน เกรซรักคุณพ่อมาก รักครอบครัวมาก ถ้าเขาไม่เข้าใจ เราทุกข์ใจมากแน่นอน คงเครียดมาก คงไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร ทุกอย่างจะกดดันเข้ามาที่ตัวเอง คงซัฟเฟอร์แทนครอบครัว แทนทุกอย่างไปหมดเลย
เคยคิดหรือเปล่าว่าแค่การที่เราอยากใส่ชุดผู้ชาย แต่ทำไมกลับถูกมองว่าเป็นปัญหาถึงขนาดต้องไปพบจิตแพทย์
เป็นความเข้าใจทั่วโลกที่ต้องยอมรับว่า Transgender เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ เพราะการรักษาจริงๆ คือการแปลงเพศ มันต้องถูกกำหนดก่อนว่าเราป่วย ตรงนั้นเกรซเข้าใจได้ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่ต้องไปหาจิตแพทย์ เกรซไม่รู้ว่ามันมีวิธีที่ดีกว่านั้นไหมที่จะยืนยันว่าเรารู้สึกยังไง ถ้าเป็นการสัมภาษณ์กับอาจารย์หรือคนทั่วไป ผลอาจจะออกมาเป็นอีกแบบ แต่การไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่เขารู้จักศาสตร์ในการพูดคุยและเข้าใจคนในระดับหนึ่ง เกรซโอเคมากกว่า แต่สังคมเรามองว่าการไปจิตแพทย์คือคนบ้า คนผิดปกติมาก จริงๆ มันชิลล์กว่านั้นเยอะ เหมือนเป็นหวัดเราก็ไปหาหมอ มีเรื่องเครียดเราก็ไปคุยกับจิตแพทย์แค่นั้นเอง
เตรียมใจนานไหมกว่าจะเดินเข้าไปหาจิตแพทย์ได้
เรียกว่าไม่ต้องเตรียมใจเลยดีกว่า อย่างที่บอกว่าถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นหวัด เราต้องทำใจด้วยเหรอ ถ้าเราผ่านเรื่องการไปหาจิตแพทย์แล้วเป็นเหมือนโรคจิตไปได้ ทุกอย่างไม่ต้องเตรียมอะไรเลย เกรซรู้สึกว่าการเป็นแบบนี้คืออาการป่วยหรืออาการผิดปกติอย่างหนึ่ง การได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมันดีกว่าต้องจมอยู่กับความรู้สึกนั้นคนเดียวแล้วยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ เยอะเลย
รู้จักคำว่า Transgender ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร
ประมาณ ป.3-4 ดูสารคดีในทีวีแล้วรู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงจากผู้ชายเป็นผู้หญิง และผู้หญิงเป็นผู้ชาย ตอนนั้นยังไม่ชัดหรอกว่าเราอยากเป็นแบบนั้นทันที แต่ทำให้รู้ว่า อ๋อ มันมีอย่างนี้ด้วย แล้วก็เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ โชคดีมากที่ได้ดูสารคดีตอนนั้น เพราะถ้าอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วเพิ่งมาเห็นวันนี้ เกรซอาจจะซัฟเฟอร์มากกว่านี้ เพราะถ้าฉะนั้นถ้าเราให้ความรู้คนในเรื่องเพศมากกว่านี้ว่ามันเป็นไปได้ มันมีออปชันในการใช้ชีวิตอีกเยอะก็จะช่วยคนได้เยอะมากเลย
เชื่อว่าตอนนั้นเกรซก็ยังไม่เรียกว่าตัวเองว่าเป็น Transgender แล้วเรียกตัวเองว่าอะไร
เวลามีคนมาสัมภาษณ์ก็จะบอกว่าเป็นผู้หญิงค่ะ เราไม่กล้าพูดด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นทอม เพราะคำว่าทอมดูไม่เท่าเทียม เหมือนเป็น ‘คำ’ เอาที่เอาไว้ใช้ล้อกันมากกว่าที่จะใช้เรียกคนคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ได้แต่ตอบไปตามนั้น ยังโชคดีที่ในโรงเรียนของเกรซไม่ค่อยมีคนเอาเรื่องนี้มาล้อกันเท่าไร มันรู้สึกเศร้าเหมือนกันนะที่ไม่มีอะไรสามารถระบุตัวตนของเราในตอนนั้นได้เลย
รู้สึกอย่างไรบ้างเวลาได้ยินคนนิยามเพศต่างๆ ว่าตุ๊ด กะเทย ทอม เพศที่สาม เพศทางเลือก คนข้ามเพศ ฯลฯ
มันฟังดูประหลาดนะ เกรซว่าการแปลภาษาหรือการเลือกใช้คำว่าคนข้ามเพศนี่เหมือนเรากลายเป็น X-Men ได้แล้ว (หัวเราะ) มันฟังดูล้ำเหลือเกิน พอใช้คำพวกนี้เลยทำให้เราดูไม่เข้ากับคนอื่นเท่าไร เกรซคิดว่าเวลามองคนคนหนึ่งด้วยการเริ่มต้นว่าผู้ชายหรือผู้หญิงวะ คนนั้นเป็นอะไรวะ เกย์เหรอ ตุ๊ดเหรอ พอเริ่มจากเพศ มันเป็นสเตอริโอไทป์อย่างหนึ่งที่ทำให้เราเข้าถึงคนนั้นได้ยาก แต่ถ้าเรามองเรื่องเพศให้น้อยลงแล้วไปมองที่แพสชันของเขา มองว่าเขาชอบทำอะไร เขาทำอะไรได้บ้าง มันจะดีกว่าหรือเปล่า เช่น เวลามีคนออกข่าวเรื่องการเป็น Transgender ในรายการก็จะถามแค่ว่าตัดนมหรือยัง อวัยวะเพศเป็นยังไง ผ่าตัดเมื่อไร ทั้งที่จริงๆ เขาอาจจะมีมุมอื่นให้พูดถึง การประสบความสำเร็จด้านต่างๆ ทำไมเราต้องไปโฟกัสที่ร่างกายหรือเพศอย่างเดียว โลกไม่ได้แคบขนาดนั้นนะ มันต้องมีอะไรให้พูดถึงมากกว่านั้นสิ
มีโมเมนต์ที่ปลดล็อกความรู้สึกตัวเองว่าเราสามารถเป็นในสิ่งที่เราอยากเป็นจริงๆ ได้หรือเปล่า
มันค่อยๆ มีมาเรื่อยๆ ตามสถานการณ์นะ ตั้งแต่เด็กๆ ที่ใส่กางเกงไปโรงเรียนได้ เริ่มเล่นกีฬา เริ่มมีคนยอมรับในตัวเอง แต่มันมาพีกในช่วงก่อนรับปริญญาที่เกรซโพสต์อินสตาแกรมขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้ใส่ชุดผู้ชายเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้ เกรซเคยกลัวว่าคนจะด่าหรือจะเข้าใจเราขนาดไหน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลแค่กับตัวเราคนเดียว มันมีผลกับมหาวิทยาลัย กับอาจารย์ กับคนที่อนุญาต มีผลกับคนที่จะกล้าทำแบบเราต่อไป พอผลตอบรับออกมาโอเค มันทำให้เราโล่งมากเลยนะ ไปไหนก็กล้าพูด กล้าทำ กล้ายืนยันในสิ่งที่เราเป็นมากขึ้น
ต้องเตรียมใจหรือต้องคิดแคปชันนานไหม กว่าจะตัดสินใจโพสต์รูปนั้นลงไปได้
เกรซรู้อยู่แล้วว่ามันอาจจะเป็นข่าว ก็ทำทุกอย่างโดยรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ต้องระวังมีแค่การใช้คำพูด เราเรียนดีไซน์มาก็พยายามออกแบบคำพูดของตัวเองว่าควรพูดประมาณไหน จะกระทบกับใครบ้าง เรียกว่าคิดมากพอสมควร แต่ไม่ถึงกับเครียดหรือต้องเตรียมใจ เพราะเป็นสิ่งที่เรารู้ตัวอยู่แล้ว ที่เหลือแค่ให้เพื่อนอ่านเพื่อเช็กคำผิดให้ ซึ่งสุดท้ายก็ยังมีคำผิดอยู่ดี (หัวเราะ)
สถานะ ‘ลูกเสี่ยเจียง’ ทำให้ต้องรู้สึกแบกรับหรือรับผิดชอบมากขึ้นหรือเปล่า
สถานะลูกเสี่ยเจียง เกรซมองว่ามันเป็นแค่แท็กไลน์บอกว่าเราเป็นลูกของผู้ชายคนจีนที่อายุ 70 กว่า ซึ่งเขาอาจจะอยากให้เรามาช่วยทำธุรกิจในอนาคต เราคิดแค่นั้น ไม่คิดว่าพ่อเป็นใคร แล้วเราต้องทำหรือแบกรับอะไร นอกจากการเป็นลูกที่ดีเท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือเกรซมองว่ามันเป็นโอกาสด้วยซ้ำ เพราะคำว่าลูกเสี่ยเจียงเหมือนเป็นไมโครโฟนที่ทำให้เสียงเราดังขึ้น เราก็อยากใช้โอกาสนี้บอกไปเลยแล้วกันว่าเราเป็นใคร และบอกเพื่อนๆ ที่รอโอกาสนี้อยู่ว่าเขาควรจะทำอย่างไร
สถานะ ‘Transgender’ ทำให้เราต้องแบกรับอะไรมากขึ้นไหม เคยคุยกับหลายคนที่บอกว่าเขาต้องทำตัวเองให้ดี ให้เก่ง เพื่อไม่ให้สังคมภายนอกมองคนที่เป็นแบบเขาว่าไม่ดี คือข้ามการเป็นคนที่ดีไปสู่การเป็น ‘เพศ’ ที่ดีไปแล้ว
เกรซยังไม่คิดถึงขนาดนั้นนะ เกรซไม่คิดว่าคนเป็น Transgender ต้องปฏิบัติตัวดีกว่าคนอื่น ทุกคนต้องปฏิบัติตัวดีอยู่แล้ว เราทุกคนอยู่ภายใต้ซับคัลเจอร์บางอย่าง เราอาจเป็นตัวแทนของคนเล่นเกม คนวาดรูป คนทำงาน นักแสดง คนในวงการ หรืออะไรก็ตามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกรซคิดว่าเราแค่พยายามทำให้ตัวเองเป็นคนที่ทำอะไรแบบนั้นให้ดีที่สุดก็พอแล้ว
ถ้าเราคิดว่าเป็น Transgender แล้วต้องพยายามมากกว่าคนอื่น มันแปลว่าสังคมยังไม่เท่าเทียมนะ ถ้าเราทำผิดแล้วความผิดจะต้องทวีคูณเหรอ เกรซเข้าใจคนที่คิดแบบนั้น เพราะเขารู้สึกว่าสังคมเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ถ้าเราเปลี่ยนได้ก็ดี ต้นเหตุไม่ได้อยู่ที่คนเป็น Transgender หรือเป็น LGBT แต่สังคมควรแก้ปัญหาที่ ‘ความเข้าใจ’ จากคนที่มองเข้ามามากกว่าจะแก้กับคนที่เขาเป็นแบบนี้
- เกรซเคยมีผลงานการแสดง (ไม่นับการพากย์เสียง) ทั้งหมด 6 เรื่องคือ เอ๋อเหรอ, ข้าวเหนียวหมูปิ้ง, ไฉไล, สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา, ส้มตำ และ 5 หัวใจฮีโร่ เคยได้รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประจำปี 2548 จากภาพยนตร์เรื่อง เอ๋อเหรอ
- กีฬาที่เกรซชอบเล่นคือฟุตบอล ทัชรักบี้ และวอลเลย์บอล เคยเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของโรงเรียนอยู่ 4 ปีเต็ม ก่อนที่จะเลิกเล่นเพราะไปทุ่มเทให้กับการสอบเทียบตอน ม.4
- ในเวลาว่าง เกรซชอบเล่นเกมประเภท FPS (First Person Shooter) โดยเฉพาะ Counter-Strike และการดูการ์ตูนเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน
- เวลาอยากเบิกเงินเพื่อไปซื้อของบางอย่าง เกรซต้องเข้าไปที่ออฟฟิศสหมงคลฯ เพื่ออธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นกับคุณพ่อไม่ต่างจากพนักงานคนอื่นๆ ในบริษัท
- เกรซต้องขออนุญาตคุณพ่อก่อนจะไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ การไม่ขออนุญาตครั้งหนึ่งเคยทำให้เสี่ยเจียงต้องขับรถไปถึงทองหล่อ แล้วบอกให้พนักงานเรียกเกรซกลับบ้านมาแล้ว