หลังจากมีการปลูกกัญชาเกรดการแพทย์โดยกระทรวงสาธารณะสุขเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุด ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เผยว่า ‘กัญชาเกรดการแพทย์’ ออกดอกแล้ว เตรียมเก็บเกี่ยวภายใน 8-10 สัปดาห์ เพื่อเข้ากระบวนการสกัดเป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้นประมาณ 2,500 ขวด และนำไปใช้กับกลุ่มโรคต่างๆ ต่อไป
วันนี้ (16 พ.ค.) ที่ตึกอำนวยการ องค์การเภสัชกรรม นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และคณะกรรมการ รวมถึงทีมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวถึงความคืบหน้าโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ กัญชาเมดิคัลเกรด ระบุว่าขณะนี้กัญชาเกรดมาตรฐานการแพทย์ได้ออกดอกแล้ว จากการปลูกต้นกัญชา 140 ต้น ที่ปลูกด้วยมาตรฐานการปลูกแบบเมดิคัลเกรด (Medical Grade) หรือมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ที่นานาชาติให้การยอมรับในโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม
โดยระยะที่ 1 ที่องค์การเภสัชกรรม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เริ่มออกดอกแล้ว ใช้เวลาอีกประมาณ 10-12 สัปดาห์ ดอกจะเจริญเติบโตเต็มที่ มีลักษณะเป็นถุงใสคล้ายเรซิ่นทั่วทั้งด้านในและด้านนอกของดอก ซึ่งยังคงต้องติดตามดูการเจริญเติบโตโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นครั้งแรกที่ปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ ซึ่งมีความอ่อนไหวและมีรายละเอียดในการดูแลค่อนข้างมาก
ขณะที่นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เผยว่า ต้นกัญชาเกรดการแพทย์นี้จะต้องรอจนกว่าจะครบประมาณ 8-10 สัปดาห์ข้างหน้าจึงจะเก็บเกี่ยว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสกัดแห้งโดยเครื่องที่นำเข้ามาเพื่องานสกัดสารโดยเฉพาะ และพร้อมที่จะมีการสกัดช่อแห้งที่ผ่านการอบแห้งแล้ว ก่อนจะได้เป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้น ในขวดปริมาณขนาด 5 ซีซี ประมาณ 2,500 ขวด เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ทำงานร่วมกันกับกรมการแพทย์และทีมวิจัยทดสอบทางคลินิกอย่างใกล้ชิด ไม่จ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยโดยตรง
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่จะนำมาผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น คือดอกกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์ (ที่เพิ่งออกดอก) เมื่อได้ดอกกัญชาโตเต็มที่จะเก็บเกี่ยวนำมาทำให้แห้งและสกัดด้วยเอทานอลโดยใช้เทคนิคเฉพาะ ระเหยเอทานอลหมดจนเหลือเป็นน้ำมัน นำมาเจือจางผลิตเป็นน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นที่ทราบความเข้มข้นของสารสกัด THC และ CBD เพื่อให้แพทย์สามารถคำนวณโดสที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เนื่องจากร่างกายผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน โรคประจำตัว โรคที่จะรักษา ยาอื่นที่ใช้อยู่ล้วนมีผลต่อการคำนวณปริมาณโดสกัญชาให้แก่ผู้ป่วยทั้งสิ้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: