×

ยิ่งลักษณ์ ตามรอยพี่ชาย ถูกขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เทียบ 12 ปีกรณีทักษิณที่ไม่ง่าย

31.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ย้อนกลับไปสู่การรัฐประหาร ปี 2549 ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในการขอให้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะ ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’ แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
  • ล่าสุดมีข่าวว่าสถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร ได้ส่งจดหมายเพื่อร้องขอต่อทางการของอังกฤษให้ส่งตัว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย
  • นับเป็นการฉายภาพชะตากรรมของ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ที่เวลานี้ดูจะมาบรรจบในเส้นทางเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

หลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ 25 สิงหาคมปีที่แล้ว ประเทศไทยรับรู้แต่เพียงว่าเธออาศัยช่องทางธรรมชาติ และการช่วยเหลือจากตำรวจบางกลุ่มให้เดินทางออกนอกประเทศ และนับแต่นั้นความเคลื่อนไหวของเธอก็เงียบงัน

 

จนกระทั่งมีภาพปรากฏในโซเชียลมีเดีย ว่าอดีตนายกฯ ได้พำนักอยู่กับพี่ชายนายทักษิณ ชินวัตร ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเดินสายไปอีกหลายประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป

 

 

ข่าวลือที่ได้ยินสะพัดตลอดเวลาคือ การขอลี้ภัยทางการเมือง และในเวลาต่อมา บีบีซีไทย รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวคนใกล้ชิดของอดีตนายกฯ ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ใช้หนังสือเดินทางของประเทศหนึ่งในทวีปยุโรป พร้อมวีซ่าเข้าพำนักในอังกฤษเป็นระยะเวลา 10 ปี แม้ก่อนหน้ากระทรวงการต่างประเทศของไทย จะเพิกถอนหนังสือเดินทางของนางสาวยิ่งลักษณ์ทุกเล่มแล้วก็ตาม

 

ก่อนที่วันเกิดปีที่ 51 ของเธอ และวันเกิดปีที่ 69 ของพี่ชายในปีนี้ จะได้ช่วยฉายภาพชัดเจนจนสิ้นสงสัย ถึงแหล่งพำนักอาศัยในต่างแดน นั่นคือ ‘เมืองผู้ดี’ สหราชอาณาจักร ที่กลายเป็นสนามการเมืองต่างแดนของสองพี่น้องอดีตนายกฯ ที่ส่งอิทธิพลต่อการเมืองไทย

 

 

เช้าสิ้นเดือนกรกฎาคม ยิ่งลักษณ์ถูกขอตัวเป็น ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’

เช้าวันนี้ (31 กรกฎาคม) รายงานข่าวจากบีบีซีไทย ในวันประชุม ครม. ประจำสัปดาห์ของรัฐบาลประยุทธ์ มีเรื่องให้คอการเมืองต้องตื่นเต้น เมื่อรายงานข่าวชิ้นดังกล่าวระบุว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยในสหราชอาณาจักร ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ไปที่กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร (Foreign and Commonwealth Office) เพื่อร้องขอต่อทางการของอังกฤษให้ส่งตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย

 

ในหนังสือฉบับดังกล่าว อ้างถึง สนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรและสยามปี 1911 (พ.ศ. 2454) ที่ว่าด้วยการส่งตัวอาชญากรผู้หลบหนีคดีกลับประเทศ อ้างสิทธิร้องขอให้ส่งตัว นางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และเชื่อว่าพำนักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรกลับไปรับโทษในประเทศไทย

 

 

ในท่อนท้ายของหนังสือฉบับนี้ ที่บีบีซีไทยให้รายละเอียดว่า มีความยาว 1 หน้าครึ่ง ระบุขอความร่วมมือไปยังทางการอังกฤษด้วยว่า “สถานเอกอัครราชทูตไทยอยากขอความกรุณาจากท่านให้เก็บคำร้องนี้ไว้เป็นข่าวลับ และรีบดำเนินการต่อคำร้องนี้อย่างเร่งด่วน”

 

 

ความพยายามในการขอให้ส่งตัวอดีตนายกฯ กลับมาดำเนินดีที่ไทยในฐานะ ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’ นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า

 

“ที่ผ่านมาต้องดูว่าเราเคยได้รับการส่งตัวมาสักเท่าไร ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้รับ เพราะเป็นเรื่องของเขาเอง เขาก็มีการพิจารณาของเขา เราขอไปก็ได้ แต่เขาจะให้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เขาก็มีเหตุมีผลของเขาเอง ก็ค่อยๆ ทำกันต่อไป ไม่ได้ปล่อยปละละเลยใดๆ ทั้งสิ้น”

 

นั่นหมายความรัฐบาลไทยเอง ก็รู้อยู่ในทีถึงความเป็นไปได้ว่าจะได้ตัวกลับมาหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็มีการดำเนินการจนกระทั่งปรากฏหลักฐานที่รายงานข่าวจากบีบีซีไทย

 

 

12 ปี ขอส่งตัวทักษิณเป็นผู้ร้ายข้ามแดน 10 ประเทศ

ย้อนกลับไปสู่การรัฐประหาร นายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 ผ่านมาแล้วเกือบ 12 ปี หรือ 1 รอบปฏิทิน ทางการไทยก็ได้พยายามร้องขอไปยังประเทศต่างๆ ที่ปรากฏว่า นายทักษิณได้ไปพำนักอาศัยอยู่ เพื่อให้ส่งตัวกลับมาดำเนินคดีที่ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนเช่นเดียวกัน

 

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2561 นายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ เปิดเผยรายละเอียดว่า กรณีการติดตามตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาฯ จำคุกถึงที่สุด 2 ปี คดีซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก อัยการเคยยื่นคำขอไปแล้วรวม 10 ประเทศทั้งแถบยุโรปและเอเชีย มีทั้งปฏิเสธมาว่านายทักษิณไม่ได้อยู่ขณะร้องขอหรือเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว โดยนายทักษิณมีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวย่อมสร้างความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออกประเทศใดได้รวดเร็ว

 

หมายความว่าตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถดำเนินการต่อนายทักษิณ ในกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้แต่อย่างใด แต่ขณะเดียวกันกรณีนี้ยิ่งฉายภาพชะตากรรมของ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ว่าเวลานี้ดูจะมาบรรจบในเส้นทางเดียวกันแล้วอีกครั้งหนึ่ง

 

จนถึงเวลานี้ทีมข่าวได้สอบถามไปยังผู้ใกล้ชิดว่า นางสาวยิ่งลักษ์รับทราบข่าวนี้แล้วหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน บางคนตอบเพียงสั้นๆ ว่าน่าจะรับทราบแล้ว บางคนแสดงความคิดเห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด

 

 

กางดูที่มาที่ไปสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ ค.ศ. 1911

สำหรับสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ซึ่งได้ลงนามไว้ต่อกันเมื่อวันที่ 4 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 129 ( ค.ศ. 1911 หรือ พ.ศ. 2445) ที่กรุงเทพฯ โดยสัญญาฉบับนี้ได้มีพระราชานุญาตทั้งสองฝ่าย และได้แลกเปลี่ยนหนังสือพระราชานุญาตฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษต่อกันที่กรุงลอนดอน ณ วันที่ 1 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 130

 

สัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษฉบับดังกล่าว ผู้ที่ลงนามในสัญญาฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามขณะนั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศฝ่ายสยาม และฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงเกรตบริเตนและไอร์แลนด์อันรวมกัน และอาณาจักรอังกฤษที่โพ้นทะเลทั้งหลาย และบรมราชาธิราชแห่งอินเดียขณะนั้นคือ อาเธอปิลเอสไควร์ อรรคราชทูตพิเศษ และผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษประจำอยู่ ณ พระราชสำนักที่กรุงเทพฯ

 

ในสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าวระบุความผิดอันมีโทษที่รัฐบาลไทยและอังกฤษจะส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนแก่กันได้รวม 31 โทษฐานความผิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีโทษเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย, ปลอมแปลงเงินตรา, ยักยอกทรัพย์, ลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น

 

ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องศึกษาว่าอังกฤษมีกฎหมายทำนองเดียวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามที่ทางการไทยฟ้องร้องดำเนินคดีกับนางสาวยิ่งลักษณ์ หรือไม่

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในสัญญาดังกล่าวได้มีข้อยกเว้นไว้ว่า “ถ้าโทษอย่างอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้ามีความอยู่ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ทั้งสองฝ่ายว่าจะส่งผู้ร้ายให้กันได้นั้น ก็สุดแล้วแต่ประเทศซึ่งรับคำขอให้ส่งนั้นจะเห็นสมควรว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ต่อกันหรือไม่”

 

 

ขณะที่ในคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทางการไทยกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุรายละเอียดว่า “รัฐบาลไทยจึงร้องขอมาด้วยความเคารพให้รัฐบาลอังกฤษได้พิจารณาความผิดข้ออื่นๆ ที่ระบุไว้ ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 2 ที่ระบุว่า “การส่งตัวกลับ อาจกระทำได้ภายใต้ความเห็นชอบของประเทศนั้น หากการกระทำความผิดทางอาญานั้น เป็นความผิดภายใต้กฎหมายของทั้งสองประเทศคู่สัญญา”

 

ขณะเดียวกัน ปรากฏมีข้อยกเว้นเด็ดขาดตามสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับอังกฤษอีกว่า ถ้าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ‘การเมือง’ ก็ไม่ต้องส่งผู้ร้ายคนนั้นให้แก่กัน

 

ตามข้อมูลล่าสุดพบว่า ปัจจุบันไทยมีสัญญา อนุสัญญา และสนธิสัญญาเพื่อการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับต่างประเทศทั้งหมด 14 ประเทศ คือ 1. สหราชอาณาจักร 2. สหรัฐอเมริกา 3. แคนาดา 4. ออสเตรเลีย 5. เบลเยียม 6. จีน 7. อินโดนีเซีย 8. ฟิลิปปินส์ 9. ลาว 10. กัมพูชา 11. มาเลเซีย 12. เกาหลีใต้ 13. บังกลาเทศ 14. ฟิจิ

 

 

ล่าสุด นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมารายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทราบก็ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ใช่เรื่องระดับนโยบาย โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงความมั่นใจว่าทางการอังกฤษจะส่งตัวนางสาวยิ่งลักษณ์มาให้หรือไม่

 

ซึ่งนับแต่นี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลประเทศอังกฤษ จะพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวอย่างไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising