ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 Google ปล่อยแอปพลิเคชัน Google Arts and Culture มาให้ดาวน์โหลดฟรีๆ ทั้งระบบ iOS และ Android แต่กระแสของแอปพลิเคชันดังกล่าวกลับเพิ่งเป็นที่สนใจขึ้นมาไม่นานนี้ เมื่อ Google ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ Is your portrait in a museum? ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเซลฟีแล้วอัปโหลดรูปภาพตัวเอง จากนั้นแอปพลิเคชันก็จะจับภาพใบหน้าของเราไปคู่กับใบหน้าคนในงานศิลปะที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์กว่าพันๆ แห่งรอบโลก
แม้ก่อนหน้านี้ฟีเจอร์ดังกล่าวจะเล่นได้แค่ผู้ใช้งานบางประเทศ แต่ล่าสุด Google Arts & Culture ก็เปิดโอกาสให้ชาวไทยอย่างเราเข้าไปเล่นได้แล้ว โดยการอัปโหลดภาพจะต้องใช้การถ่ายรูปจากกล้องของโทรศัพท์มือถือเท่านั้น และผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็จะเป็นภาพเปรียบเทียบหน้าตาของผู้ใช้งานและรูปใบหน้าคนจากผลงานศิลปะเปรียบเทียบกันสองฝั่ง พร้อมเปอร์เซ็นต์ความเหมือนของทั้งสองใบหน้าให้ผู้ใช้งานกดเซฟและโชว์ลงอินสตาแกรมได้ทันที
นั่นทำให้กระแสภาพคู่เหมือนตัวเองในงานศิลปะกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมออนไลน์ตอนนี้ แต่ถ้าอยากให้แอปพลิเคชันสนุกๆ นี้เกิดประโยชน์ขึ้นอีกนิด ผู้ใช้งานก็สามารถกดเข้าไปที่หน้าคนจากผลงานศิลปะ แอปพลิเคชันจะแสดงชื่อผลงาน ชื่อศิลปิน และคอลเล็กชันที่งานศิลปะนั้นๆ ถูกรวบรวมอยู่ หรือสามารถเข้าไปในส่วน View Artwork ที่ผู้ใช้งานจะเข้าดูรายละเอียดเต็มๆ ของผลงาน วันที่สร้าง ประเภทของงานศิลปะนั้นๆ และอื่นๆ ที่ทำให้การเรียนรู้งานศิลปะเป็นเรื่องสนุกกว่าเดิม
Google Arts & Culture ส่วนอื่นๆ ก็น่าเล่นอยู่เหมือนกัน หากเข้าไปในหน้าหลักของแอปพลิเคชันก็จะมีการรวบรวมบทความ ข่าวเกี่ยวกับศิลปะและคัลเจอร์ให้ตามอ่านกัน ซึ่งถ้าอยากลองหาวิธีการหางานศิลปะใหม่ๆ ในแอปพลิเคชันยังมีส่วนให้ผู้ใช้งานเลือกศิลปะตาม ‘สี’ ของงาน หากเลือกสีเหลือง ในแอปพลิเคชันก็จะแสดงงานศิลปะจากศิลปินรอบโลกทุกยุคสมัยที่มีโทนสีหลักในงานเป็นสีเหลือง พร้อมบอกชื่อผลงาน ชื่อศิลปิน ปีที่สร้าง และประเภทงานศิลปะเพื่อหากดค้นหางานอื่นๆ ในหมวดเดียวกันได้ด้วย
ส่วนคนที่สนใจและอยากชมงานศิลปะแบบจริงๆ ไม่ต้องผ่านหน้าจอมือถือ ก็สามารถเข้าไปในหน้า Nearby (ต้องเปิดใช้งาน Location Services ก่อน) ในแอปพลิเคชันก็จะค้นหาพิพิธภัณฑ์ศิลปะและแกลเลอรีในพื้นที่ใกล้เคียงของเราด้วย ซึ่งเมื่อลองใช้งานฟีเจอร์นี้ในกรุงเทพฯ ในแอปพลิเคชันก็จะโชว์สถานที่อย่าง TCDC, Queen Sirikit Museum of Textiles และ Museum of Contemporary Art ด้วย และหากสนใจอยากไปที่ไหนก็กดเข้าไปเพื่อเชื่อมเข้าสู่แอปพลิเคชัน Google Maps นำทางไปยังสถานที่นั้นๆ ได้เลย ไม่ต้องกลัวหลง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์