×

สร้างแบรนด์ด้วยมาสคอต กรณีศึกษาบาร์บีคิวพลาซ่า ‘บาร์บีกอนโฉมใหม่จากญี่ปุ่น’

11.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การแปลงโฉมบาร์บีกอนในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะแบรนด์อยากมอบของขวัญวันเกิดให้กับมาสคอตมังกรตัวเขียว เพื่อจุดประสงค์ในการแก้ปัญหา Pain Point ให้กับพนักงานผู้สวมชุดมาสคอตประจำแบรนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องแบกน้ำหนักมากถึง 12 กิโลกรัม มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว และทนกับความร้อนอบอ้าวมานับครั้งไม่ถ้วน
  • ความเชื่อในการให้ความสำคัญกับมาสคอตประจำแบรนด์เพื่อจุดประสงค์ของ ‘แบรนด์เลิฟ’ และการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากการใช้มาสคอตในการสื่อสารจะให้ความรู้สึกเหมือน ‘คน’ พูดกับ ‘คน’ ได้ดีกว่าการใช้โลโก้ของแบรนด์

      ถึงตอนนี้หลายคนคงได้เห็นโปรเจกต์ใหม่ล่าสุดของแบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า ผ่านหนังโฆษณาตอนสั้น ‘GON MISSION ภารกิจบาร์บีกอน’ กันไปแล้ว โดยใจความสำคัญของแคมเปญนี้คือ การที่มาสคอตมังกรตัวเขียวอย่าง ‘บาร์บีกอน’ ชักชวนผู้คนให้เข้ามาแนะนำกิจกรรมทำดีเพื่อสังคมในโอกาสฉลองครบรอบวันเกิด 30 ปีของแบรนด์

      แต่ถ้าสังเกตให้ดี ความพิเศษของแคมเปญนี้ไม่ได้อยู่แค่การ CSR ขององค์กรเท่านั้น เพราะพวกเขาได้ทำการปรับปรุงชุดมาสคอตบาร์บีกอนใหม่ทั้งหมด โดยเป็นผลงานการรังสรรค์ของผู้ผลิตมาสคอตชื่อดังจากญี่ปุ่น ‘คิกุรุมิ บิซ (Kigurumi Biz)’ เจ้าของผลงานผู้สร้างชุดมาสคอตคุมะมง ซึ่งต้นทุนการแปลงโฉมครั้งนี้สนนราคาไม่ต่ำกว่า 6 หลัก! (อ่านเรื่องราวของคิกุรุมิ บิซ คลิกที่นี่) 

      เพื่อไขข้อสงสัยว่าเหตุใดบาร์บีคิวพลาซ่าต้องทุ่มทุนกับชุดมาสคอตมากขนาดนี้ THE STANDARD ได้พูดคุยกับ บุ๋ม-บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ในฐานะโต้โผเจ้าของโปรเจกต์ไอเดียสุดบรรเจิด เพื่อให้เธอบอกเล่าถึงที่มาที่ไปความตั้งใจในการทำการตลาดด้วยแบรนด์มาสคอตให้เปรี้ยงไปพร้อมๆ กัน

 

 

เป่าเค้กวันเกิด 30 ปี ย้อนความหลังกับมาสคอตที่อยู่คู่แบรนด์มากว่า 2 ทศวรรษ

      ถ้าจะนิยามว่า ‘บาร์บีกอน’ คือหนึ่งในแบรนด์คาแรกเตอร์ที่ทรงพลังตัวหนึ่งของไทยก็คงไม่ผิดนัก เพราะมักจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เครื่องมือประชาสัมพันธ์ทำการตลาดภายใต้แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่ามาตลอด โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังๆ จนมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยติดภาพจำของเจ้ามังกรตัวนี้แทนแบรนด์ และเผลอเรียกชื่อร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่าผิดเป็น ‘ร้านบาร์บีกอน’ อยู่บ่อยๆ

      สำหรับ บาร์บีกอน ถือเป็นแบรนด์มาสคอตที่เกิดมาแล้ว 21 ปี (พ.ศ. 2539) จากความตั้งใจของ ชูพงศ์ ชูพจน์เจริญ ผู้ก่อตั้งบาร์บีคิวพลาซ่า ที่อยากสร้างสัญลักษณ์ให้คนจดจำแบรนด์ได้ จึงเลือกใช้คาแรกเตอร์ของมังกรเพราะเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ตามตำนานความเชื่อชาวจีน

      ในช่วงแรกบาร์บีกอนยังมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับมังกรโบราณอยู่ และมักจะปรากฏตัวในลักษณะรูปปั้นไวนิลตามหน้าร้านบาร์บีคิวพลาซ่าสาขาต่างๆ และถูกใช้เสริมภาพลักษณ์ผ่านแคมเปญต่างๆ ขององค์กรบ้างประปราย ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2554 บาร์บีคิวพลาซ่าจะทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ให้ทันสมัยขึ้น เช่นเดียวกับบาร์บีกอนที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้น่ารักและเป็นมิตรกว่าเดิม โดยเป็นผลงานของดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น

      ขณะที่ในปีนี้ซึ่งเป็นช่วงครบรอบ 30 ปีบาร์บีคิวพลาซ่า และ 21 ปีบาร์บีกอน พวกเขาจึงถือโอกาสปรับปรุงชุดมาสคอตบาร์บีกอนครั้งใหม่ โดยลงทุนบินไปผลิตไกลถึงประเทศญี่ปุ่น

 

 

      บุณย์ญานุชบอกกับเราว่า บาร์บีกอนก็นับเป็นหนึ่งในพาร์ตของการฉลองวันเกิดด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นมาสคอตที่อยู่คู่สร้างภาพลักษณ์กับแบรนด์มาเนิ่นนาน ทั้งยังพูดติดตลกอีกด้วยว่า ที่บาร์บีคิวพลาซ่าได้รับความนิยมในปัจจุบันเช่นนี้ ส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้บาร์บีกอน

      “เราทำงานกับแบรนด์มาก็เห็นเขาเหมือนคนๆ หนึ่ง ยังพูดกับพนักงานอยู่ตลอดนะว่า ทุกวันนี้พวกเราและบาร์บีคิวพลาซ่ามีกินมีใช้ได้ก็ต้องกราบกอนนะเว้ย กราบเช้าเย็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำร้านเลย (หัวเราะ) เราเลยอยากให้ของขวัญวันเกิดบาร์บีกอนด้วยการให้เขาได้โมดิฟายตัวเองใหม่ พาไปเมกโอเวอร์ที่ญี่ปุ่น แล้วที่สำคัญก็เป็นการมอบของขวัญให้กับลูกค้าด้วย (แคมเปญ CSR ที่จะเกิดขึ้นซึ่งมีบาร์บีกอนเป็นพระเอก)”

 

 

ใต้กล่องของขวัญ ‘กอนจัง’ คือความใส่ใจในการแก้ Pain Point เพื่อบุคลากร

      แม้บุณย์ญานุชจะบอกว่าการแปลงโฉมบาร์บีกอนในครั้งนี้เป็นไปเพราะเธอและแบรนด์อยากมอบของขวัญวันเกิดให้กับเจ้ามังกรตัวเขียว แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงซึ่งน้อยคนนักจะรู้คือ ความต้องการแก้ปัญหา Pain Point ให้กับพนักงานผู้สวมชุดมาสคอตประจำแบรนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องแบกน้ำหนักมากถึง 12 กิโลกรัม มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว และทนกับความร้อนอบอ้าวมานับครั้งไม่ถ้วน

      เธอเล่าว่าตัวเองมักจะชอบลงไปพูดคุยกับคนที่ทำงานในพื้นที่นั้นจริงๆ เพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบและหาสาเหตุของปัญหาในการทำงานที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกครั้งก็จะได้ผลลัพธ์กลายเป็นแคมเปญใหม่ๆ ออกมาเสมอ เช่นเดียวกับในครั้งนี้ที่พลิกปัญหาของบุคลากรผู้สวมใส่มาสคอตให้เป็นโอกาสในการทำการตลาดได้อย่างแยบคาย

      “ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เราจะเจอน้องคนหนึ่งที่ใส่มาสคอตออกงานอีเวนต์ต่างๆ บ่อยมาก ซึ่งทุกครั้งเวลาที่เขาถอดหัวมาสคอตออกมาก็จะทำให้เราตกใจได้ทุกที เพราะสภาพเขาเหมือนคนไปรบในสงครามมาเลย! น้องบอกเราว่าเป็นเพราะชุดที่ใส่มันหนักและร้อน พอเราลองไปใส่ได้ไม่นานก็รู้สึกว่ามันทรมานจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับคนที่ต้องสวมมันนานๆ จะไปมีความสุขได้อย่างไร? ก็เลยมานั่งคิดว่าต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เขามีความสุขกับงานที่ทำมากที่สุด

      “ตอนนั้นก็เลยปรึกษากับลูกน้องในทีมว่า ชุดมาสคอตบาร์บีกอนมันโทรมมากๆ น่าจะมีการปรับปรุงใหม่ได้แล้ว เลยมาหาข้อมูลว่าพอจะมีโรงงานผลิตมาสคอตเจ้าไหนในไทยที่แก้ปัญหานี้ได้บ้าง ในเวลาเดียวกันเรากลับสงสัยว่า ทำไมการผลิตมาสคอตของโรงงานในญี่ปุ่นกลับไม่เคยพบปัญหาพวกนี้เลย ทำไมถึงทำมาสคอต ‘คุมะมง’ ออกมามีฟังก์ชันการใช้งานที่ยืดหยุ่น สามารถขี่จักรยาน หยิบจับสิ่งของได้อย่างอิสระ ต่างจากมาสคอตของเราที่ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น หลังจากนั้นเราก็ไปพบบริษัทคิกุรุมิ บิซ ซึ่งมีเซนส์ความเชื่อบางอย่างในการทำธุรกิจที่เหมือนๆ กับเรา ยิ่งพอได้คุยรายละเอียดเบื้องต้น ก็ยิ่งทำให้ตัดสินใจได้ทันทีว่าจะผลิตมาสคอตกับเขา โดยเราทำงานร่วมกันผ่านการส่งภาพ, คลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหว และตุ๊กตาบาร์บีกอนไปให้

 

 

      ฝั่ง ฮิโรมิ คาโนะ ผู้ร่วมก่อตั้งและเจ้าของบริษัทคิกุรุมิ บิซ บอกว่า “พอได้เห็นภาพและคลิปกอนจัง (บาร์บีกอน) ที่เต้นในเว็บไซต์เป็นครั้งแรก ก็รู้สึกว่าเขาน่ารัก แต่ก็แอบรู้สึกอยู่เช่นกันว่าเขาดูเหนื่อยและไม่ค่อยสดชื่นเลย ซึ่งความยากในการทำงานคงเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าคาแรกเตอร์ที่ประเทศไทยของเขาเป็นอย่างไร บวกกับเรื่องความต่างทางวัฒนธรรม เพราะบางทีคำว่า ‘น่ารัก’ ของคนญี่ปุ่นกับคนไทยก็ไม่เหมือนกัน นี่เป็นเรื่องที่ยากว่าเราจะต้องทำอย่างไรให้ลูกค้า (คนไทย) รู้สึกว่ามาสคอตที่ผลิตออกมาน่ารัก”

      ด้วยทักษะของความเป็นผู้ชำนาญในการผลิตมาสคอตให้ตอบโจทย์ฟังก์ชันการนำไปใช้งาน ในที่สุดหลังผ่านไป 6 เดือน บาร์บีกอนโฉมใหม่ที่ถูกปรับให้น่ารักและเป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยในครั้งนี้มีน้ำหนักทั้งชุดลดลงเหลือเพียงแค่ 6 กิโลกรัม ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือ กลับมาคราวนี้ยังติดตั้งพัดลมระบายอากาศไว้ในตัวด้วย! เรียกว่าเอาใจคนใส่กันแบบสุดๆ เพื่อให้พร้อมส่งต่อรอยยิ้มไปยังเด็กๆ และผู้พบเห็น

 

The Secret Tale ‘เรื่องเล่ามังกรเฝ้าร้าน’ ฉลองครบรอบ 30 ปี บาร์บีคิวพลาซ่า

 

“เราอยากเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับคาแรกเตอร์” แรงบันดาลใจการทำการตลาดแบบคาแรกเตอร์มาสคอต

      หลังจากที่มีการรีแบรนด์องค์กรครั้งใหญ่และปรับรูปโฉมบาร์บีกอนเมื่อปี พ.ศ. 2554 บาร์บีคิวพลาซ่าก็กลายเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจกับการทำการตลาดแบบคาแรกเตอร์มาสคอตมาตลอด โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ พวกเขามีคลิปโฆษณาไวรัลและแคมเปญโดดเด่นที่ใช้เจ้ามังกรบาร์บีกอนเป็นพระเอกของงานได้อย่างชาญฉลาดและเรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้เสมอ

      ตัวอย่างเช่น โฆษณาบาร์บีกอนร้องไห้หลังถูกเรียกไปตำหนิแบบยกแผงเพราะทำงานบกพร่อง, ‘แถลงการณ์จากเสี่ยเส็ง’ กับการลักพาตัวบาร์บีกอนที่ตั้งตามหน้าร้านทั่วประเทศไปทรมานด้วยสารพัดกรรมวิธี จนสร้างความเดือดดาลให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ก่อนมาหักมุมเฉลยภายหลังว่าเป็นการเรียกเก็บมาสคอตตัวเก่าแล้วนำบาร์บีกอนโฉมใหม่มาแทนที่, การใช้บาร์บีกอน CSR องค์กรด้านต่างๆ, แคมเปญ ‘ล่าไข่บาร์บีกอน’ กับของสมนาคุณที่ใครๆ ก็อยากได้ไว้ครอบครอง หรือหนังโฆษณา The Secret Tale ‘เรื่องเล่ามังกรเฝ้าร้าน’ ที่เป็นการปูภูมิหลังเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของบาร์บีกอน เป็นต้น

 

คลิปไวรัลเสี่ยเส็งที่โด่งดังบนโลกออนไลน์แบบสุดๆ

 

      สาเหตุที่บาร์บีคิวพลาซ่าจริงจังกับการทำการตลาดแบบคาแรกเตอร์มาสคอตเช่นนี้ บุณย์ญานุชบอกว่า เป็นเพราะแบรนด์ใส่ใจและมีแพสชันกับมาสคอตจริงๆ เพื่อให้คาแรกเตอร์ดังกล่าวยืนระยะเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้

      “เรารู้สึกว่าทุกวันนี้แบรนด์ดิ้งของบาร์บีคิวพลาซ่ามันก็เกิดมาจากการที่มีบาร์บีกอน เราอยากทำให้เห็นว่าบาร์บีคิวพลาซ่าใส่ใจกับคาแรกเตอร์มาสคอตบาร์บีกอนจริงๆ ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าคนทำคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนออกมาเยอะมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ที่ไลน์เกิดมา ซึ่งจริงๆ แล้วใครจะทำคาแรกเตอร์พวกนั้นขึ้นมาก็ทำได้หมดแหละ แต่คำถามคือคุณจะทำอย่างไรให้มันยั่งยืน จะทุ่มเทกับสิ่งที่ทำและต่อยอดมันได้มากแค่ไหน

      “เราอยากเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับคาแรกเตอร์แบรนด์ แม้กระทั่งชุดมาสคอตที่คนต้องใส่ เพราะเขาเป็นตัวกลางที่คอนเน็กต์กับผู้คน ดังนั้น สิ่งที่เป็นความเชื่อให้เราต้องทำชุดมาสคอตใหม่ครั้งนี้มีอยู่ 3 ข้อ ข้อแรกคือ เราคำนึงถึงตัวผู้ใส่มาสคอตว่าจะต้องถ่ายทอดจิตวิญญาณของบาร์บีกอนออกมาได้มากที่สุด ข้อที่สองคือ คนที่มองเห็นมาสคอตจะต้องรู้สึกดีที่ได้สัมผัสเขา ส่วนข้อสุดท้ายคือ ความสุขของตัวคนใส่มาสคอตและผู้ที่พบเห็นมันจะส่งผลกลับมาที่แบรนด์ และต่อจากนี้ก็จะมีการพัฒนาไบเบิลของบาร์บีกอนขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใส่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นบาร์บีกอนได้จริงๆ เราอยากให้บาร์บีคิวพลาซ่าเป็นหนึ่งในกูรูการทำการตลาดด้วยคาแรกเตอร์มาสคอต เพราะในประเทศไทยยังไม่มีใครทำอย่างจริงจัง” บุณย์ญานุชกล่าว

 

 

เพราะลูกค้าไม่ได้อยากเป็นเพื่อนกับโลโก้ของแบรนด์ แต่อยากเป็นเพื่อนกับ ‘คน’

      ส่วนหนึ่งของการรุกหนักใช้บาร์บีกอนตามแคมเปญโฆษณาต่างๆ เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพราะความเชื่อและความต้องการพาคาแรกเตอร์เข้าไปยืนระยะอยู่ในใจผู้บริโภคแค่ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น หากแต่บุณย์ญานุชมองว่าสิ่งที่จะช่วยให้ลูกค้าเกิดความรักต่อแบรนด์หรือ ‘แบรนด์เลิฟ’ ได้ดีที่สุดก็คือการใช้มาสคอตแทนโลโก้นั่นเอง

      “เป้าหมายสูงสุดของแบรนด์คือเราเชื่อเรื่องแบรนด์เลิฟ เราอยากเป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนและอยากเข้าไปนั่งในใจเขา แต่ปัญหาคือลูกค้าไม่ได้อยากเป็นเพื่อนกับโลโก้แบรนด์ เขาอยากเป็นเพื่อนกับ ‘คน’ เพราะฉะนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรจะทำคือการทำให้แบรนด์ของตัวเองดูมีชีวิตขึ้นมา ซึ่งการทำการตลาดด้วยคาแรกเตอร์ก็คือการทำให้แบรนด์มีความใกล้เคียงกับคนมากที่สุด แล้วอานิสงส์ที่ดีมากๆ ซึ่งเกิดจากการใช้ประโยชน์ของบาร์บีกอนคือ เราสื่อสารอะไรออกไปมันก็กลายเป็นว่าเราสื่อสารผ่านคาแรกเตอร์ที่เหมือนคน ไม่ใช่แบรนด์หรือองค์กร มันเลยทำให้กำแพงของการสื่อสารทลายลงไป

      “ที่ผ่านมาบาร์บีคิวพลาซ่าลงทุนกับบาร์บีกอนผ่านแคมเปญต่างๆ ไปน่าจะเป็นหลักหลายร้อยล้านได้แล้ว แต่ที่เราทำก็เพราะอยากพาบาร์บีกอนเข้าไปอยู่ในใจคนด้วยการทำให้เขามีความเป็นคนมากขึ้น ส่วนโปรเจกต์นี้เราเสียเงินไปประมาณ 3 แสนบาท แต่ก็ได้ทำตามความเชื่อที่มี ได้ส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนใส่มาสคอตที่จะเป็นตัวแทนของแบรนด์ไปพบปะกับผู้คน ซึ่งเราว่ามันคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนมากนะ”

 

GON MISSION ภารกิจบาร์บีกอน

 

แบรนด์ควรเรียนรู้อะไรจากการปรับรูปลักษณ์มาสคอตครั้งนี้ของ ‘บาร์บีคิว พลาซ่า’

      เมื่อปรับปรุงชุดมาสคอตบาร์บีกอนโฉมใหม่เสร็จเรียบร้อย สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้นอกเหนือจากการปรากฏตัวตามงานต่างๆ ของบาร์บีกอนที่เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น คือการที่บาร์บีคิวพลาซ่าได้ต่อยอดนำเจ้าบาร์บีกอนไปทำภารกิจเพื่อสังคม 3 อย่าง ‘GON MISSION’ โดยจะคัดเลือกกิจกรรมทำดีจากช่องทางที่เปิดให้ผู้บริโภคได้ส่งเข้ามา ซึ่งผู้โชคดีที่ได้รับการคัดเลือกก็จะได้รับรางวัลรับประทานฟรีตลอดทั้งปี (ดูรายละเอียดได้ที่นี่

      บุณย์ญานุชได้อธิบายที่มาของภารกิจบาร์บีกอนว่า มาจากการที่บาร์บีคิวพลาซ่าอยากมองอีกมุมหนึ่งว่า ถึงแม้ปีนี้แบรนด์จะครบรอบวันเกิด 30 ปี แต่ก็อยากสร้างนิยามวันเกิดที่ต่างออกไป โดยแทนที่จะคาดหวังของขวัญจากคนอื่น ก็เปลี่ยนมาเป็นการมอบของขวัญให้ผู้อื่นแทน

      “จริงๆ เราทำโปรเจกต์ฉลองครบรอบ 30 ปีมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว โดยวันเกิดบาร์บีกอนเราก็ให้ของขวัญเขาด้วยการพาเขาไปแปลงโฉม แต่อีกประเด็นหนึ่งของวันเกิดคือ คนส่วนใหญ่อาจจะคาดหวังว่า ‘ในวันนี้จะมีใครให้อะไรเขาเป็นของขวัญหรือเปล่า’ แต่เราอยากมองในมุมกลับว่า ‘ถ้าวันนี้เป็นวันเกิดคุณ คุณอยากให้อะไรใครบ้าง’

      “ตอนที่บาร์บีคิวพลาซ่าทำโปรเจกต์วันแม่ คนก็พูดถึงคลิปของเราไปแล้ว แต่เป้าหมายสูงสุดของเราในวันนี้คือ อยากให้ทุกๆ วันเกิด คนได้คิดถึงบาร์บีคิวพลาซ่าในมุมที่แบรนด์จุดฉนวนว่า วันเกิดของคุณปีนี้ คุณได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างแล้วหรือยัง ทุกครั้งที่เราทำแคมเปญการตลาดก็จะคิดถึงองค์ประกอบ 3 ข้อเสมอ ข้อแรกคือบริษัทต้องได้ประโยชน์ เพราะเราไม่ได้ทำมูลนิธิ นี่คือสิ่งที่คนทำธุรกิจคิดกันอยู่แล้ว ข้อสองคือลูกค้าก็ต้องได้ประโยชน์เช่นกัน และสุดท้ายพนักงานก็ต้องได้ประโยชน์ ความท้าทายในการทำแบรนด์ของเราคือการทำให้ทั้ง 3 ฝ่ายมีความสุข”

      จะเห็นได้ว่าแคมเปญการทำการตลาดในครั้งนี้ของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่าเป็นการเลือกหยิบจับเอามาสคอต ซึ่งแบรนด์อื่นๆ อาจมองข้ามขึ้นมาสร้างเรื่องราวและใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ลืมต่อยอด CSR องค์กรด้วยการให้มาสคอตทำกิจกรรมสร้างประโยชน์สู่สังคม ทั้งยังให้ความสำคัญกับบุคลากรของบริษัทในเวลาเดียวกัน

      GON MISSION หรือ ภารกิจบาร์บีกอน จึงถือเป็นวิธีการทำการตลาดที่เฉียบแหลมทั้งในแง่ของรูปแบบวิธีการและผลลัพธ์ที่คำนึงถึงแบรนด์ ผู้บริโภค และบุคลากรได้อย่างลงตัว

 

FYI
  • 10 เท่าตัว คือความห่างด้านราคาการผลิตชุดมาสคอตระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยราคาการผลิตชุดมาสคอตของประเทศไทยมีต้นทุนเฉลี่ยตัวละประมาณ 30,000 บาท ต่างจากการผลิตกับที่คิกุรุมิ บิซ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต่อตัวอยู่ที่ราวๆ 300,000 บาท
  • ณ ปัจจุบัน จำนวนการผลิตชุดมาสคอตบาร์บีกอนแบบใหม่ในตอนนี้จะเลือกผลิตแค่ตัวมาสเตอร์ 1 ตัวก่อน โดยในอนาคตก็อาจจะพิจารณาผลิตเพิ่มเติม
  • นอกจากจะมีการร่างไบเบิลบาร์บีกอนเพื่อบอกในสิ่งที่ผู้ใส่ชุดมาสคอตควรทำและไม่ควรทำแล้ว ต่อไปก็จะมีคอร์สเทรนอบรมการสวมบทบาทบาร์บีกอน และยังมีการสร้างห้องทำงานส่วนตัวของบาร์บีกอนอีกด้วย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising