Goldman Sachs หั่นเป้าราคาน้ำมันลง 10 ดอลลาร์ เหลือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากตลาดน้ำมันได้รับผลกระทบจากกลุ่มประเทศ G7 ขาดนโยบายที่ชัดเจน อีกทั้งโควิดในจีนยังกดดันความต้องการ
Goldman Sachs หนึ่งในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของโลก เปิดเผยว่าได้ปรับลดประมาณการราคาน้ำมันลง 10 ดอลลาร์ เป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปี 2022 สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิดในจีนที่ยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ และการขาดความชัดเจนเกี่ยวกับแผนของกลุ่มประเทศ G7 ในการจำกัดราคาน้ำมันของรัสเซีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Goldman Sachs ได้ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้และปีหน้า โดยได้แรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤศจิกายน
โดยคาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะแตะระดับ 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าราคาจะแตะ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า จากเดิมที่ระดับ 108 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะพุ่งขึ้นแตะ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปี 2022 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าจะแตะ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 1 ปี 2023 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs รวมถึง Jeffrey Currie ระบุในหมายเหตุในเอกสารที่เผยแพร่วานนี้ว่า ตลาดมุ่งตรงไปสู่ความกังวลในเรื่องปัจจัยพื้นฐานในอนาคต สืบเนื่องจากกรณีโควิดในจีนที่ยังแพร่ระบาดอย่างหนัก และการขาดความชัดเจนในการดำเนินการกำหนดกรอบราคาน้ำมันของกลุ่มประเทศ G7 พร้อมเสริมว่า การล็อกดาวน์ที่ขยายพื้นที่มากขึ้นในประเทศจีน จะเทียบเท่ากับการลดการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศจีนเพิ่งประเทศจีนบันทึกจำนวนผู้เสียชีวิตทำสถิติใหม่สามครั้ง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการพบผู้เสียชีวิตจากโควิดครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีนี้ และการพบผู้เสียชีวิตรอบนี้ทำให้กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เข้มงวดกับมาตรการโควิดมากขึ้นในช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยในปักกิ่งเองก็พบจำนวนผู้ป่วยในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยรายต่อวัน
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวเสริมว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการล็อกดาวน์มากขึ้นในผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก จะทำให้อุปสงค์ลดลง
“กรณีโควิดของจีนอยู่ที่ระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทราบความชัดเจนของนโยบายใหม่…เราลดความคาดหวังต่ออุปสงค์ของจีนลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับไตรมาสนี้ (เหลือ 14 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการล็อกดาวน์เพิ่มเติมจากที่นี่”
ทั้งนี้ ความต้องการน้ำมันดิบของจีนในปัจจุบันต่ำกว่าที่ Goldman Sachs คาดการณ์ไว้สำหรับเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 800,000 บาร์เรลต่อวัน
นักลงทุน ‘ผิดหวัง’ ราคาน้ำมันขาลง
ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบผันผวนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 120 ดอลลาร์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ท่ามกลางความกลัวที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะถดถอยทั่วโลก ต่อมาตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลังจากกลุ่ม OPEC+ ลดกำลังการผลิตลง
ส่วนในตลาดฟิวเจอร์สทั้งใน WTI และ Brent อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน โดยฟิวเจอร์สน้ำมันดิบ Brent ร่วงน้อยกว่า 1 ดอลลาร์ หรือ 0.9% มาอยู่ที่ 86.83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และฟิวเจอร์ส WTI ลดลง 1.09% มาอยู่ที่ 79.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมัน คือปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียที่สูงกว่าที่คาดไว้ เพียง 2 สัปดาห์ก่อนที่การห้ามส่งสินค้าของสหภาพยุโรปจะมีผลในต้นเดือนธันวาคม
“นักลงทุนรู้สึกผิดหวังกับการผลิตและการส่งออกที่สูงกว่าที่คาดไว้จากรัสเซีย แม้จะเหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนที่การคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปจะมีผลกับน้ำมันดิบ ควบคู่ไปกับขีดจำกัดราคา G7 ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า”
ไทยออยล์มองโควิดในจีนป่วนตลาดน้ำมัน
โดย บมจ.ไทยออยล์ ระบุในบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์นี้ ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันมันดิบช่วงวันที่ 21-25 พฤศจิกายน 2565 โดยราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับที่ต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีนที่ยังไม่คลี่คลาย หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในบางพื้นที่ ส่งผลให้จีนยังคงอาจล็อกดาวน์ และใช้มาตรการเข้มงวดตามนโยบาย Zero-COVID ที่จีนใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันมันดิบของโลกตึงตัว หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวลดลง และคาดการณ์ว่าการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2565 อาจมีแนวโน้มปรับลดลงต่อจากแผนการปรับลดโควตาการผลิตของกลุ่มลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ได้แก่
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในจีนยังไม่คลี่คลาย หลังเกิดเหตุประท้วงของผู้คนจำนวนมากในเมืองกวางโจว ประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ และใช้มาตรการจำกัดการเดินทางตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเดินทางหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่นโยบาย Zero-COVID ยังคงใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนได้กล่าวไว้ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับลดจำนวนวันในการกักตัวลงบ้างแล้วก็ตาม
- Energy Aspects รายงานเดือนพฤศจิกายน 2565 คาดการณ์ปริมาณการผลิตของ non-OPEC ปรับเพิ่มขึ้น 1.74 และ 1.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สู่ระดับที่ 65.58 และ 67.12 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ทั้งยังปรับเพิ่มคาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และรัสเซียในปี 2565 ขึ้น 0.01 และ 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ของเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 18.93 และ 10.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ
- การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC เดือนตุลาคม 2565 ปรับลดลง 0.21 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 29.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการผลิตของซาอุดีอาระเบียและแองโกลาที่ปรับลดลง 0.15 และ 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ 10.84 และ 1.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ขณะที่การผลิตของไนจีเรียปรับเพิ่มขึ้น 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ 1.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่าส่งออกน้ำมัน Forcados and Brass กลับมาดำเนินงานตามปกติ
อ้างอิง: