×

ทองคำทะลุ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงสุดรอบ 5 เดือน นักวิเคราะห์เทคนิคชี้แนวต้านถัดไป 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์

26.05.2021
  • LOADING...
ทองคำทะลุ 1900 ดอลลาร์

ทองคำทะลุ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ทำราคาสูงสุดตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2564  นักวิเคราะห์เทคนิคลุ้นแตะ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายใต้เงื่อนไข Fed ยังดึงนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อ 

 

ราคาทองคำโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทะลุระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปแล้ว ซึ่งเป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีค่อยๆ ปรับลดลง ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่จะทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เข้าสู่ช่วงขาขึ้น (Bull) อีกครั้ง 

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ราคาทองทำราคาสูงสุดที่ 1,948 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากนั้นราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 

 

โดยปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามคือการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งหาก Fed เริ่มทบทวนนโยบายยุติการเติมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจก็จะกระทบต่อขาขึ้นของราคาทองคำได้ 

 

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานความคิดเห็นนักวิเคราะห์ทองคำเชิงเทคนิค ซึ่งระบุว่าแนวต้านถัดไปของราคาทองคำรอบนี้น่าจะอยู่ที่ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนที่น่าจะปรับขึ้นได้ง่าย ส่วนแนวต้านถัดไปประเมินที่ 1,960-1,965 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโซนนี้จะมีความยากมากกว่า และอาจจะมีความเป็นไปได้น้อยที่ราคาทองคำจะขึ้นไปทดสอบราคาสูงสุดตลอดกาล (All Time High) ที่ 2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

ในส่วนของปัจจัยพื้นฐาน ราคาทองคำยังตอบสนองต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี และการดำเนินนโนบายการเงินของ Fed เป็นหลัก 

 

อ้างอิงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ที่ 4.2% ต่อปี ซึ่ง Richard Clarida รองประธาน Fed ให้ความคิดเห็นต่อตัวเลขดังกล่าวว่า เป็นความประหลาดใจที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง และระบุเพิ่มว่า ผู้กำหนดนโยบายสามารถเริ่มหารือเกี่ยวกับการปรับมาตรการการซื้อคืนพันธบัตร

 

ขณะเดียวกัน Randal Quarles รองประธานฝ่ายกำกับดูแลของ Fed แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อว่า ทั้งมุมมองส่วนตัวและมุมมองทั่วไปของ Fed ต่างมองว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นชั่วคราว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:  

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising