×

ดีมานด์ทองคำจาก ‘จีน’ และ ‘อินเดีย’ ส่อแววฟื้น ชดเชยกระแสเงินทุนไหลออก ETF ทอง

29.04.2021
  • LOADING...
ดีมานด์ทองคำจาก ‘จีน’ และ ‘อินเดีย’ ส่อแววฟื้น ชดเชยกระแสเงินทุนไหลออก ETF ทอง

ตามปกติแล้วอุปสงค์ทองคำ หรือความต้องการใช้ทองคำ ประกอบไปด้วยความต้องการจาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ ภาคเทคโนโลยี ภาคธนาคารกลาง และภาคการลงทุน ซึ่งแบ่งเป็นความต้องการทองคำในด้านการลงทุน ETF ทอง และความต้องการทองคำในด้านการลงทุนทองคำ นำโดยการบริโภคจากจีนและประเทศอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ใช้ทองคำมากที่สุดในโลก  

 

การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ขณะที่การดำเนินมาตรการปิดเมืองทั้งในจีนและอินเดีย เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงบั่นทอนความมั่งคั่งของชาวจีนและอินเดีย รวมถึงราคาทองคำที่ทะยานขึ้นอย่างมาก ส่งผลกดดันความต้องการทองคำในภาคเครื่องประดับในปี 2020 ลดลงเหลือ 1,411.6 ตัน ลดลง 34% จากปี 2019 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ WGC เริ่มจดบันทึกตัวเลขดังกล่าว  

 

แต่กระนั้น ความต้องการทองคำด้านการลงทุนกลับทะยานขึ้นอย่างมาก นำโดยการถือครองทองในกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 877.1 ตันในช่วงปี 2020 ซึ่งถือเป็นสถิติการถือครองสูงสุดที่ 3,751.5 ตัน ขณะที่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3% ในปี 2020 สู่ระดับ 896.1 ตันเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความต้องการลงทุนในปี 2020 มีความโดดเด่นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะช่วยชดเชยการลดลงของอุปสงค์ในภาคเครื่องประดับและภาคธนาคารกลาง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนราคาทองคำในปีที่แล้วอีกด้วย

 

แต่ปี 2021 แตกต่างออกไป เพราะความต้องการลงทุนในภาค ETF ทองคำกลับชะลอตัวลง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันราคาทองคำในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อย่างชัดเจน โดยในปี 2021 กองทุน SPDR ถือครองทองลดลงแล้วเกือบ -150 ตัน  จากระดับ 1,170.74 ตันสู่ระดับ 1,021.70 ตัน และเป็นการลดการถือครองทองคำ 7 เดือนติดต่อกัน (ตุลาคม ปี 2020-21 ถึงเมษายน 2021) รวม -247 ตัน หลังจากลดการถือครองทองคำลง 98 ตันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ที่ปรับตัวลดลงราว 10% จนทำให้นักลงทุนทองหลายคนหวาดหวั่นว่า หากการไหลออกของเงินทุนจาก ETF ทองคำดำเนินต่อไปจะเป็นปัจจัยกดดันทองคำตลอดปีนี้

 

อย่างไรก็ดี วันนี้ YLG มีข่าวดีที่น่าจะพอทำให้นักลงทุนทองใจชื้นขึ้นได้บ้าง ข่าวดีที่ว่านั้นคือ ความต้องการทองจากจีนและอินเดียซึ่งถือเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุดในโลก โดยบริโภคทองคำรวมกันเกือบ 2,000 ตันต่อปี มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ  

 

สัญญาณการฟื้นตัวของความต้องการทองคำในอินเดีย สะท้อนจากยอดนำเข้าทองคำของอินเดียจากต่างประเทศที่ปรับตัวขึ้นกว่า 7 เท่า แตะที่ระดับ 98.6 ตันในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับระดับของปีก่อนหน้าที่ 13 ตัน แตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 Reuters ยังมีการรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ทางการจีนได้กลับมาอนุญาตให้ธนาคารในประเทศและต่างประเทศนำเข้าทองคำจำนวนมากหลังจากไม่ได้โควตาการนำเข้ามาระยะหนึ่งแล้ว โดยแหล่งข่าว 4 แหล่งกล่าวกับ Reuters ว่า ทองคำประมาณ 150 ตัน มูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ มีแนวโน้มว่าจะถูกนำเข้าไปยังจีน หลังจากจีนกลับมาปล่อยโควตาการนำเข้าอีกครั้ง  


ปริมาณการนำเข้าของจีนและอินเดีย เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาของความต้องการทองคำ ซึ่งหากแรงซื้อจากจีนและอินเดียกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง  อย่างน้อยๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชยกระแสเงินทุนที่ไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำ และจะจำกัดความเสี่ยงด้านต่ำของราคาทองคำได้ แต่หากความต้องการทองคำจากจีนและอินเดียสูงกว่าที่คาด ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 


ไม่พลาดข่าวไฮไลต์ประจำวัน มาเป็นเพื่อนกับ THE STANDARD WEALTH ในไลน์ คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising