แม้ว่าจะมีการแจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มยุติการให้บริการในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 แต่วันนี้ (28 กรกฎาคม) Gojek ได้ส่งข้อความแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า ‘จะไม่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป’ อันเป็นผลมาจากการชะลอธุรกิจเพื่อเตรียมหยุดธุรกิจและบริการ
การแจ้งในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ AirAsia Group กลุ่มธุรกิจสายการบินราคาประหยัดของมาเลเซียได้ประกาศเข้าซื้อธุรกิจ Gojek ในไทยผ่าน AirAsia Digital ด้วยการแลกหุ้นที่มีมูลค่าราว 1.6 พันล้านบาท ในวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลทำให้ต้องยุติการให้บริการ Gojek และโยกข้อมูลทั้งหมดไปสู่ AirAsia Super App
ย้อนกลับไปก่อนจะมาเป็น Gojek หนึ่งในผู้เล่นในตลาดฟู้ดเดลิเวอรีที่ดุเดือดและกำลังเฟื่องฟูของไทย ได้เข้าสู่ตลาดภายใต้ชื่อ GET ในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งในยุคแรกเริ่มทีมผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ได้โยกมาจาก LINE MAN และหลังจากทำธุรกิจมา 1 ปีกว่าๆ GET จึงได้ประกาศรีแบรนด์และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gojek’ อย่างเป็นทางการ ทีมผู้บริหารก็ยังเป็นชุดเดิมและเริ่มมีการปรับเปลี่ยนภายในจากทีมชุดเก่า ก่อนจะสิ้นสุดธุรกิจในประเทศไทยด้วยระยะเวลาประมาณ 2 ปีกับ 6 เดือน
อ้างอิงจากกรุงเทพธุรกิจระบุว่า Gojek จดทะเบียนธุรกิจในไทยภายใต้ชื่อ บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด จาการตรวจสอบข้อมูลในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบ 3 ปีมานี้ขาดทุนรวมกันกว่า 1.5 พันล้านบาท
รายได้และกำไร บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด
ปี 2561 รายได้ 972 บาท ขาดทุน 106 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 133 ล้านบาท ขาดทุน 1,137 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 184 ล้านบาท ขาดทุน 294 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ Nikkei Asia รายงานว่า แม้ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีกำลังเฟื่องฟู แต่ก็แข่งกันอย่างดุเดือด และเป็นที่รู้กันว่าทุกวันนี้ยังอยู่ในช่วง ‘เผาเงิน’ เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้มีขนาดใหญ่ก่อนจะไปสร้างรายได้ในอนาคต ดังนั้นในวันนี้จึงยังไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่ทำ ‘กำไร’ เลย ซึ่งจากจากการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่สูงขึ้น Grab, Gojek, Food Panda และ LINE MAN ขาดทุนรวมกันกว่า 4 พันล้านบาท ในปี 2562 ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
“ในอนาคตอันใกล้ เราอาจเห็นการควบรวมบริการที่มีอยู่เพื่อลดค่าใช้จ่ายและอยู่รอด เหมือนกับที่เราเคยเห็นในประเทศอื่นๆ” นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวกับ Nikkei Asia ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็มีดีลเข้าซื้อ Gojek เกิดขึ้น
มีการตั้งข้อสังเกตุว่าดีลนี้ทำให้เห็นถึงวิธีการปรับเปลี่ยนธุรกิจระดับภูมิภาคของ Gojek หลังจากประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าจะควบรวมกิจการกับ Tokopedia ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย เพื่อจัดตั้ง GoTo ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้ Gojek สามารถเพิ่มการลงทุนในเวียดนามและสิงคโปร์ได้
ข้อมูลจาก Nikkei Asia รายงานว่า จากการวิจัยธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีโดย Momentum Works ที่ปรึกษาของสิงคโปร์ บริการของ Gojek มีส่วนแบ่งตลาดในไทยและเวียดนามน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ Grab และ Sea ในปี 2563
GrabFood ครองส่วนแบ่ง 50% ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในไทยที่มีมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 ในแง่ของมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value) ส่วน Food Panda ของ Delivery Hero Group มีส่วนแบ่ง 23% ตามด้วย LINE MAN 20% ขณะที่ GoFood ของ Gojek มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 7% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการว่าหลังจาก Gojek ไปอยู่ภายร่มเงา AirAsia Super App และลบชื่อตัวเองให้ออกจากตลาดประเทศไทยไป บริการของ AirAsia Super App จะมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไร คงต้องติดตามกันต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- AirAsia Group ทุ่มเงิน 1.6 พันล้านบาท เข้าซื้อ Gojek ในไทย
- แม้ Food Delivery ของไทยจะยังเฟื่องฟู แต่ธุรกิจกำลังเผชิญแรงกดดันทางการเงินจากการลดค่าธรรมเนียมและค่าแรงคนขับ อนาคตอาจเห็น ‘การควบรวม’ เพื่ออยู่รอด
- ต่อยอดจากการซื้อ Gojek! BigPay ธุรกิจฟินเทคของ AirAsia วางแผนให้บริการในไทย คาดได้เห็นจริงไตรมาส 1/2565
อ้างอิง: