×

แม้ Food Delivery ของไทยจะยังเฟื่องฟู แต่ธุรกิจกำลังเผชิญแรงกดดันทางการเงินจากการลดค่าธรรมเนียมและค่าแรงคนขับ อนาคตอาจเห็น ‘การควบรวม’ เพื่ออยู่รอด

28.06.2021
  • LOADING...
Food Delivery

Nikkei Asia ออกรายงานที่ระบุว่า อุตสาหกรรม Food Delivery ของไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ลดค่าธรรมเนียม ขณะที่ผู้ขับขี่ต้องการค่าตอบแทนที่ดีกว่า

 

การระบาดใหญ่ครั้งที่ 3 ของโควิด-19 ได้ผลักความต้องการการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรีให้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ตลาดนี้จะเติบโตขึ้น 2 หลักทุกปี จาก 6.88 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 เป็นมากกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 และมากถึง 9.9 หมื่นล้านบาท ในปี 2567

 

นอกจากผู้เล่นต่างชาติรายใหญ่ เช่น Grab, Gojek, Food Panda และ LineMan แล้ว ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นเอง ทั้ง Robinhood ซึ่งมีเบื้องหลังเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ และ TrueFood จากกลุ่ม CP บริษัทอาหารและการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

 

ร้านอาหารหลายรายได้หันไปใช้การขายออนไลน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาจากการที่รัฐบาลบังคับใช้การล็อกดาวน์บางส่วน ทำให้ไม่สามารถเปิดให้ลูกค้านั่งในร้านอาหารได้ แต่ด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงที่บริษัทจัดส่งอาหารเรียกเก็บนั้นทำให้ร้านอาหารต่างๆ มีกำไรที่ลดลง

 

“นั่นส่งผลกระทบต่อร้านอาหารขนาดเล็ก ขนาดกลาง และผู้ขายอาหารริมทางหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ และนั่นเป็นสาเหตุที่รัฐบาลต้องเข้าไปมีส่วนร่วม” เจ้าหน้าที่อาวุโสของกรมการค้าภายในของกระทรวงพาณิชย์กล่าว

 

กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือจากบริษัทจัดส่งอาหารให้ลดอัตราค่าคอมมิชชันจาก 30-35% เป็น 25% เพื่อให้ผู้ขายอาหารมีกำไรที่ดีขึ้น จุดนี้เองทำให้ผู้เล่นหลักอย่าง Grab และ Gojek ไม่สามารถปฏิเสธคำขอนี้ได้

 

Nikkei Asia รายงานอีกว่า การระบาดใหญ่ครั้งที่ 3 ของโควิด-19 ที่ยาวนานเกินคาด นั้นหมายความว่ารัฐบาลอาจจะต้องการให้บริษัทจัดส่งอาหารเก็บค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าไว้จนถึงสิ้นปี

 

เพื่อตอบสนองต่อค่าธรรมเนียมที่ลดลง บริษัทส่งอาหารได้พยายามเอาตัวรอดโดยลดค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับผู้ขับขี่ที่ส่งอาหารของตัวเองลงประมาณ 20-30% สิ่งนี้ทำให้เกิดความโกรธในหมู่ผู้ขับขี่ที่อ้างว่ารายได้ของพวกเขาลดลงมากถึง 50% เหลือเพียง 500 บาทต่อวันเท่านั้น

 

“นั่นไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง และนั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องประท้วง” อนุกุล รัทกุลา (Anukul Ratkula) หนึ่งในผู้ขับ LineMan ซึ่งเข้าร่วมกับ Freedom Riders Union ที่มีผู้ขับ 300 คน จากบริการส่งอาหารทั่วประเทศกล่าว โดยเขาระบุอีกว่าได้มีการรวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องให้แพลตฟอร์มจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้น

 

“พวกเขาตัดคนขี่ไม่ได้ เพราะไม่มีคนขับ ไม่มีธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ตอนนี้คือเปิดตัวโปรโมชันเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดผู้บริโภคและสร้างการประหยัดจากขนาดเพื่อช่วยชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” นักวิเคราะห์จาก Asia Plus กล่าว

 

อย่างไรก็ตามแม้อุตสาหกรรมจะเฟื่องฟู แต่อย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้ยังอยู่ในช่วง ‘เผาเงิน’ เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้มีขนาดใหญ่ก่อนจะไปสร้างรายได้ในอนาคต ดังนั้นในวันนี้จึงยังไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่ทำ ‘กำไร’ เลย

 

โดยจากการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่สูงขึ้น Grab, Gojek, Food Panda และ LineMan ขาดทุนรวมกันกว่า 4 พันล้านบาท ในปี 2562 ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

“ในอนาคตอันใกล้ เราอาจเห็นการควบรวมบริการที่มีอยู่เพื่อลดค่าใช้จ่ายและอยู่รอด เหมือนกับที่เราเคยเห็นในประเทศอื่นๆ” นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว

 

ภาพ: DeCicca / Getty Images

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X