×

AirAsia Group ทุ่มเงิน 1.6 พันล้านบาท เข้าซื้อ Gojek ในไทย

07.07.2021
  • LOADING...
Gojek

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า AirAsia Group กลุ่มธุรกิจสายการบินราคาประหยัดของมาเลเซียแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า หน่วยธุรกิจดิจิทัลของตัวเองได้ใช้เงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 พันล้านบาทเข้าซื้อ Gojek ในไทย 

 

ก่อนหน้านี้ Nikkei Asia รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า AirAsia กำลังเจรจากับ Gojek เพื่อซื้อธุรกิจในประเทศไทย โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ Gojek จะเข้าถือหุ้นบางส่วนในแพลตฟอร์ม Airasia Super App ซึ่งมีมูลค่าประเมินทางตลาดอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำจะได้รับธุรกิจของ Gojek ในประเทศไทย

 

“ด้วยรากฐานที่มั่งคงของธุรกิจ Gojek ในประเทศไทย จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเป้าหมายของเราที่ต้องการเป็นผู้ท้าชิง Super App ในอาเซียน” โทนี เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AirAsia Group กล่าว

 

ข้อตกลงกับสตาร์ทอัพยูนิคอร์นของชาวอินโดนีเซียมีขึ้นเพียงสัปดาห์เดียวหลังจากที่สายการบินได้ยื่นขอใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลในมาเลเซีย ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนโฟกัสไปที่ธุรกิจดิจิทัล หลังจากธุรกิจหลักอย่างสายการบินได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการระบาดของโควิด

 

ขณะเดียวกันดีลนี้ยังทำให้เห็นถึงวิธีการปรับเปลี่ยนธุรกิจระดับภูมิภาคของ Gojek หลังจากประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าจะควบรวมกิจการกับ Tokopedia ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย เพื่อจัดตั้ง GoTo ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้ Gojek สามารถเพิ่มการลงทุนในเวียดนามและสิงคโปร์ได้

 

ก่อนหน้านี้เฟอร์นันเดสได้เปิดเผยต่อสาธารณชนถึงความตั้งใจที่จะแข่งขันกับ Gojek และ Grab ซึ่งเป็นคู่แข่งในสิงคโปร์ ที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้

 

โดย AirAsia Digital ประกอบไปด้วย ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจสายการบิน ได้แก่ อาหารและจัดส่งอาหารสด บริการจัดส่ง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และช่องทางการชำระเงิน แต่ยังขาดบริการเรียกรถเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่อื่นๆ ในตลาด

 

Gojek ได้ร่อนแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชนในประเทศไทยว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ Airasia Super App ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมศักยภาพและสร้างระบบนิเวศธุรกิจของ Gojek ให้ดีขึ้น 

 

โดยเฉพาะสำหรับพนักงานรับส่งของ ร้านค้า และลูกค้า ด้วยสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มีมากขึ้น เช่น อาหาร ของชำ สินค้าเกี่ยวกับความงาม และการจัดส่งพัสดุด่วน ควบคู่ไปกับบริการเรียกรถรับ-ส่ง โดยตั้งเป้าขยายสู่ตลาดใหม่ในประเทศอย่างเชียงใหม่และภูเก็ตในอนาคตอันใกล้

 

แอปพลิเคชัน Gojek จะยังสามารถใช้งานได้ตามปกติสำหรับผู้ใช้บริการในกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 จนกระทั่งรวมกับ Airasia Super App ในขณะที่พนักงานรับส่งของทุกคนและร้านค้าจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานกับ Airasia Super App เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

“พฤติกรรมคนไทยคือสามารถปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลได้ดี คุ้นชินกับรูปแบบไลฟ์สไตล์ผ่านโทรศัพท์มือถือ และกิจกรรมต่างๆ แบบเรียลไทม์ รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ฟินเทค และความบันเทิงออนไลน์ จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ผมเชื่อว่ากลุ่มแอร์เอเชียจะสามารถต่อยอดธุรกิจจากสิ่งที่ Gojek ประสบความสำเร็จแล้วในกรุงเทพฯ ได้อย่างดี พร้อมก้าวสู่โอกาสใหม่เพื่อมอบความสะดวกสบายและการแข่งขันด้านราคาที่มากขึ้นสำหรับคนไทย” ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าว

 

ข้อมูลจาก Nikkei Asia รายงานว่า จากการวิจัยธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีโดย Momentum Works ที่ปรึกษาของสิงคโปร์ บริการของ Gojek มีส่วนแบ่งตลาดในไทยและเวียดนามน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ Grab และ Sea ในปี 2020

 

GrabFood ครองส่วนแบ่ง 50% ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในไทยที่มีมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9 หมื่นล้านบาทในปี 2020 ในแง่ของมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value) ส่วน Foodpanda ของ Delivery Hero Group มีส่วนแบ่ง 23% ตามด้วย LINE MAN 20% ขณะที่ GoFood ของ Gojek มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 7% เท่านั้น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X