ที่แห่งนั้นมีสนามฟุตบอลเล็กๆ อยู่ 7 สนามด้วยกัน และได้รับการเรียกขานว่า “Siete Conchitas” ซึ่งก็มีความหมายว่าสนามเล็กๆ ทั้ง 7 นั่นแล
สนามฟุตบอลนั้นไม่ได้เป็นสนามหญ้าที่เขียวขจีสวยงามอะไร ออกจะเป็นสนามที่พื้นแข็งๆ หน่อยเสียด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นสถานอบรมฝึกฝนยอดนักเตะของอาร์เจนตินามามากมาย
ในวันหนึ่ง ฟรานซิส กอร์เนโฆ อยากจะได้นักฟุตบอลหน้าใหม่ๆ เข้ามาทดสอบฝีเท้า เผื่อจะชักชวนให้เข้ามาร่วมกับทีมเยาวชนของอาร์เจนติโนส จูเนียร์สสักหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับฟุตบอลระดับเยาวชนในสมัยนั้นที่โค้ชจะคอยมองหาเพชรเม็ดงามมาเจียระไนเสมอ
สิ้นคำพูดของโค้ช ไอ้หนู โกโย การ์ริสโซ นักเตะที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของทีมเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 8 ปีของอาร์เจนติโนส จูเนียร์สก็ยกมือ
“โค้ชครับ ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง หมอนี่เก่งกว่าผมอีก” โกโยบอกเสียงดังฉะฉาน “ผมพาเขามาด้วยได้ไหม”
กอร์เนโฆ พยักหน้าแทนคำตอบ
ไม่กี่วันถัดมาที่ ลาส มาลวินาส สนามซ้อมของทีมอาร์เจนติโนส จูเนียร์ส ทุกคนที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้นแทบไม่เชื่อสายตาในสิ่งที่ตัวเองได้เห็น
“มีคนบอกว่าในชีวิตคนเราจะมีโอกาสได้เห็นปาฏิหาริย์อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพียงแต่คนส่วนใหญ่นั้นจะไม่รู้ตัว แต่สำหรับผมแล้ว ผมรู้ว่าผมได้เห็นปาฏิหาริย์เข้าแล้ว” กอร์เนโฆ บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Cebollita Maradona
“ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในวันเสาร์วันหนึ่งในปี 1969 ที่มีฝนโปรยลงมาจากฟ้า และมีเด็กอายุ 8 ปีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นวัยที่ผมไม่อยากเชื่อว่าเขาจะสามารถเล่นกับลูกฟุตบอลได้ในแบบที่ผมไม่เคยพบเคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อนเลยในชีวิต”
แต่ถึงพรสวรรค์ของเขาจะมหัศจรรย์แค่ไหน แต่ด้วยรูปร่างที่เล็กจิ๋ว ก็ทำให้กอร์เนโฆ และโค้ชอีกหลายคนในทีมแอบกังวลว่าเจ้าหนู ดิเอโก อาร์มันโด มาราโดนา จะอายุน้อยกว่า 8 ปีหรือเปล่า เพราะถ้าอายุยังไม่ถึงก็จะอายุน้อยเกินกว่าที่จะให้เข้ามาในทีมเยาวชนได้
เรื่องนี้มาราโดนาก็ไม่ลืมเหมือนกัน “พวกเขาให้ผมทดสอบฝีเท้า แต่คิดว่าผมอาจจะโกงอายุเลยให้ผมเอาเอกสารมาด้วย”
หลังจากที่เอาเอกสารมายืนยันแล้ว โค้ชทั้งหลายก็ให้ความมั่นใจกับพ่อของเจ้าหนูมาราโดนาว่าพวกเขาจะดูแลลูกชายให้เป็นอย่างดี
ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะการเดินทางมาอาร์เจนติโนส จูเนียร์สของมาราโดนาไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการที่ให้เด็กพักอยู่ที่สโมสรเลย ซึ่งสำหรับครอบครัวแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ เพราะยังมีอีกหลายสโมสรที่น่าจะสะดวกสบายกว่า และไม่ต้องห่างลูกไกล
แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างพ่อของมาราโดนาและโค้ช ทำให้สุดท้ายเทวดาตัวน้อยก็ได้อยู่ที่สโมสรแห่งนี้
มาราโดนาเติบโตที่นี่ และกลายเป็นขวัญใจตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยจะแจ้งเกิด
แฟนบอลอาร์เจนติโนส จูเนียร์สทุกคนรอคอยที่จะได้ชมลีลาลูกหนังของเด็กเก็บบอลคนหนึ่ง ที่ถูกสั่งให้ลงไปวาดลวดลายที่วงกลมกลางสนาม
บอลถูกเดาะขึ้นอย่างนุ่มนวลผ่านส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอก, เท้า, เข่า, ศอก, หลัง, ต้นขา, หัวไหล่ ราวกับมันเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของเด็กน้อยคนนี้
การโชว์ของมาราโดนามีเป็นประจำในสนาม แม้กระทั่งในเกมใหญ่ของลีก อย่างเช่นวันที่อาร์เจนติโนส จูเนียร์ส ต้องปะทะกับโบคา จูเนียร์ส ซึ่งในวันนั้นผู้ชมในสนามไม่ได้แค่นั่งดูและส่งเสียงฮือฮาเฉยๆ แต่ยังร่วมสนุกด้วยการปรบมือให้เข้ากับจังหวะ และเริ่มมีการตะโกนเรียกชื่อของเขา
เสียงปรบมือนั้นดังไม่หยุด แม้ว่าผู้เล่นจะกลับลงสนามแล้วก็ตาม
ราวกับทุกคนรู้ว่าสตาร์ที่แท้จริงคือใคร
ความมหัศจรรย์ของมาราโดนา ทำให้นอกจากที่เขาจะต้องไปออกรายการทีวี เพื่อโชว์ทักษะการคอนโทรลบอลที่เหลือเชื่อแล้ว เส้นทางลูกหนังของเขายังพุ่งเร็วและแรง ราวกับมีปีกยักษ์ที่พร้อมจะพาเขาบินขึ้นสูงแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
ในเวลาไม่กี่ปี มาราโดนาก้าวจากทีมชุดที่ต่ำที่สุดของสโมสรมาสู่ทีมชุดใหญ่ โดยในวัย 14 ปี เขานำทีมคว้าแชมป์ระดับเยาวชนได้ ก่อนที่จะได้ขึ้นชั้นสู่ทีมรุ่นต่อมา และหลังการลงสนามไม่กี่นัด ก็ต้องถูกดันขึ้นชั้นต่อไป เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ จนสุดท้ายมาถึงทีมชุดแรกของสโมสร
จากนั้นในวัย 15 ปี ไอ้หนูมาราโดนาได้ลงเล่นเกมแรกให้กับอาร์เจนติโนส จูเนียร์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 1976 ในเกมที่พบกับตาลยาเรส เด กอร์โดบา
ก่อนจะถึงเกมนั้น ฆวน คาร์ลอส มอนเตส โค้ชชุดใหญ่ได้บอกกับเขาล่วงหน้าแล้วว่า “เอ็งจะมีชื่อในสนามนะ และเตรียมตัวเตรียมใจจะต้องลงด้วย”
ตาลยาเรส เด กอร์โดบา เป็นฝ่ายนำอาร์เจนติโนส จูเนียร์อยู่ 1-0 เมื่อจบครึ่งแรก ก่อนที่เกมครึ่งหลังจะเริ่มได้สักพักหนึ่ง มอนเตสได้หันไปหามาราโดนา
สายตาแข็งกร้าวของมอนเตส สื่อความหมายว่า “เอ็งกล้าหรือเปล่า”
มาราโดนาตอบด้วยการจ้องตาเขม็งกลับ
มอนเตสสั่งให้ไอ้หนูน้อยเปลี่ยนตัวทันที พร้อมกับให้โอวาทแรกก่อนลงสนามกับเขาว่า
“ลุยเลยมาราโดนา เล่นแบบที่เอ็งถนัด…แล้วก็ ถ้าเป็นไปได้ก็เตะลอดขาใครก็ได้สักคน”
ดิเอโก มาราโดนา (เสื้อแถบขาวคาดตัว) ในชุดอาร์เจนติโนส จูเนียร์ส พยายามแย่งบอลจาก ฆวน โดมิงโก กาเบรรา (เสื้อลายทาง) กองกลางคู่ต่อสู้ในเกมแรกของเขา
เด็กน้อยวัยแค่ 15 ปีสวมเสื้อหมายเลข 16 ลงสนามท่ามกลาง ‘ผู้ใหญ่’ มากมายเต็มไปหมด แต่นอกจากที่จะไม่กลัวแล้ว เขายังกล้าเกินตัวที่จะเล่นในแบบของตัวเอง
คนที่เสียหน้าในวันนั้นคือ ฆวน โดมิงโก กาเบรรา ที่มีหน้าที่ต้องประกบมาราโดนา เพราะเป็นคนแรกที่โดนโยกหลอกแล้วจิ้มลอดขา จนแฟนบอลในสนามต่างตะโกนเชียร์ดังสนั่นว่า Ole!
ถึงแม้ว่ามาราโดนาจะเปลี่ยนผลการแข่งขันไม่ได้ในวันนั้น แต่สำหรับเขามันคือวันที่ดีที่สุดวันหนึ่งของชีวิต
“ผมได้เริ่มต้นประวัติศาสตร์ที่งดงามและยาวนานกับอาร์เจนติโนส จูเนียร์ ประวัติศาสตร์ที่ผมจะไม่มีวันลืม” มาราโดนากล่าวในเวลาต่อมา
“ในวันนั้นผมรู้สึกราวกับมือของผมได้สัมผัสกับท้องฟ้า”
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือเรื่องราวของนักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด สลับซับซ้อนที่สุด และเป็นที่รักมากที่สุดคนหนึ่งตลอดกาล
โดยวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 60 ปีของเขา
ดิเอโก อาร์มันโด มาราโดนา
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
- มาราโดนา รับใช้อาร์เจนติโนส จูเนียร์ ในฐานะนักเตะชุดใหญ่อีก 5 ปี ทำผลงาน 115 ประตูจาก 167 นัด ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ดีและเร็วเกินไป ชีวิตกลางแสงสีทำให้เขาประสบปัญหาในเวลาต่อมา
- เขาได้รับการเรียกตัวติดทีมชาติครั้งแรกในปี 1977 และแม้จะมีคนเชียร์มากมายแต่ เซซาร์ หลุยส์ เมน็อตติ กุนซือทีมชาติอาร์เจนตินาในยุคนั้น ไม่เรียกตัวเขาติดทีมชุดฟุตบอลโลก 1978 บนแผ่นดินเกิดของตัวเอง และเป็นแรงผลักดันให้มาราโดนายิ่งพัฒนาการเล่นกับอาร์เจนติโนส จูเนียร์ขึ้นไปอีก
- หลังจากก้าวเป็นซูเปอร์สตาร์ มาราโดนาเริ่มใหญ่กว่าสโมสร และทำให้ตัดสินใจย้ายไปทีมที่ใหญ่กว่าอย่างโบคา จูเนียร์ส ที่แม้จะประสบปัญหาทางการเงิน แต่สุดท้ายก็ดิ้นรนหาวิธีด้วยการยืมตัวก่อนและจ่ายเงินตามมา รวมถึงการจัดเกมนัดกระชับมิตรขึ้น ซึ่งกลายเป็นเกมสุดท้ายของมาราโดนากับอาร์เจนติโนส จูเนียร์ส และเป็นเกมแรกกับโบคา จูเนียร์สด้วยในนัดเดียวกัน เพราะเขาเล่นให้ทั้งสองทีม ทีมละครึ่งเวลา
- ในปี 1986 มาราโดนาพาอาร์เจนตินาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ที่เม็กซิโก ขณะที่กับสโมสร เขาได้ย้ายไปเล่นให้บาร์เซโลนา ประสบความสำเร็จสูงสุดกับชีวิตที่นาโปลี (ที่เขายังเป็นพระเจ้าในเมือง) ก่อนจะมีปัญหาเรื่องการใช้ยาเสพติดจนชีวิตตกต่ำ และกลับมาเล่นให้โบคา จูเนียร์ส เป็นทีมสุดท้ายก่อนอำลาวงการ