×

‘You’ll Never Work Alone’ เมื่อสโมสรฟุตบอลเริ่มหันมามองคนใกล้ตัว

07.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เมื่อมีการหารเฉลี่ยค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด โดยคิดเป็นเงินรายได้เฉลี่ยที่ทุกสโมสรจะได้รับเท่ากันสโมสรละ 84.4 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล บวกกับเงินรางวัลจากอันดับที่ทำได้ และเงินที่ได้จากจำนวนนัดที่ทำการถ่ายทอดสดแล้ว แม้แต่ทีมที่ได้รับเงินส่วนนี้กลับมาน้อยที่สุดอย่างซันเดอร์แลนด์ ยังได้รับเงินจำนวนมากถึง 99.9 ล้านปอนด์ ขณะที่ทีมที่ได้มากที่สุดคือแชมเปี้ยน เชลซี ที่ได้เงินรวม 152.8 ล้านปอนด์
  • แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสโมสรต่างๆ เหล่านี้กลับใช้จ่ายเงินไปกับนักฟุตบอล ผู้จัดการทีม สตาฟฟ์ และผู้บริหาร เงินเหล่านี้แทบไม่เหลือตกถึงมือพนักงานในระดับปฏิบัติการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ที่มาอำนวยความสะดวกในระหว่างวันที่มีแมตช์การแข่งขัน ซึ่งได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ
  • จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ The Real Living Wage Foundation และองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Citizens UK, The Football Supporters’ Federation, The Culture, Media and Sport Select Committee พยายามเรียกร้องให้สโมสรฟุตบอลดูแล ‘คนใกล้ตัว’ ที่อยู่เบื้องหลังพวกเขาให้ดีกว่านี้

     When Saturday Comes!

     เมื่อถึงเวลาของการถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในทุกสัปดาห์ สิ่งที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ทำงานในสตูดิโอของ beIN SPORTS หรือในวันที่นั่งชมเกมอยู่หน้าจอโทรทัศน์ที่บ้านคือภาพบรรยากาศหน้าสนามครับ

     ผมชอบภาพของแฟนบอลทุกเพศทุกวัยที่เดินทางมาชมเกมที่สนาม เพราะนอกจากจะเป็นภาพที่งดงามสมกับความเป็น The Beautiful Game แล้ว

     มันยังทำให้รู้สึกว่าถึงเกมฟุตบอลจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปมากแค่ไหน อย่างน้อยแฟนฟุตบอลก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก

     เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

     อย่างไรก็ดี เบื้องหลังของภาพที่สวยงามนั้นมีความจริงที่น่าตกใจซ่อนเร้นอยู่

     ท่ามกลางฝูงชนในสีเสื้อฟุตบอลสดใสนับหมื่นนั้นมีเจ้าหน้าที่ของสโมสรที่ช่วยอำนวยความสะดวก ดูแล และรักษาความปลอดภัยให้ทุกคนอยู่นับพันคน

     คนเหล่านี้คือคนที่เสียสละ เหน็ดเหนื่อยตั้งแต่ก่อนแข่ง ระหว่างแข่ง ไปจนกระทั่งหลังจบการแข่งขัน โดยที่เกือบทั้งหมดไม่เคยได้รับการเหลียวแลอย่างที่สมควรจะได้รับมาก่อน

     เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ในอังกฤษมาเป็นระยะเวลานานครับ นานจนยากจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดสโมสรฟุตบอลที่มีรายได้ในระดับมากกว่า 100 ล้านปอนด์ต่อปี และสามารถจ่ายเงินมหาศาลให้แก่นักฟุตบอล ผู้จัดการทีม สตาฟฟ์โค้ช และผู้บริหาร จึงมองข้ามคนที่ทำงานให้สโมสรเหล่านี้?

     หรือคนพวกนี้ไม่มีความสำคัญมากพอ?

 

 

น้ำพักน้ำแรงที่ไม่เท่าเทียม

     1.04 หมื่นล้านปอนด์ คือจำนวนตัวเลขรายได้ของพรีเมียร์ลีกจากการจำหน่ายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลอันดับ 1 ของอังกฤษ​ (และได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วย) ในรอบที่ผ่านมาตั้งแต่ฤดูกาล 2016-18

     ตัวเลขดังกล่าวเมื่อมีการหารเฉลี่ยค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด หรือที่เรียกกันว่า TV Money ซึ่งคิดเป็นเงินรายได้เฉลี่ยที่ทุกสโมสรจะได้รับเท่ากันสโมสรละ 84.4 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล บวกกับเงินรางวัลจากอันดับที่ทำได้ และเงินที่ได้จากจำนวนนัดที่ทำการถ่ายทอดสดแล้ว แม้แต่ทีมที่ได้รับเงินส่วนนี้กลับมาน้อยที่สุดอย่างซันเดอร์แลนด์ ยังได้รับเงินจำนวนมากถึง 99.9 ล้านปอนด์ ขณะที่ทีมที่ได้มากที่สุดคือแชมเปี้ยน เชลซี ที่ได้เงินรวม 152.8 ล้านปอนด์

     โดยที่ยังไม่รวมรายได้จากการจำหน่ายบัตรผ่านประตู และรายได้จากสปอนเซอร์ต่างๆ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาลครับ

     แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสโมสรต่างๆ เหล่านี้กลับใช้จ่ายเงินไปกับนักฟุตบอล ผู้จัดการทีม สตาฟฟ์ และผู้บริหาร

     เงินเหล่านี้แทบไม่เหลือตกถึงมือพนักงานในระดับปฏิบัติการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ที่มาอำนวยความสะดวกในระหว่างวันที่มีแมตช์การแข่งขัน ซึ่งได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ

     เรื่องนี้จัดเป็นปัญหาสังคม และมีความจำเป็นต้องได้รับการจัดการแก้ไขครับ

     ต่อเรื่องนี้มีองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า The Real Living Wage Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่อง ‘ค่าครองชีพ’ ของแรงงานภายในประเทศอังกฤษ โดยทางองค์กรจะมีการคำนวณว่า ในแต่ละปีค่าครองชีพขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ และจะมีการผลักดันให้บริษัท ห้างร้านต่างๆ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่คนงานในอัตราที่เหมาะสม

     โดยปัจจุบัน (2017) อัตราค่าครองชีพที่ The Real Living Wage คำนวณไว้อยู่ที่ชั่วโมงละ 8.45 ปอนด์

     และถ้าเป็นในเมืองหลวงอย่างลอนดอนก็จะเพิ่มเป็น 9.75 ปอนด์ต่อชั่วโมง

     ตัวเลขนี้จะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ทางการกำหนดไว้ที่ 7.20 ปอนด์ ซึ่งทางองค์กรมองว่ายังไม่สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริงของประชากร

     ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสจวร์ต, คนทำความสะอาด, คนตักอาหาร, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าครองชีพขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ

     ทั้งๆ ที่ ‘หน้าที่’ ของพวกเขาก็หนักและเหนื่อยไม่แพ้ใคร

     ยกตัวอย่างเช่น หนุ่มน้อยวัย 19 ปีคนหนึ่งที่ทำงานเป็นบริกรในบ๊อกซ์ระดับ Executive ของสโมสรคริสตัล พาเลซ บอกว่านี่เป็นงานที่ ‘เลวร้ายที่สุด’ เท่าที่เขาเคยทำมาในชีวิต เพราะงานหนักมาก ไม่เคยมีเวลาได้พัก และที่เลวร้ายที่สุดคือเขาโดน ‘ดูถูก’ จากบรรดาเอเจนต์ที่เข้ามาชมเกมที่สนาม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากงานในที่สุด

     หรือลองนึกภาพคุณลุงวัยเฉียด 60 ปีคนหนึ่งที่ต้องทำความสะอาดโซน VIP ของสนามลอนดอนสเตเดี้ยมหลังขดหลังแข็ง แต่ได้รับเงินรายได้กลับมาแทบไม่พอยาไส้ แค่จ่ายค่าเช่าบ้านก็แทบไม่เหลือเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อแล้ว

     ฟังดูแล้วก็ชวนให้น่าน้อยใจในโชคชะตาอยู่เหมือนกัน

     และบางทีเงินจำนวนแค่ไม่กี่ปอนด์ที่เขาจะได้รับเพิ่มขึ้นจากเรื่องนี้มันมีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด

 

 

‘พลังหงส์แดง’ อีกแรงที่ขอทำให้สังคมดีขึ้น

     จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ The Real Living Wage Foundation และองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Citizens UK, The Football Supporters’ Federation, The Culture, Media and Sport Select Committee พยายามเรียกร้องให้สโมสรฟุตบอลดูแล ‘คนใกล้ตัว’ ที่อยู่เบื้องหลังพวกเขาให้ดีกว่านี้

     เพราะทุกฝ่ายเชื่อว่าสโมสรฟุตบอลมีความสามารถจะดูแลคนที่ช่วยงานได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้

     และมันเป็นสิ่งที่ควรจะทำด้วย

     ที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้ให้ความสนใจมากนักครับ โดยย้อนหลังไป 2 ปีก่อน ในปี 2015 หนังสือพิมพ์ The Independent ส่งแบบสอบถามให้แก่ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก โดยทุกสโมสรได้รับคำถามเดียวกันว่า ‘สโมสรได้จ่าย หรือให้คำมั่นที่จะจ่ายเงินตามค่าครองชีพให้แก่พนักงานพาร์ตไทม์และพนักงานที่มีสัญญากับสโมสรหรือไม่?’

     7 จาก 20 สโมสรไม่ตอบคำถาม หรือหากตอบก็บอกเพียงแค่ ‘no comment’

     มีเพียงแค่ 2 สโมสรคือ เอฟเวอร์ตัน และเชลซี ที่เซ็นยอมรับข้อตกลงในการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่สโมสรในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าครองชีพขั้นพื้นฐานตามการคำนวณของ The Real Living Wage

     โดยทางด้านเอฟเวอร์ตันเล็งเห็นว่า การสนับสนุนในเรื่องนี้นอกจากจะช่วยให้คนที่ทำงานให้แก่สโมสรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว มันยังส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวมอีกด้วย

     ล่าสุด ลิเวอร์พูลเป็นอีกทีมที่ประกาศยินดีที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของสโมสร และเจ้าหน้าที่ในวันแข่งขันตามอัตราค่าครองชีพที่เหมาะสม หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับ The Real Living Wage Foundation และทางด้านสตีฟ โรเธอแรม ผู้ว่าการเมืองลิเวอร์พูล

     ความแตกต่างระหว่างลิเวอร์พูล เอฟเวอร์ตัน และเชลซี อยู่ตรงที่ทีม ‘หงส์แดง’ จะจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ทุกคนโดยตรง ไม่ได้ผ่านบริษัทที่รับหน้าที่จัดหางานที่มีการ ‘หักหัวคิว’

     นั่นทำให้พวกเขาเป็นสโมสรแรกที่ดูแลสตาฟฟ์ตามแนวทางของ The Real Living Wage ด้วยตัวเอง

     ปีเตอร์ มัวร์ ประธานฝ่ายบริหารของสโมสรกล่าวว่า “เราหวังว่าความคืบหน้าในครั้งนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามองเห็นคุณค่าของคนที่ทำให้งานให้แก่สโมสรมากแค่ไหน ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานในส่วนใดก็ตาม

     “ในฐานะสโมสร เราจ่ายเงินตอบแทนให้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาหลายปี และเราเริ่มจ่ายเงินโดยตรงให้แก่ลูกจ้างของสโมสรที่ได้รับค่าตอบแทนตามค่าครองชีพที่แท้จริงมาตั้งแต่เดือนมืถุนายน ซึ่งการที่เราทำเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเรารู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ถูกบังคับ แต่เราอยากทำเพราะเรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องที่เราควรจะทำ”

     การจ่ายเงินตามค่าครองชีพที่แท้จริงนั้นจะทำให้ลิเวอร์พูลต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 1 ล้านปอนด์ครับ

     แต่ก็นั่นแหละครับ เงิน 1 ล้านปอนด์ที่จะเสียไปนั้นไม่ได้เป็นรายจ่ายที่มากมายอะไร เทียบได้กับเงินเดือนมหาศาลของนักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์ระดับท็อปคลาสแค่เพียงเดือนเดียวเท่านั้น

     โดยสิ่งที่สโมสรฟุตบอลจะได้รับกลับมาคือการทำงานที่สามารถคาดหวังได้ถึงประสิทธิภาพที่มากขึ้นของเจ้าหน้าที่ทุกคน

     มากกว่านั้นคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนที่ทำงานให้กับสโมสร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนในชุมชนนั่นเอง

     คุณค่าตรงนี้ไม่สามารถประเมินได้

     แต่สัมผัสได้อย่างแน่นอน 🙂

 

อ้างอิง:

FYI
  • ใน 92 สโมสรของฟุตบอลลีกของอังกฤษ (ลีกรองจากพรีเมียร์ลีก) และสกอตแลนด์ มีแค่ 3 สโมสรที่เข้าร่วมกับ The Real Living Wage คือ ลูตัน ทาวน์, ดาร์บี เคาน์ตี และฮาร์ทส ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก
  • เกือบทุกสโมสรใช้บริการเอเจนซีในการจัดหาคนทำงานในสนามฟุตบอล และแน่นอน ย่อมมีการหักหัวคิวกันบ้าง ยิ่งทำให้คนทำงานจริงๆ ได้รับค่าตอบแทนที่น้อยลงไปอีก โดยถึงจะมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่มากเท่าค่าครองชีพที่แท้จริง
  • ปัจจุบันในอังกฤษมีหน่วยงาน ห้างร้าน บริษัท ฯลฯ ที่เข้าร่วมกับ The Real Living Wage Foundation แล้วจำนวน 3,500 แห่ง เช่น เนสท์เล่, อิเกีย, อาวิวา
  • 93% ของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการนี้ระบุว่าได้ผลตอบรับที่ดี โดย 86% ระบุว่าองค์กรมีชื่อเสียงที่ดีขึ้น, 75% ระบุว่าพนักงานมีความกระตือรือร้นมากขึ้น และ 58% บอกว่าการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานระดับปฏิบัติการกับหัวหน้าดีขึ้นด้วย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising