×

Blue War เกมของมหาอำนาจลูกหนังเมืองผู้ดียุคใหม่

29.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • การพบกันของ เชลซี กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ในคืนวันเสาร์นี้ คือการพบกันของสองมหาอำนาจตัวจริงของวงการฟุตบอลอังกฤษในปัจจุบัน และเป็น Blue War ‘ศึกสีฟ้าคราม’ ที่มีโอกาสเป็นนิยามใหม่ของเกมลูกหนังเมืองผู้ดี
  • สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และไม่มีทีท่าว่าพวกเขาจะตกต่ำลงแต่อย่างใด
  • ในขณะที่สโมสรขั้วอำนาจเก่าบางทีมกำลังประสบความยากลำบากในการควานหาความสำเร็จ และตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว การจะกลับไปยืน ณ จุดที่เคยยืนอยู่กลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากใกล้เคียงกับคำว่าเป็นไปไม่ได้

     ด้วยความพันผูกที่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะสำหรับแฟนฟุตบอลชาวไทยหรือแฟนบอลจากทั่วโลก ไม่แปลกครับที่เราจะคุ้นชินกับภาพความทรงจำในการพบกันระหว่าง ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ว่าเป็นเกมที่ถือเป็น ‘ที่สุด’ ของศึกลูกหนังเมืองผู้ดี

     ​Red War สงครามสีแดง หรือศึก​ ‘แดงเดือด’ (ตามการตั้งชื่อของ กิตติกร อุดมผล หรือ ศิริอัครลาภ ตำนานนักเขียนลูกหนังผู้ยิ่งใหญ่) ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเกมหยุดโลกที่โลกพร้อมจะหยุดทุกอย่างเพื่อจับตาเกมคู่นี้ ไม่ว่าคุณจะเป็น ‘หงส์แดง’ ‘ผีแดง’ หรือไม่ก็ตาม

     ​อย่างไรก็ดี เมื่อวันผ่านเวลาเปลี่ยน ความเข้มข้นของเกมคู่นี้ก็เริ่มลดน้อยลงไปบ้าง ​จากสงครามสีแดงชาด ก็กลายเป็นสีหงชาด (ชื่อสีสกุลไทยโบราณที่อ่อนกว่า 1 เฉดโดยประมาณ)

     ​ถามว่าเกมระหว่างลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังเป็นเกมที่ทุกคนเฝ้ารออีกไหม? ก็ยังใช่ครับในเชิงของ ‘คุณค่า’

     ​แต่ในเรื่องของ ‘ความสำคัญ’​ แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพบกันของทีมอื่นๆ มี ‘ความหมาย’ มากกว่า

     ​เชลซี กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ในคืนวันเสาร์นี้เป็นหนึ่งในเกมเหล่านั้น และในความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ผมมองว่านี่คือการพบกันของสองมหาอำนาจตัวจริงของวงการฟุตบอลอังกฤษในปัจจุบัน

     นี่คือ Blue War ‘ศึกสีฟ้าคราม’ ที่มีโอกาสเป็นนิยามใหม่ของเกมลูกหนังเมืองผู้ดี

 

อาณาจักรโรมัน ความฝันของคนบ้าลูกหนัง
     ​ไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีกับความจริงที่ว่า เชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือ ‘ยักษ์’ ตนใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ

​     เพราะความจริงนั้นเจ็บปวดครับ สำหรับชาติที่อ้างตนว่าเป็น ‘แม่’ ของเกมฟุตบอลที่เราเห็นและเล่นกันในปัจจุบัน ชาติที่มีขนบ ธรรมเนียม ประเพณี และมีวิถีชีวิตผูกพันกับลูกกลมๆ มายาวนานมากกว่า 100 ปี การต้องทนเห็นทีมสโมสรฟุตบอลสักแห่งประสบความสำเร็จด้วยการใช้ ‘เงิน’ เป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก

     ​อย่าว่าแต่คนอังกฤษเลย เชื่อว่ากองเชียร์ลูกหนังที่มีอายุยาวนานกว่า 30 ปีขึ้นไปต่างก็ยากจะยอมรับเรื่องทำนองนี้

     เขาถือกันว่าการทำแบบนี้ไม่มีเกียรติ ไร้ซึ่งศักดิ์ศรี แค่มีเงินก็ทำได้

     ​แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จสูงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และไม่มีทีท่าว่าพวกเขาจะตกต่ำลงแต่อย่างใด
​     สำหรับเชลซียุคใหม่ เริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ตัดสินใจเทคโอเวอร์สโมสรดังแห่งลอนดอนเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2003 ด้วยเงินมูลค่า 140 ล้านปอนด์

     ​เงิน 140 ล้านปอนด์นั้นแบ่งเป็นเงินค่าหุ้นจำนวน 59.3 ล้านปอนด์ และหนี้สินอีก 80 ล้านปอนด์ที่ เคน เบตส์ เจ้าของสโมสรเดิมก่อไว้ จากนโยบายการทำทีมที่อู้ฟู่แต่ล้มเหลวที่จะยืนระยะและสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นทีมที่ล่มสลาย

     ​ในวันนั้นอับราโมวิชให้ ‘คำมั่น’​ ว่า เขาจะนำเชลซีให้ก้าวไปสู่การเป็นสโมสร ‘อีกระดับ’

     ไม่มีใครคิดว่าสิ่งที่มหาเศรษฐีจากดินแดนหลังม่านเหล็กซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ในเวลานั้นพูดจะเป็นเรื่องจริง

     ​แต่อับราโมวิชไม่ได้สักแต่พูดครับ เขาทำอย่างเอาจริงเอาจัง โดยใช้วิธีเดียวกับที่ เซอร์ แจ็ก วอล์กเกอร์ อดีตประธานสโมสรแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส เคยทำเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 90 และสามารถนำ ‘กุหลาบไฟ’ เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก แชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกและครั้งเดียวที่ชาวเมืองเฝ้ารอคอยมากว่า 81 ปี

     วิธีดังกล่าวคือการกว้านซื้อผู้เล่นฝีเท้าดีมาให้มากที่สุด อับราโมวิช อนุมัติงบประมาณมากกว่า 146 ล้านปอนด์ในปีแรกของการคุมทีม ซื้อผู้เล่นดาวดังอย่าง เดเมียน ดัฟฟ์, เฮอร์นัน เครสโป, ฮวน เซบาสเตียน เวรอน, โคลด มาเกเลเล่, อาเดรียน มูตู, สก็อตต์ ปาร์คเกอร์, เวย์น บริดจ์, โจ โคล, เกล็น จอห์นสัน, อเล็กเซ สเมอร์ติน, เฌเรมี เอ็นจิตัป, นีล ซัลลิแวน, มาร์โก อัมโบรซิโอ และอีกหลายรายมาร่วมทีม (ในขณะที่ฤดูกาล 2002-2003 ปีสุดท้ายที่ เคน เบตส์ เป็นเจ้าของใช้เงิน 0 ปอนด์!)

     ​ก่อนจะทุ่มเงินอีก 163 ล้านปอนด์ในปีถัดมา เพื่อให้ได้ตัว ดิดิเยร์ ดร็อกบา, ริคาร์โด คาวัลโญ, เปาโล แฟร์ไรรา, อาร์เยน ร็อบเบน, ปีเตอร์ เช็ก, ติอาโก้, ยาโรซิค, อเล็กซ์, มาเตยา เคซมัน

     ​รวมถึงยอดผู้จัดการทีมที่กำลังมาแรงที่สุดในเวลานั้นอย่าง โชเซ มูรินโญ และมีมันสมองอย่าง ปีเตอร์ เคนยอน ที่เคยปลุกปั้นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และยอดขุนพลอีกมากมายที่ทยอยตบเท้าเข้ามาใน ‘อาณาจักรโรมัน’

     ​การลงทุนดังกล่าวเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ที่สั่นสะเทือนวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างมาก อาจจะมากกว่าในยุคของแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ด้วยซ้ำ เพราะนี่เป็นเจ้าของสโมสรชาวต่างชาติ ที่มองหาจุดเชื่อมโยงได้ยากว่ามีเหตุผลอะไรที่อับราโมวิชจะต้องทำขนาดนี้ด้วย?

     ​เพื่อฟอกเงิน? เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง? เพื่อชื่อเสียง?

​ความจริงแล้วมันอาจจะเป็นแค่เหตุผลง่ายๆ ว่า อับราโมวิชคลั่งไคล้ในเกมกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล (เขายังเคยเป็นเจ้าของสโมสร ซี     เอสเคเอ มอสโก ในบ้านเกิดด้วย) ซึ่งเราได้เห็นจากสิ่งที่เขาพิสูจน์ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่เป็นเจ้าของสโมสรเชลซี ว่าเขา ‘จริงจัง’ และ ‘จริงใจ’ กับทีมฟุตบอลแห่งนี้แค่ไหน

​     ตรงนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินที่เขาใช้จ่ายไป

     ทุกครั้งที่เชลซีประสบปัญหาอะไร อับราโมวิชพร้อมจะยื่นมือเข้ามาจัดการให้ทุกอย่างเรียบร้อยโดยเร็ว ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่แค่ไหน หรือต่อให้เป็นเรื่องยากที่สุด เช่น การปลด ‘คนสนิท’​ อย่าง มูรินโญ และ อัฟราม แกรนท์ ออกจากตำแหน่งก็ตาม

     แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เชลซี ของอับราโมวิช ไม่ได้จบทุกอย่างแค่แชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรกในฤดูกาล 2004-2005 ซึ่งเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรกของเชลซีในรอบ 50 ปีด้วย

     ​เพราะหลังจากนั้น เชลซี คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้อีก 4 สมัย, แชมป์เอฟเอคัพ 4 สมัย, แชมป์ลีกคัพ 3 สมัย, แชมป์ยูโรปาลีก 1 สมัย และเหนืออื่นใดกับแชมป์ยอดปรารถนา ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ได้มาครอง 1 สมัย

     ​การเข้ามาของอับราโมวิชจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างเป็นทางการ กับการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจจากสโมสร ‘สีแดง’ อย่าง ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอาร์เซนอล มาสู่ทีมสีน้ำเงินครามอย่างเชลซี ​และในเวลาต่อมากับทีมสีฟ้าอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เดินตามรอยมาติดๆ



‘นาวาสีฟ้า’ กับการขยายอาณานิคมของอาบูดาบี

​     หนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่น่าเห็นใจมากที่สุดในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้คือทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรที่เก่าแก่แห่งนี้ตกอยู่ใต้เงาของทีมคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มายาวนาน นานจนแทบจำไม่ได้ว่าความสำเร็จครั้งสุดท้ายที่พวกเขาได้เคยสัมผัสนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร

     ​ความภูมิใจของพวกเขามีเพียงบทเพลง Blue Moon อันเป็นเพลงประจำสโมสร ​และคำว่า The People’s Club อันหมายถึงตัวตนของสโมสรที่เป็นสโมสรของแฟนบอลชาวเมืองแมนเชสเตอร์ที่แท้จริง ไม่ใช่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งและกอบโกยผลประโยชน์จากแฟนฟุตบอลที่มีทั่วโลกอย่างมากมาย

​     แต่ทุกอย่างของทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ เปลี่ยนไป นับตั้งแต่วันที่กิจการมีการเปลี่ยนผ่านจากมือของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มาสู่กลุ่ม อาบูดาบี กรุ๊ป (Abu Dhabi Group) หนึ่งในหน่วยลงทุนของรัฐอาบูดาบี ของชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน (Mansour bin Zayed Al Nahyan) เจ้าผู้ครองนคร เมื่อปี 2008

​     สถานการณ์ของแมนฯ ซิตี้ ในเวลานั้นไม่แตกต่างจากเชลซีในยุคปลายของ เคน เบตส์ พวกเขาเริ่มเป็นหนี้สินมหาศาล ภาพฝันที่เคยวาดไว้ในยุคที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรเป็นเพียงวิมานในอากาศ

​     หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในวันนั้น พวกเขามีโอกาสจะกลายเป็นทีมตกอับที่ดำดิ่งในความมืดมนอนธการเหมือนลีดส์ ยูไนเต็ด, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์, โคเวนทรี ซิตี้ และสโมสรดังอีกมากมายในอดีตที่ไม่เคยได้หวนกลับมาอีกเลย

​     การเข้ามาของกลุ่มทุนจากอาบูดาบี โดยมี คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค (Khaldoon Al Mubarak) รับหน้าที่ประธานสโมสร เป็นผู้บริหารสินทรัพย์ชิ้นนี้ ช่วยพลิกชะตาของแมนฯ ซิตี้ จากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างสิ้นเชิง

     ​พวกเขาต้องการให้ แมนฯ ซิตี้ ประสบความสำเร็จเหมือนเชลซี และไม่อิดออดที่จะเลียนแบบ ‘อับราโมวิช โมเดล’ เพื่อนำทีมไปสู่ความสำเร็จ

​     นักเตะระดับซูเปอร์สตาร์รายแรกที่เป็นการประกาศ ‘จุดยืน’ ของทุนจากอาบูดาบีคือ โรบินโญ ซูเปอร์สตาร์ทีมชาติบราซิลในเวลานั้นที่ย้ายมาจากเรอัล มาดริด ด้วยค่าตัว 32.4 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นค่าตัวสถิติของอังกฤษในเวลานั้น

     ​สิ่งสำคัญคือพวกเขาตัดหน้า โรบินโญ ได้จากเชลซีด้วย!

     นอกจากนี้ยังมี โจ, ไนเจล เดอ ยอง, เคร็ก เบลลามี, เวย์น บริดจ์ (ซึ่งย้ายมาจากเชลซี ด้วยเหตุผลที่เจ็บปวดเพราะทนอยู่ร่วมกับ จอห์น เทอร์รี ที่เป็นชู้กับภรรยาตัวเองไม่ได้), ฌอน ไรท์-ฟิลลิปส์, เชย์ กิฟเวน, ปาโบล ซาบาเลตา, แวงซองต์ กอมปานี ที่ย้ายมาในฤดูกาล 2008-2009 รวมแล้วปีแรก แมนฯ ซิตี้ ใช้เงิน 137 ล้านปอนด์

     ​และอีกหลายร้อยล้านปอนด์ที่ตามมา และผลตอบลัพธ์ที่ได้คือความสำเร็จเช่นกัน แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการก่อร่างสร้างตัวนานกว่า เชลซี ก็ตาม

     จากสโมสรที่ถูกดูแคลน ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เคยปรามาสพวกเขาก่อนที่จะพบกันในศึกคอมมิวนิตี้ชีลด์ ฤดูกาล 2011-2012 ว่าเป็น Noisy Neighbours หรือ ‘เพื่อนบ้านที่เสียงดังน่ารำคาญ’ เพราะในช่วงเวลานั้น แมนฯ ซิตี้ มีข่าวว่าจะได้ตัว เซร์คิโอ อเกวโร มาจากแอตเลติโก มาดริด และเคยทำแสบด้วยการขึ้นป้ายขนาดยักษ์ต้อนรับ คาร์ลอส เตเบซ อดีตกองหน้าขวัญใจแฟนปีศาจแดง (ซึ่งผลสุดท้ายแมนฯ ยูไนเต็ด พลาดแชมป์พรีเมียร์ลีกให้คู่ปรับร่วมเมืองที่ได้แชมป์จากประตูชัยของอเกวโรในช่วงทดเวลาบาดเจ็บนัดที่พบควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส) แมนฯ ซิตี้ ได้กลายเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จและน่าจับตามองมากที่สุดสโมสรหนึ่งของอังกฤษ

     ​อาจจะมีปัญหาเรื่องของความสม่ำเสมอ แต่อย่างน้อย แมนฯ ซิตี้ ก็ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกมาครอง 2 สมัยในรอบ 6 ปีหลังสุด

     และในฤดูกาลนี้พวกเขากำลังหวังจะกลับมาคว้าแชมป์ให้ได้อีกครั้งภายใต้การนำของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา สุดยอดโค้ชที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นดั่ง ‘สตีฟ จ็อบส์’​ แห่งวงการลูกหนัง



สู่การเป็น ‘Giants’ ที่แท้จริง
     จะเห็นได้ครับว่าทั้งเชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน หากไม่ใช่ก็นับว่าใกล้เคียงมาก

​     แนวทางนี้ยังเป็นแนวทางของการเป็นทีมฟุตบอลในระดับ Giants ของเกมฟุตบอลยุคใหม่ด้วยครับ

     ​จริงอยู่ครับที่การจะเป็นสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จนั้นมีหนทางมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากการทุ่มเงินมากมายมหาศาลแบบที่เชลซีและแมนฯ ซิตี้ ทำแล้วยังมีการสร้างทีมจากศูนย์ การปั้นดินให้เป็นดาว หรือแม้กระทั่งเรื่องราวแบบเทพนิยายเหมือนที่เลสเตอร์ ซิตี้ ทำได้เมื่อ 2 ปีก่อน

     ​แต่ดูเหมือนแนวทางที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จที่ง่ายที่สุดยังเป็นการทุ่มเงินลงไป โดยที่หากประสบความสำเร็จแล้วครั้งหนึ่ง มันมีโอกาสง่ายขึ้นที่จะประสบความสำเร็จอีก และเมื่อความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สโมสรฟุตบอลนั้นก็จะยกระดับตัวเองจนกลายเป็นสโมสรฟุตบอลในระดับสูงสุดที่พร้อมประสบความสำเร็จซ้ำแล้วซ้ำอีก

     ​เรื่องราวเหล่านั้นจะค่อยๆ กลายเป็น ‘ประวัติศาสตร์’ ไปเอง และสถานะของสโมสรก็ได้รับการยอมรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ​สังเกตได้จากเหล่าซูเปอร์สตาร์ที่จากเดิมไม่มีใครสนใจ หรือกล้าย้ายมา (ริคาร์โด กาก้า เคยปฏิเสธแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพราะไม่อยากลดตัวลงมา) ปัจจุบันซูเปอร์สตาร์พร้อมจะเลือกย้ายมา สแตมฟอร์ด บริดจ์ หรือ เอติฮัด สเตเดียม ทันทีที่รู้ว่าสองทีมนี้สนใจ

     ​นอกเหนือจากการทุ่มเงินไปกับการซื้อผู้เล่น เชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยังจ่ายเงินอีกมหาศาลในการวางรากฐานโครงสร้างของสโมสรใหม่หมด โดยเฉพาะระบบทีมเยาวชน ศูนย์ฝึก ทำให้เวลานี้สองทีมนี้มีขุมกำลังสำรองมากที่สุด

     ​สิ่งที่เป็นสัญญาณบวกคือการที่เชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ผลัดกันประสบความสำเร็จในระดับเยาวชน โดยนักเตะเยาวชนที่ปั้นขึ้นมาก็สามารถถูกขายต่อหรือส่งให้สโมสรอื่นยืมไปใช้งานได้ด้วย ระหว่างรอโอกาสว่าจะสามารถสอดแทรกขึ้นทีมชุดใหญ่ได้หรือไม่

     ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ภายใต้การนำของทุนจากกาตาร์ เป็นอีกหนึ่งสโมสรที่เดินตามแนวทางนี้ และเวลานี้พวกเขาใกล้เคียงกับจุดสูงสุดของโลกลูกหนังขึ้นไปทุกที

​     ทีมที่พยายามจะต่อกรและมีโอกาสจะทวงคืนทุกอย่างได้มีเพียง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มหาอำนาจเก่าที่ปรับตัวได้ดีขึ้นหลังสิ้นยุคของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าพวกเขาจะมีพลังอีกสักกี่ก๊อกในการไล่เบียดบี้กับเชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในระยะยาว

     ​ขณะที่ทีมที่สร้างขึ้นด้วยแนวทางโมเดลลูกหนังที่ทันสมัยและหวังว่าจะยั่งยืนอย่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เองก็ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จสูงสุด และความสำเร็จนั้นจะยั่งยืนในเมื่อนักฟุตบอลที่ดีที่สุดของพวกเขาพร้อมจะถูกสโมสรยักษ์ใหญ่อื่นๆ ดึงตัวไปเสมอ

     ​ในขณะที่สโมสรขั้วอำนาจเก่าบางทีมกำลังประสบความยากลำบากในการควานหาความสำเร็จ และตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว การจะกลับไปยืน ณ จุดที่เคยยืนอยู่กลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากใกล้เคียงกับคำว่าเป็นไปไม่ได้

     สิ่งสุดท้ายที่ทำได้อาจมีเพียงการประโลมหัวใจด้วยการรำลึกถึงความหลังและความทรงจำในวันวาน

     ดังนั้นแม้ว่าสถานะของเกม ‘แดงเดือด’ จะยังอยู่สูงกว่าด้วยความผูกพัน แต่มันมีโอกาสที่จะไม่มีอะไรมากกว่าความทรงจำที่ดี

​     เมื่อวงการฟุตบอลอังกฤษอยู่ในมือของ 2 มหาอำนาจรุ่นใหม่

     และมีโอกาสที่สักวันเราจะยอมรับการพบกันของคู่นี้ว่าเป็น ‘ที่สุด’ นัดหนึ่งของเกมฟุตบอล​

 

อ้างอิง:

FYI
  • 14 ปีหลังเทกโอเวอร์เชลซี โรมัน อับราโมวิช ใช้เงินซื้อนักฟุตบอลไปแล้ว 1,435 ล้านปอนด์ (ราว 64,104 ล้านบาท)
  • ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลุ่มทุนอาบูดาบี ใช้เงินซื้อผู้เล่นไปแล้วกว่า 1,319 ล้านปอนด์ (ราว 58,922 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 9 ปีในเอติฮัดสเตเดียม
  • ทั้งเชลซี และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกจับตามองจากองค์กรที่ควบคุมดูแลโลกลูกหนังทั้ง ฟีฟ่า (FIFA) และ ยูฟ่า (UEFA) ว่าเป็น ‘ภัย’ ต่อเกมลูกหนัง ซึ่งก็มีการตรากฎ Financial Fair Play เพื่อควบคุมขึ้น แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising