×

กระแส T-Pop กลับมาร้อนแรง! GMM Music เดินหน้าลงทุนผลิตเพลง ‘ป๊อป-ร็อก-ลูกทุ่ง’ เล็งส่ง ‘ศิลปินป๊อปไอดอล’ อีก 15-20 คนเข้าสู่วงการ

08.03.2023
  • LOADING...
GMM Music

ธุรกิจเพลงกลับมาคึกคักอีกรอบ! ‘GMM Music’ เคลื่อนทัพลงทุนปั้นศิลปินหน้าใหม่ ผลิตเพลง ‘ป๊อป-ร็อก-ลูกทุ่ง’ ป้อนตลาด ก่อนแย้มเดบิวต์ศิลปินป๊อปไอดอลสู่ตลาดรวดเดียว 15 คน ด้านฝั่งคอนเสิร์ตปีนี้จัดเต็ม Music Festival-Indoor Concert จับฐานแฟนคลับทั่วประเทศ ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 โตกว่า 25%   

 

เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้อุตสาหกรรมเพลงและคอนเสิร์ตกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะกระแสเพลง T-Pop และเพลงทั้งยุคใหม่และยุคเก่า เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น แน่นอนว่าทำให้ GMM Music มองเห็นโอกาสขยายการเติบโต และพร้อมยกระดับเพลงไทยให้ไปไกลถึงระดับโลก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจเพลงและคอนเสิร์ต จะเห็นว่าไม่ได้จัดงานและฝั่งศิลปินก็ไม่มีงาน เพราะร้านผับบาร์ปิดให้บริการ ที่สำคัญลูกค้าหรือสปอนเซอร์ลดงบโฆษณาลง ส่งผลให้กำไรลดลง แต่ยังไม่ถึงขั้นขาดทุน

 

ในช่วงนั้น GMM Music ปรับตัวหันมาให้ความสำคัญกับ Digital Business หรือเรียกว่าการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ และในช่วงนั้นทีมงานได้เตรียมแผนงานไว้รองรับหลังโควิดคลี่คลาย และเมื่อทุกอย่างค่อยๆ ฟื้นตัว จะเห็นว่าธุรกิจ Showbiz ได้จัดงานคอนเสิร์ต ทั้งมิวสิกเฟสติวัลและงานคอนเสิร์ตศิลปินกลุ่มและศิลปินเดี่ยวทันที

 

ทำให้ในปี 2565 สามารถกลับมามีกำไร 355 ล้านบาท เติบโต 67% ด้วยรายได้รวมสูงถึง 3,043 ล้านบาท โดยมาจากกลุ่มธุรกิจที่ประกอบไปด้วย Digital Business 1,089 ล้านบาท ตามด้วยธุรกิจ Right Management Business 236 ล้านบาท, ธุรกิจ Showbiz 542 ล้านบาท และ Live Show 410 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอีกหนึ่งกลุ่มคือ ‘มิวสิกคอนเทนต์’ หรือการผลิตเพลงและศิลปิน ที่ผ่านมาเพลงของ GMM Music ได้สร้างการเติบโตในทุกแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยที่ผ่านมามียอดสตรีมทั้งหมด 14,000 ล้านการสตรีม มาจากการสร้างเพลงใหม่ 404 เพลง ซึ่งหากแยกประเภทของแนวเพลงที่ได้รับความนิยม เป็นเพลงร็อก 40%, เพลงลูกทุ่ง 32% และเพลงป๊อป 14%

 

แม่ทัพใหญ่ GMM Music กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ว่ามุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม Big Data ตามด้วยการใช้ Machine Learning และ AI เข้ามาสนับสนุนฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย และฝ่าย Showbiz เพิ่มความแม่นยำในการกำหนดปริมาณการซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่างๆ ได้  

 

“แม้ปัจจุบันเรามีฐานข้อมูลศิลปิน แฟนคลับ และแบรนด์สินค้าจำนวนมาก ก็ยังไม่พอ ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตสู่การเป็น Entertainment Big Data ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ”  

 

อีกทั้งยังเตรียมผลิตเพลงใหม่เพิ่มเป็น 500 เพลง, 32 อัลบั้ม, 160 ซิงเกิล, 5,000 เพลย์ลิสต์ต่อปี ควบคู่กับการสร้างศิลปินหน้าใหม่ทุกแนวเพลง ทั้งป๊อป ร็อก และลูกทุ่ง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นศิลปินหน้าใหม่ๆ เริ่มตั้งแต่ Paper Planes, Three Man Down และโจอี้ ภูวศิษฐ์ ที่ใช้เวลาเพียง 2 ปี สร้างฐานแฟนคลับได้จำนวนมาก ซึ่งถ้าเทียบกับในอดีตการสร้างศิลปินให้แจ้งเกิดในตลาดได้ใช้เวลาค่อนข้างนาน 

 

เรียกได้ว่าธุรกิจเพลงยังมีโอกาสเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรม T-Pop วันนี้ทั้งค่ายเล็กและใหญ่ผลิตผลงานเพลงออกมาอยู่เป็นระยะๆ แต่หากจะสร้าง T-Pop ให้เกิดได้และไปไกลระดับโลก จะต้องใช้เวลาฝึกฝนอีกมาก 

 

“เราได้ให้ความสำคัญมาตลอด ที่ผ่านมาบริษัทยังใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท สร้างเครือข่าย Recruitment เฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัด ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ และเร็วๆ นี้เตรียมเดบิวต์ศิลปินป๊อปไอดอลออกสู่ตลาดมากกว่า 15-20 คน คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” 

 

เช่นเดียวกับธุรกิจ Showbiz ในปี 2566 เตรียมจัดงานคอนเสิร์ตไปในพื้นที่ภูมิภาคทั่วไทย ทั้งในรูปแบบ Music Festival และ Indoor Concert เช่น เชียงใหญ่เฟส จับฐานแฟนคลับภาคเหนือ, บิ๊กเมาน์เท่น มิวสิค เฟสติวัล จับฐานแฟนคลับภาคกลาง, พุ่งใต้เฟส จับฐานแฟนคลับภาคใต้ และเฉียงเหนือเฟส จับฐานแฟนคลับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกงานสเกลระดับหมื่นคน โดยประเมินว่าการจัดงานทั่วประเทศจะทำให้มีผู้ซื้อบัตรไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน 

 

พร้อมยังเตรียมจัดงานคอนเสิร์ตรูปแบบใหม่ๆ เช่น งานสงกรานต์ ฮาโลวีน และงาน LGBTQIA+ ที่สำคัญยังได้เริ่มทดลองเป็นโปรโมเตอร์จัดงานคอนเสิร์ตและแฟนมีตศิลปินประเทศเกาหลี และจากนี้คาดว่าอย่างน้อยต้องมี 4 งานต่อปี เพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆในอนาคต 

 

ภาวิตยังกล่าวถึงราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างประเทศ แต่วันนี้ฐานคนดูในไทยส่วนใหญ่ 50% จะเลือกซื้อบัตรคอนเสิร์ตเฟสติวัลที่ราคาเข้าถึงง่าย แต่ในทางกลับกันการใช้จ่ายในงานค่อนข้างสูง ซึ่งเชื่อว่าก็จะมีทั้งกลุ่มที่มีกำลังซื้อและยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

 

ทั้งนี้ในปี 2566 GMM Music ตั้งเป้าสร้างรายได้ 3,800 ล้านบาท เติบโต 25% และอนาคตธุรกิจ Digital และ Showbiz จะเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุด และต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

 

“แม้วันนี้ GMM Grammy จะอยู่ในตลาดมากว่า 40 ปี จนปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์เพลงฮิตอันดับ 1 อยู่ 40% ขณะที่คู่แข่งอยู่ที่ 4-8% ซึ่งต้องบอกว่าหมดยุคที่ค่ายเพลงต้องมาแข่งขันกันเองแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างศิลปินหน้าใหม่ๆ และต้องไม่ทิ้งศิลปินเก่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตไปถึงระดับโลกได้” ภาวิตกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X