×

ดนตรีไทยจะไประดับโลก! จับตา T-Pop คลื่นลูกใหม่ที่หวังเดินตามรอย K-Pop ดันรายได้รวมอุตสาหกรรมบันเทิงทะลุ 6 แสนล้านในปี 2568

22.07.2022
  • LOADING...
T-POP

ดนตรีไทยจะไประดับโลก! หากพูดเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีก่อนอาจจะเป็นเรื่องที่ไกลเหมือนฝัน แต่ในวันนี้ T-Pop กำลังเป็นที่จับตามองในฐานะดาวรุ่งดวงใหม่ของวงการเพลง ที่มีโอกาสจะก้าวไปอยู่ในใจของแฟนเพลงชาวเอเชียและแฟนเพลงทั่วโลกเหมือนดนตรี ‘K-Pop’ ซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถโกยเงินรายได้กลับมาให้ประเทศได้อย่างมากมายมหาศาล

 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันเล่นๆ เมื่อ Nikkei Asia รายงานข่าวความโดดเด่นของวงการดนตรีไทยที่กำลังรุกคืบในพื้นที่หัวใจของแฟนๆ ต่างประเทศ โดยมีตัวอย่างจากปรากฏการณ์ของ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ที่ดังระดับโลกยาวนานมาหลายปี สู่ ‘MILLI’ ศิลปินแรปสาวสุดแสบในเวลานี้

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้วงการดนตรี T-Pop เริ่มน่าจับตามองว่าจะสามารถก้าวเดินตามรอย K-Pop ของเกาหลีใต้ ที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเจาะเข้ากลางใจของแฟนเพลงทั่วโลกได้ ไม่เว้นแม้แต่ทางตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา

 

ซึ่งบอยแบนด์ดังอย่าง BTS เคยทำเงินรายได้มหาศาลถึง 1.43 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 4.8 หมื่นล้านบาท พร้อมสร้างตำแหน่งงานกว่า 7,900 ตำแหน่งจากซิงเกิลฮิต ‘Dynamite’ แค่เพลงเดียว ซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษาให้รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวขอนำมาถอดบทเรียนเบื้องหลังของความสำเร็จเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สื่อที่ส่งตรงถึงกลางใจผู้ฟังได้เพียงปลายนิ้วมือสัมผัส และบริการมิวสิกสตรีมมิง ทำให้ผลงานเพลงสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังหลายล้านคนได้อย่างง่ายดาย และมีโอกาสที่เพลงจะฮิตได้โดยที่ศิลปินอาจไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ

 

เรื่องนี้ศิลปินที่มีประสบการณ์ในวงการเพลงมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษอย่าง ‘แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข’ ยอมรับกับ Nikkei Asai ว่า ในวัย 40 ปีเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเพลง ‘Nobody Knows’ ของเขาจึงกลายเป็นเพลงที่ถูกนำไปใช้ใน TikTok

 

“มันเหมือนกับแดนสนธยา”​ แสตมป์ให้ความเห็น “ศิลปินถูกค้นพบบนอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มสตรีมมิงทั่วโลก ลองดูกรณีของ MILLI ที่ Coachella เธอไม่ได้ตั้งใจที่จะไปให้ถึงระดับอินเตอร์ด้วยซ้ำ แต่ชื่อเสียงค้นพบเธอก่อน”

 

สำหรับ MILLI หรือ ดนุภา คณาธีรกุล แรปเปอร์สาววัย 19 ปี กลายเป็นอีกหนึ่งศิลปินไทยที่เริ่มมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ หลังจากที่ได้ขึ้นแสดงในเวที Coachella พร้อมกับการหม่ำข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที 

 

ก่อนที่ล่าสุดจะได้ขึ้นเวทีฟีเจอริงกับ ‘พี่แจ็ค’​ Jackson Wang ศิลปิน K-Pop ชื่อก้องโลก ในศึก ‘THE MATCH’ และนำไปสู่การพูดถึงเรื่อง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของดนตรีที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้

 

ในกรณีของดนตรี K-Pop นั้นทางภาครัฐของเกาหลีใต้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่ดนตรี แต่รวมถึงผลงานภาพยนตร์และละครที่เป็นเหมือนการประชาสัมพันธ์ประเทศในทางอ้อม กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ดี ความผูกพัน และนำไปสู่การอยากสนับสนุนประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยวหรืออุดหนุนผลงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม

 

ขณะที่ประเทศไทยได้เริ่มเดินตามเช่นกัน โดยระยะหลังละครที่ถูกซื้อไปฉายยังต่างประเทศเริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงและกำลังเป็นปรากฏการณ์ อย่างเรื่อง ‘เพราะเราคู่กัน (2gether)’ ที่ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายในญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ซึ่งผลต่อเนื่องที่ตามมาคือ การที่แฟนๆ ละครเหล่านี้เริ่มหันมาให้ความสนใจวงการดนตรีของไทยไปด้วย

 

“ละครเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และเราก็สอดแทรก T-Pop เข้าไปด้วยการใช้เป็นเพลงประกอบละครไทยเหล่านี้” วิชชุลี โชติเบญจกุล เจ้าหน้าที่สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งจัดงานเทศกาลดนตรี Thai Pop Festival เมื่อเดือนพฤษภาคม กล่าวต่อ Nikkei Asia

 

“รัฐบาลไทยต้องการให้ดนตรี T-Pop มีชื่อเสียงระดับโลก และอุตสาหกรรม T-Pop ก็ต้องการแบบนั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งด้วยศักยภาพที่สูงและเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร พวกเขามีโอกาสจะไปได้ไกล”

 

โดยเป้าหมายของอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น PwC บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกคาดการณ์ว่า จะทำเงินรายได้มากถึงกว่า 600,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2568

 

ในอีกซีกโลกหนึ่ง ดนตรีไทยก็ไปถึงหัวใจแฟนเพลงชาวละตินแล้วเมื่อ ข้าวสาร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ค่ายเพลงไทยได้ส่งศิลปินวง ‘4MIX’ เจาะตลาดแฟนเพลงกลุ่มลาตินอเมริกา ผ่านความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ที่ช่วยประสานจัดงานคอนเสิร์ตที่มีแฟนๆ มาร่วมงานหลายร้อยคน

 

“เราเริ่มจากสิ่งที่เราชอบก่อน กับคอนเซปต์ของวง LGBTQIA+ ดนตรี การแสดง ทำนอง ทุกอย่างมันเข้ากับตัวตนของแฟนๆ ที่นี่” นินจา-จารุกิตต์ คำหงษา นักร้องนำของวง 4MIX กล่าว โดยหลังจากที่ไปเยือนเม็กซิโกแล้ว สมาชิกของวงได้เรียนภาษาสเปนเพื่อที่จะร้องเพลง ‘Roller Coaster’ เป็นภาษาสเปน นอกจากนี้ยังเคยขึ้นแสดงบทเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นในการแสดงเทศกาลดนตรีแบบวิชวล ที่มีแฟนๆ มาชมมากกว่า 80,000 คน และมีผู้ชมจากในญี่ปุ่นและทั่วโลกรวมกว่า 360,000 ครั้ง

 

“แฟนๆ ในอเมริกาโพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า เรากำลังเรียนภาษาไทยเพื่อพวกคุณนะ” ราเมศวร์ เกียรติสุขอุดม เล่าถึงความคลั่งไคล้ของแฟนๆ

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง ที่แม้แต่มือเก๋าในวงการอย่าง แสตมป์ อภิวัชร์ เองก็ยอมรับว่าเขาต้องขอคำแนะนำจากรุ่นน้องอย่าง 4MIX เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้จะเคยรู้ว่าคุณภาพของดนตรีคือสูตรสำเร็จที่จะก้าวผ่านกำแพงด้านภาษา แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือจังหวะการปล่อยเพลงที่ต้องถูกที่และถูกเวลาด้วย ซึ่งบางครั้งอาจต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งเหนือธรรมชาติ

 

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการลองผิดลองถูก” แสตมป์กล่าวถึงอุตสาหกรรมดนตรีไทย “เรากำลังพยายามค้นหาตัวตนในฐานะของศิลปินเพลงป๊อปไทย และเราจะเป็นหนึ่งเดียวกันในเวทีดนตรีระดับสากล”

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising