×

‘GMM Grammy’ ชี้กระแส T-Pop ยังไปต่ออีกไกล เผยแม้เจออุปสรรคก็ยังมีโอกาสโต เพียงแต่ต้องใช้เวลานานถึงจะตาม K-Pop ทัน

09.12.2022
  • LOADING...
GMM Grammy

GMM Grammy ชี้กระแส T-Pop ไม่ได้หายไป เพียงแต่ความนิยมคนเปลี่ยน แม้เจออุปสรรคยังมีโอกาสเติบโต ค่ายเพลงต้องสร้างความแตกต่าง ผลิตผลงานเข้าตอบโจทย์ความนิยมของคนรุ่นใหม่ แย้มอาจต้องใช้เวลาถึงจะตาม K-Pop ได้ทัน 

 

หากพูดถึงกระแส T-Pop นั้นเป็นที่นิยมมาหลายยุคสมัย โดยเฉพาะช่วงที่ค่ายอาร์เอสได้เปิดตัวศิลปิน Kamikaze, 3.2.1, K-OTIC เรียกได้ว่าออกผลงานเพลงมาเมื่อไรก็ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ในช่วงนั้นกระแส K-Pop หรือเพลงเกาหลียังไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลในไทยมากนัก จึงทำให้ T-Pop เป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ไม่นานอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปิดช่องทางให้คนสื่อสารกันได้ทั่วโลก เปิดโอกาสให้เลือกเสพคอนเทนต์ได้หลากหลาย จนทำให้กระแส K-Pop เริ่มเข้ามาทำตลาดและสร้างฐานแฟนเพลงได้ค่อนข้างมาก ทำให้กระแส T-Pop เริ่มเงียบไประยะหนึ่ง และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพลงไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เริ่มมีค่ายเพลงและศิลปินหน้าใหม่ปล่อยผลงานออกมาต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตขึ้น โดยมีมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านบาท

 

กระแส T-Pop ไม่ได้หายไป เพียงแต่ความนิยมคนเปลี่ยน 

โชคชัย ณ ระนอง ผู้บริหารทีม POP Idol ค่าย White Fox ในเครือ GMM Grammy กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ถ้าพูดถึง T-Pop 80-90% จะถูกนิยามว่าเป็นวงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป เพราะเห็นจากความนิยมในช่วงยุคแกรมมี่และอาร์เอสสมัยก่อนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก 

 

แต่ปัจจุบันกระแสไม่ได้วูบไป เพียงแต่ความนิยมของคนเปลี่ยนไปนิยมเพลง K-Pop ของต่างชาติมากขึ้น จึงทำให้เพลง T-Pop เริ่มจางไปบ้าง

 

แต่ในความเป็นจริงวงการเพลง T-Pop ทั้งค่ายเล็กและค่ายใหญ่มีการผลิตผลงานเพลงออกมาอยู่เป็นระยะๆ เพียงแต่ความนิยมของคนฟังอาจจะไปนิยมเพลงร็อก เพลงลูกทุ่ง และ K-Pop ในช่วงนั้น ประกอบกับสถานการณ์โควิดเข้ามาทำให้ผู้ผลิต T-Pop เจออุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงาน การถ่ายทำเอ็มวี และการโปรโมตเข้าไปถึงฐานคนดูได้น้อยลง

 

จนกระทั่งทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ค่ายเพลงเริ่มกลับมาลงทุนผลิตผลงานใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้น พร้อมจัดรายการประกวดหาวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ ทำให้กลุ่มคนที่เคยไปชื่นชอบ K-Pop หันมาสนใจ T-Pop มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น 

 

T-Pop ต้องใช้เวลาถึงจะตามกระแส K-Pop ได้ทัน

โชคชัยกล่าวต่อไปว่า การจะตามกระแส K-Pop ได้ต้องใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะค่ายเล็กที่มีอุปสรรคเรื่องการลงทุน ทำให้การออกผลงานเพลงใหม่ๆ ไม่ได้ถี่มากนัก 

 

ยิ่งไปกว่านั้นไม่ว่าค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก จะร่วมมือกันก็ไม่สามารถขึ้นไปอินเตอร์เนชันแนลป๊อป ซึ่งถ้าเทียบกับ K-Pop ที่เป็นกระแสทั่วโลกได้ เพราะสามารถออกเพลงได้ถี่กว่า พร้อมทั้งมีองค์ประกอบโปรดักชันอย่างครบวงจร 

 

สำหรับไทยเอง หากภาครัฐมีนโยบายเข้ามาช่วยสนับสนุนการผลิตศิลปิน เชื่อว่าจะช่วยให้ตามได้เร็วมากขึ้น

 

โอกาสการเติบโต T-Pop ต้องสร้างความแตกต่าง 

ถ้าทุกอย่างพร้อมก็มีโอกาสเติบโตอย่างมาก เพราะต่างชาติสนใจคนไทยมากขึ้น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อย่าง MILLI แรปเปอร์หญิงชาวไทย สามารถโด่งดังไปถึงระดับโลกได้ พร้อมแสดงถึงความเป็นไทย ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมาก 

 

เช่นเดียวกับค่าย White Fox ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มุ่งพัฒนาศิลปินฝึกหัด เริ่มสร้างผลงานเพลงตั้งแต่ปี 2020 ประเดิมด้วย มัจฉา ศิลปินป๊อปแดนซ์ และในช่วงกลางปี 2022 ได้เปิดตัว Boy Solo คนแรกของค่าย คิน-ธนชัย ศักดิ์ชัยเจริญกุล พร้อมปล่อยเพลงแรก อยู่คนเดียวมันเหงา ยอดวิวทะลุ 2 ล้านใน 2 วัน พร้อมกับการเปิดตัว ALALA (อาลาล่า) 4 สาวเกิร์ลกรุ๊ป ถือว่าได้รับความสนใจและสามารถผลักดันวงการ T-Pop ได้อย่างมาก 

 

“เราอยากให้นิยาม T-Pop ไม่จำเป็นต้องแมสอย่างเดียว เราต้องสร้างความแตกต่างในมุมของเพลงและตัวศิลปิน เพื่อขยายตลาดใหม่ๆ”

 

อย่างไรก็ตาม ภายใน 3-5 ปี White Fox ตั้งเป้าเจาะตลาดต่างประเทศ โดยสิ่งสำคัญต้องทำตลาดไทยให้ชัดเจนก่อน ส่วนการส่งออกผลงานจะต้องมีคุณภาพ

 

พฤติกรรมคนไทยชอบเร็ว-เบื่อเร็ว กระทบผู้ผลิต

ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมเบื่อเร็ว ถือว่ากระทบผู้ผลิตโดยตรง เพราะกว่าศิลปินจะสร้างผลงานได้ 1 เพลงใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ถ้าเพลงออกมาแล้วฮิตติดกระแสถือว่าโชคดีไป แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าในระยะครึ่งเดือนคนก็เบื่อแล้ว

 

ดังนั้นในมุมของ White Fox จึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเพลงเพราะ เน้นฟังได้ระยะยาว ไม่จำเป็นต้องฮิตมาก เพราะวันนี้กระแสมาเร็วไปเร็ว โดยเฉพาะกระแสใน TikTok ยิ่งไปเร็วมาเร็ว ถ้าทำเพลงตามกระแสยิ่งจะตามไม่ทัน แต่เราเชื่อว่าการทำเพลงเพราะอาจไม่ฮิตทันที แต่ 1-2 ปีหลังจากนั้นจะได้รับความนิยมแน่นอน 

 

GMM Grammy เร่งขับเคลื่อนตลาดเพลงป๊อปในไทยให้เทียบเท่าสากล

ด้าน หทัย ศราวุฒิไพบูลย์ รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่าย-หน่วยงาน IDOL บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กระแส T-Pop ไม่เคยหายไป แต่เหมือนฮิตเป็นช่วงๆ มากกว่า เนื่องจากปัจจุบันช่องทางการเข้าถึงคอนเทนต์มีหลากหลาย จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายกระจายไป

 

จากผลสำรวจตลาดเพลงไทย พบว่าคนไทยฟังเพลงไทย 78% แบ่งเป็นเพลงป๊อป 32% ตามด้วยเพลงลูกทุ่ง 48% และ Main Stream 52% แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพลงป๊อปมีการเติบโตอย่างมาก เห็นได้จากศิลปินรุ่นใหม่ สร้างเพลงฮิตออกมาสู่ตลาดต่อเนื่อง

 

ขณะที่จีเอ็มเอ็มได้พัฒนาศิลปินกลุ่มใหม่ภายใต้หลักสูตร GMM Academy

เทรนนิ่งไม่ต่ำกว่า 4,000 ชั่วโมง ก่อนที่จะได้เดบิวต์ออกมาเป็นศิลปิน รวมถึงค่ายเพลง G’NEST (จีเนส) ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเจเนอเรชันใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายทั้งรสนิยมการฟังเพลงและไลฟ์สไตล์ มาร่วมกันขับเคลื่อนตลาดเพลงป๊อปในไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับสากล

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า T-Pop จะยังคงเป็นกระแสในโลกโซเชียล และสามารถขยายการเติบโตได้ในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X