×

“ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีพันธมิตร” ทางออกธุรกิจ 5G แบบ Huawei ประเดิมสวิส สู่โมเดลธุรกิจทั่วโลกและไทย

29.10.2019
  • LOADING...
Huawei 5G

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เทคโนโลยี 5G ไม่ใช่แค่ทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น แต่ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการใช้งานในยุคดิจิทัล ทั้งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น การกระจายสัญญาณเพื่อเข้าถึงในแต่ละพื้นที่ (0 Distance) และสร้างมูลค่าทางธุรกิจใหม่ๆ
  • Huawei แนะรัฐออกนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ พิจารณาการตั้งราคาที่ยืดหยุ่น สนับสนุนการก่อสร้างไซต์สัญญาณ และเน้น Infrastructure Sharing 
  • Huawei ไม่หวั่นปัญหาการเมือง ชูโมเดลยุโรป ควงแขนพันธมิตรคว้าสัญญา 5G ทั่วภูมิภาค 

การแข่งขันในกลุ่ม Tech Company รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่ง Huawei เป็นค่ายยักษ์ใหญ่ของจีน จึงต้องเจอปัญหาพ่วงจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ดังนั้นทางออกที่จะทำให้ Huawei ยึดพื้นที่แนวหน้าของธุรกิจโทรคมนาคมหนีไม่พ้นการพัฒนาเรื่อง 5G 

 

ยิ่งตอนนี้ Huawei มีสัญญา 5G ทั่วโลกกว่า 50 ฉบับ แต่จะเปลี่ยนสัญญาให้กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ใช้ทั่วโลกอย่างไร 

 

Huawei 5G

 

‘Sharing’ โมเดลธุรกิจ 5G ต้องมีพันธมิตร เอกชน-ภาครัฐต้องไปด้วยกัน

เคน หู รองประธานบริหาร Huawei กล่าวในงาน Global MBB Forum 2019 ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าตั้งแต่ปี 2017 ที่ 5G เกิดขึ้นและเริ่มขยายใช้งานจริงในหลายประเทศ โดยประเทศเกาหลีใต้เริ่มใช้ 5G Commercial (5G ในระดับอุตสาหกรรม) เป็นที่แรกในโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 3.5 ล้านคน และภายในสิ้นปี 2019 นี้จะเกิด 5G Commercial ถึง 60 เครือข่ายทั่วโลก 

 

ทั้งนี้โซลูชันและบริการที่ต่อยอดจากเทคโนโลยี 5G จะพัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้น ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้ร่วมกันได้ (เช่น ใช้ในการก่อสร้างไซต์สัญญาณ ฯลฯ) ทั้งระหว่างพันธมิตร ภาคเอกชน และภาครัฐ ล่าสุดเปิดตัว ศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือ 5G สำหรับยุโรปแห่งแรกในเมืองซูริก ปัจจุบัน Huawei มีพันธมิตรในยุโรปและทั่วโลก เช่น GSMA, Sunrise, Telefónica, China Mobile ไปจนถึงรัฐบาลจีนและกระทรวงต่างๆ ในยุโรปที่พัฒนาธุรกิจร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายต่างๆ ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของ 5G กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2020 มีกรณีการใช้งาน 5G จริงทั้งในหลายอุตสาหกรรมที่สวิตเซอร์แลนด์ เช่น AR/VR, Smart Farming, Smart Manufacturing, Smart Resorts ฯลฯ

 

“เทคโนโลยี 5G ไม่ใช่แค่ทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น แต่ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการใช้งานในยุคดิจิทัล ทั้งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น การกระจายสัญญาณเพื่อเข้าถึงในแต่ละพื้นที่ (0 Distance) และสร้างมูลค่าทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างที่เกาหลีใต้เปิดบริการ AR/VR ที่ใช้ 5G ถ่ายทอดสดกีฬาด้วยภาพคมชัดระดับ HD แบบ 360 องศา รวมถึงการยกระดับการสื่อสารความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ” 

 

จิ๊กซอว์ใหญ่ 5G ภาครัฐต้องมีนโยบายเอื้ออำนวยแบบไหน  

แม้ว่าเทคโนโลยี 5G จะพัฒนาอุปกรณ์โทรคมนาคมหลายอย่างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่จุดสำคัญที่จะต่อยอด 5G ให้ขยายตัวต้องพึ่งพานโยบายการพัฒนาคลื่นความถี่และไซต์กระจายสัญญาณจากภาครัฐในแต่ละประเทศ 

 

เคน หู เสนอให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ ออกนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ให้มากขึ้น โดยภายใน 5-10 ปีหลังจากนี้จะมีการวางแผนเรื่องคลื่นความถี่ใหม่ๆ โดยเฉพาะช่วง 6GHz และมีการพิจารณาการตั้งราคาที่ยืดหยุ่น ส่วนหนึ่งเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการทางเครือข่าย

 

ขณะเดียวกันการกระจายสัญญาณ 5G ต้องอาศัยไซต์สัญญาณที่ปัจจุบันยังมีต้นทุนสูง ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลควรริเริ่มและส่งเสริมในการเปิดให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในรูปแบบของการแบ่งปัน และออกแนวทางสำหรับการก่อสร้างไซต์สัญญาณ ปัจจุบันมีความคืบหน้าในหลายประเทศ เช่น

 

  • เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ทางรัฐบาลสร้างเสาไฟฟ้าอเนกประสงค์มาตรฐานใหม่บนถนนสาธารณะ เพื่อเพิ่มแหล่งจ่ายสัญญาณ 5G อีก 30,000 แห่ง ภายในปี 2020 คิดเป็น 75% ของสถานีกระจายสัญญาณไร้สายทั่วเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  • ยุโรป กระทรวงที่เกี่ยวข้องเริ่มออกแบบข้อกำหนดและระบุข้อบังคับในการใช้แหล่งจ่าย 5G และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะร่วมกัน เช่น ไฟจราจร ป้ายจราจร และป้ายรถเมล์ ฯลฯ เพื่อให้เอกชนและภาครัฐสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดร่วมกันได้

 

 

ความท้าทายในอนาคตของ 5G Huawei จะฝ่ามรสุม ‘การเมือง’ อย่างไร

เมื่อนักข่าวถามถึงอุปสรรคของ Huawei เรื่องผลกระทบทางการเมืองต่อธุรกิจ หยางเชาปิน ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G ของ Huawei กล่าวว่า ในส่วนความร่วมมือกับยุโรป Huawei มีความร่วมมือมาตั้งแต่เทคโนโลยี 3G แล้ว ยิ่งปัจจุบันสัญญาด้าน 5G ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากทางยุโรป จากความร่วมมือนี้จะทำให้บริษัทร่วมกับยุโรปออกบริการ 5G ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ 

 

ทั้งนี้ส่วนสำคัญในการพัฒนา 5G คือเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน ดังนั้น Huawei ต้องสร้างมาตรฐานที่เชื่อมโยงกับพันธมิตรทั้งหลายให้ปลอดภัยทั้งระบบนิเวศ

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากงาน Global MBB Forum 2019 คาดการณ์อนาคตในปี 2025 ว่าจะมีผู้ใช้บริการ 5G เพิ่มขึ้นเป็น 1,570 ล้านราย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ในครัวเรือน (FWA Households) 480 ล้านครัวเรือน และจะสร้างมูลค่าต่อ GDP 2.89 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.72 ล้านล้านบาท)

 

เมื่อย้อนมาดูในไทย Huawei ก็เป็นพันธมิตรทั้ง DTAC, AIS TRUE คงไม่ยากที่คนไทยจะได้ลองใช้ 5G ในเร็ววันนี้ แต่จะได้ลองของใหม่ๆ อย่าง Hologram, IoT และ AR2VR เมื่อไร คงต้องติดตามกันต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising