×

เมื่อความมั่นคงทางอาหารโลก ‘ยังสั่นคลอน’

29.03.2025
  • LOADING...
โลกรวนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก เกษตรกรเผชิญภัยแล้ง น้ำท่วม และสภาพอากาศแปรปรวน

HIGHLIGHTS

6 min read
  • ความมั่นคงทางอาหารเป็นส่วนหนึ่งของ Zero Hunger เป้าหมาย SDGs 17 ข้อ ที่ปัจจุบันทั่วโลกยังมีผู้หิวโหยจากการเข้าถึงอาหาร แต่ Climate Change กลายเป็นประเด็นซ้ำเติมให้ขยายวงมากขึ้น 
  • UNDP Thailand ชี้ อีก 25 ปีข้างหน้าโลกรวนจะทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับขึ้นมากกว่า 29% และมีผลผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกถึง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 
  • 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านอาหารโลกปี 2567 คือ ปัญหาความขัดแย้ง สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งการจัดอันดับความมั่นคงทางอาหารปี 2565 ไทยอยู่ที่ 64 ระดับเดียวกับโคลอมเบีย แม้โดดเด่นเรื่องการเข้าถึงอาหาร แต่ความปลอดภัยของอาหารยังไม่มีคุณภาพ
  • ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลโลกรวนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.34% ต่อปีในช่วง 22 ปี จากท็อป 3 คือ ภาคพลังงาน-ภาคเกษตรกรรม-ภาคอุตสาหกรรม ส่งผลต่อผลผลิตทั้งเกษตร ปศุสัตว์ และประมงลดลง สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจงบภาครัฐที่ช่วยเหลือปี 2551-2564 เฉลี่ย 8,182 ล้านบาท
  • 10 วิธีสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ตัวเองและโลกใบนี้ เช่น นำเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกรหรือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ สร้างแรงจูงใจให้ภาคประชาชนสร้างคลังอาหารตัวเอง หรือเอาผิดกับผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจริงจัง

เรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นเป้าหมายข้อที่ 2 เรื่องการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) จากทั้งหมด 17 ข้อของ SDGs ที่ 195 ประเทศได้ทำข้อตกลงกันจะช่วยให้บรรลุในปี 2573 แต่ปัจจุบันมีหลายอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ได้ค่อนข้างเป็นไปตามข้อตกลงได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

 

Climate Change กระทบคลังอาหารโลก

 

UNDP Thailand เปิดเผยข้อมูลที่อ้างอิงจาก Food and Agriculture Organization of the United Nations ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกมากขึ้น จากฐานปี 2561 พบว่า 820 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญการขาดสารอาหาร แต่ภาวะโลกรวนได้มาเป็นปัจจัยซ้ำเติมเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหารไปอีก โดยคาดว่าอีก 25 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ราคาธัญพืชและผลผลิตพืชสำคัญมีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 29% ขณะที่ปริมาณการผลิตก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งทำให้เกิดโรคระบาดในสัตว์และศัตรูพืชแพร่กระจายข้ามพรมแดนเร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการเกิดโรคในพืชส่งผลกระทบจนสร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

 

 

 

80% ประชากรโลกเผชิญความไม่แน่นอนทางอาหาร 

 

โดยมี 80% ของประชากรโลกที่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีความเสี่ยงที่พืชผลทางการเกษตรจะเสียหายใน 3 พื้นที่ คือ แอฟริกาใต้ซาฮารา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เกษตรกรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 ล้านคน ต้องเจอความแปรปรวนของอากาศ ตั้งแต่อุณหภูมิสูงขึ้นและฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ขณะที่อินเดียและปากีสถานเจอคลื่นความร้อนและน้ำท่วมรุนแรงเมื่อปี 2565-2566 ทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลง จนอินเดียต้องจำกัดการส่งออกข้าว และเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น หรือในเอธิโอเปีย เคนยา โซมาเลีย มีผู้คนกว่า 22.5-23.4 ล้านคน ต้องขาดแคลนอาหารเนื่องจากต้องเจอภาวะแล้งหนัก

 

การประเมินความมั่นคงทางอาหาร

 

Economist Impact ได้มีการวิเคราะห์และประเมินความมั่นคงทางอาหารตาม รายงานดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลกปี 2565 (Global Food Security Index : GFSI) โดยใช้หลักการประเมินครอบคลุมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1. ความสามารถในการซื้ออาหาร (Food Affordability) 2. ความมีอยู่อย่างสมบูรณ์ของอาหาร (Availability) 3. คุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) และ 4. ความยั่งยืนและการปรับตัว (Sustainability and Adaptation) 

 

ทั้งนี้ พบว่า ปัญหาหรืออุปสรรคในการสร้างความมั่นคงทางอาหารโลกและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกมีอยู่ 3 หัวข้อหลักคือ 

 

  • ความอ่อนแอในด้านความมั่นคงทางอาหาร พบว่า ยังคงลดลงจากระดับสูงสุดในปี 2562 สาเหตุหลักเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นและการระบาดของโควิด 
  • การเผชิญหน้ากับแรงกระแทกจากผลกระทบของวิกฤตต่างๆ ที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของโรค เหตุความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ระบบอาหารโลกอ่อนแอลง 
  • ความจำเป็นในการสร้างการตั้งรับปรับตัว (Resilience) จำเป็นต้องมีการดำเนินการที่หลากหลายและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างการตั้งรับปรับตัวให้เกิดขึ้นในระบบอาหาร

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านอาหาร 2567 

 

แต่รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 (Global Report on Food Crises : GRFC) ได้ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านอาหารในปี 2567 ได้แก่ 

 

  • ปัญหาความขัดแย้ง ทำให้ 135 ล้านคน ใน 20 ประเทศและเขตแดนเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน โดยเฉพาะประเทศซูดานมากถึง 8.6 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูง เมื่อเทียบปี 2566 ที่คนศรีลังกาเจอความหิวโหย
  • เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว คนกว่า 77 ล้านคน ใน 18 ประเทศและเขตแดนต้องขาดแคลนอาหาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จาก 57 ล้านคน ใน 12 ประเทศและเขตแดน ซึ่งปี 2566 เป็นปีที่โลกมีสภาพอากาศที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ และยังเจอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วทั้งเกิดน้ำท่วมรุนแรง พายุ ความแห้งแล้ง ไฟป่า โรคและการระบาดศัตรูพืช
  • ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่กระทบคนกว่า 75 ล้านคน ใน 21 ประเทศต้องขาดอาหาร โดยต้องนำเข้าอาหารและปัจจุบันยังเจอความท้าทายต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินอ่อนค่า สินค้ามีราคาสูง และภาวะหนี้สูง

 

ความมั่นคงทางอาหารของไทย

 

รายงานดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลก ปี 2565 จาก 113 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 64 ระดับเดียวกับประเทศโคลอมเบีย และตกลงมาถึง 13 อันดับจากเดิมในปี 2564 ที่อยู่อันดับ 51 ทั้งนี้ แม้ไทยจะมีคะแนนโดดเด่นประเด็นการเข้าถึงอาหารที่ 83.7 คะแนน แต่ประเด็นคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารกลับอ่อนแอสุดที่ 45.3 คะแนน หมายความว่า ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารได้ แต่อาหารนั้นยังไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีพอ อีกกำลังเจอปัญหาการบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพและความไม่พร้อมเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการเกษตรและการผลิตหยุดชะงักลงได้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อการผลิตอาหารในระยะยาว 

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก&โลกรวนในไทย

 

จากข้อมูลทาง UNDP Thailand ระบุว่า ระยะ 22 ปี ตั้งแต่ปี 2543-2565 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก จาก 245,899.56 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มขึ้นเป็น 372,648.77 กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.34 % ต่อปี หรือเท่ากับจำนวนก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ทั้งหมด 81 ล้านคัน โดยภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ ภาคพลังงาน 65.89 % ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้นเป็นอันดับสอง 17.86 % จากกิจกรรม เช่น การเผาไร่ การปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 10.50 % และ ภาคของเสีย 5.75 % 

 

และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในหลายมิติ อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554-2564 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.09 องศาเซลเซียส และ ปริมาณน้ำฝนก็มีความผันผวนรุนแรงมากขึ้น โดยปี 2562 ฝนตกในไทยน้อยที่สุดในรอบ 40 ปี และในปี 2560 ปริมาณน้ำฝนรายปีกลับมีปริมาณสูงสุดนับแต่มีการบันทึกเมื่อปี 2494 

 

นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยยังเผชิญความแปรปรวน เช่น จำนวนวันที่ร้อนเกิน 35 องศาเซลเซียส เพิ่มจาก 1.9 วัน ในปี 2493 เป็น 49.43 วัน ในปี 2563 อีกทั้งจำนวนวันที่ฝนตกติดต่อกันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนสะสมสูงสุดใน 5 วันของแต่ละช่วงเวลาก็มีความแปรปรวนมากขึ้นจากอดีต และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติอย่างต่อเนื่อง

 

โลกรวนทำผลผลิต เกษตร-ปศุสัตว์-ประมง ลด

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย่อมส่งผลกระทบรอบด้านทั้งต่อการเพาะปลูก ปศุสัตว์ และการประมง เพราะต่างต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ 

 

โลกรวนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก เกษตรกรเผชิญภัยแล้ง น้ำท่วม และสภาพอากาศแปรปรวน

 

ที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแง่งบประมาณรัฐ ตั้งแต่ปี 2551-2564 ภาครัฐช่วยเหลือเฉลี่ย 8,182 ล้านบาทต่อปี โดยปี 2553 และ 2554 คือปีที่ภาครัฐให้เงินช่วยเหลือภัยพิบัติด้านเกษตรสูงสุดที่ 21,685 และ 33,764 ล้านบาท ตามลำดับ อีกทั้งมีการประเมินต้นทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบเชิงเศรษฐกิจจากผลผลิตต่อไร่ที่เปลี่ยนแปลงจะมีมูลค่าความเสียหาย 1,800-3,000 ล้านบาท 

 

พร้อมกับคาดว่า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของภาคเกษตรกรไทยตั้งแต่ 2554/2555 ถึง 2584-2593 จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ระหว่าง 18,000 ถึง 84,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์ทั้งย้อนหลังและล่วงหน้าประมาณ 40 ปี (2553-2593) ได้แก่ 

 

 

 

ตั้งการ์ดลดก๊าซเรือนกระจก & เสริมความมั่นคงทางอาหาร

 

ถึงเวลาต้องเร่งร่วมมือกันทุกส่วนเพื่อช่วยให้โลกนี้น่าอยู่และมีความมั่นคงทางอาหาร เพราะเชื่อแน่ว่า ถ้าเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นมา แหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติหรือแหล่งอาหารย่อมจะเป็นที่ปลอดภัยที่ดีของประชากรทั้งในประเทศและโลก 

 

  1. เร่งการวิจัยและพัฒนา นำนวัตกรรมเข้าไปช่วยในการผลิตมากขึ้น ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและรายย่อย พร้อมมีหน่วยงานสนับสนุนเงินทุนการวิจัย

 

  1. ถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยีเข้าไปสู่การผลิตต้นทางแก่เกษตรกรเพื่อช่วยประหยัดทั้งเวลา แรงงาน และต้นทุนการผลิต เช่น การทำสมาร์ท ฟาร์มเมอร์หรือทำระบบควบคุมแบบอัตโนมัติเพิ่มปริมาณออกซิเจนกับการเพาะสัตว์น้ำ

 

  1. สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนทุกห่วงโซ่การผลิตเพื่อสร้างฐานความมั่นคงทางอาหารตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ 

 

  1. ศึกษาและพัฒนาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทนทานต่อโรคของผลผลิตทางการเกษตร พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงสุดขั้ว

 

  1. อย่าปล่อยให้บทเรียนภัยธรรมชาติที่มีแต่จะขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้นผ่านไปโดยไม่เกิดการเรียนรู้ เช่น วางแผนและทบทวนการปฏิบัติเพื่อรองรับกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และแผ่นดินไหว

 

  1. สนับสนุนให้เอกชนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ปรับตัวตลอดห่วงโซ่การทำธุรกิจเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง 

 

  1. ภาคชุมชนควรให้เกิดการผลักดันหรือสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างคลังอาหารด้วยตัวเองง่ายๆ ภายในครัวเรือน เช่น การสอนหรือแนะนำวิธีการทำสวนครัวแบบแนวตั้ง การปลูกผักสวนครัวในพื้นที่ขนาดเล็กภายในที่อยู่อาศัย 

 

  1. สร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานหรือการถ่ายทอดเรื่องราวซึ่งกันและกันของคนรุ่นก่อนและรุ่นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดคลังอาหารที่มั่นคงได้ในระยะยาว 

 

  1. เอาจริงกับบทลงโทษของผู้ที่ไม่รู้จักรับผิดชอบทางสังคมและทำลายระบบนิเวศพื้นที่สาธารณะ เช่น บุกรุกพื้นที่ป่าด้วยการเผา การออกเอกสารสิทธิ์ให้เป็นที่ของตัวเอง โรงงานหรือโรงแรมที่ปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัด

 

  1. เริ่มที่ตัวเราตั้งแต่ปรับ Mindset และเริ่มช่วยโลกจากการสร้างจิตสำนึกด้วยตัวเอง ตั้งแต่กินอาหารแต่พอดี เรียนรู้ที่จะกำจัดเศษอาหารให้เกิดเป็นวงจรที่ดีต่อโลก แยกขยะ ไม่ใช่พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

 

เมื่อเหตุการณ์หลายอย่างบนโลกขณะนี้เหมือนส่งสัญญาณให้เราต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ที่จะเผชิญเหตุมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การถามตัวเองว่า วันนี้เราเริ่มสตาร์ทช่วยโลกแล้วหรือยัง เพราะถ้าโลกเพี้ยนเราก็จะแย่ตามไปด้วยอย่างแน่นอน

 

ภาพ: Anton Petrus / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising