เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเริ่มกระทบส่งออกชัดเจน กกร. คาดส่งออกไทยปี 2566 โตเพียง 1-2% เท่านั้น ห่วงการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) รวมไปถึงการขึ้นดอกเบี้ย และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจนกระทบกลุ่มเปราะบาง
วันนี้ (7 ธันวาคม) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนธันวาคม กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกอย่างชัดเจน กิจกรรมในภาคการผลิตของประเทศหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ กลุ่ม EU ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงพร้อมกันในเดือนพฤศจิกายน สอดคล้องกับการที่การส่งออกสินค้าหดตัวในประเทศที่มีความสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนการส่งออกของประเทศไทยก็หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนในเดือนตุลาคม
โดย กกร. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0-2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%
สนั่นระบุอีกว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปี 2566 ด้วยแรงจากเครื่องยนต์เดียวคือภาคการท่องเที่ยว จึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และยังมีสัญญาณของความเปราะบาง โดยหนึ่งในสัญญาณของความเปราะบางที่สะท้อนให้เห็น เช่น สินเชื่อที่ถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังมีการค้างชำระเป็นสัดส่วนสูงแม้จะพ้นช่วงโควิดมาแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากบริบทของการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับค่าธรรมเนียม FIDF ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของระบบการเงิน และอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว
ด้านระบบธนาคารพาณิชย์ได้ติดตามและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ณ เดือนกันยายน 2565 มีลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้เกิน 90 วันจากผลกระทบจากโควิดอยู่ราว 3.2 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ราว 4.24 แสนราย เพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนรายในเดือนมกราคม 2565 นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ประสบปัญหาในการชำระหนี้ 1 เดือน และ 2 เดือนขึ้นไปยังคงเพิ่มขึ้นแม้โควิดจะคลี่คลายลงแล้ว
ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีการกันสำรองในระดับสูงเพื่อให้มั่นใจในความมีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันก็พร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงการเปลี่ยนผ่าน และพร้อมสนับสนุนการปรับตัวที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ