เป็นหนึ่งในผู้เล่นในในตลาด QSR ซึ่งมีมูลค่าตลาดมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทมานับสิบๆ ปี แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง แม้จะมี ‘รูทเบียร์และวาฟเฟิล’ เป็นเมนูซิกเนเจอร์ หากการขาดทุนหลักสิบล้านบาทต่อปีทำให้ในที่สุด ‘โกลบอล คอนซูเมอร์’ ตัดสินใจขายร้าน A&W ออกจากพอร์ต
บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON ได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์มานานกว่า 35 ปี แม้จะเป็นแบรนด์ที่คนไทยหลายๆ คนรู้จักก็จริง แต่ผลประกอบการกลับไม่ได้สวยหรูมากนัก ขาดทุนกว่า 40-50 ล้านบาทมาทุกปี
ตามรายงานที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2563 A&W มีรายได้ 98 ล้านบาท ลดลง 35.2% จากที่เคยทำได้ 53.2 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลดจำนวนของสาขาที่ขาดทุนลง
แม้มีการปรับกลยุทธ์การขยายสาขาโดยเน้นการขยายสาขาขนาดเล็กในร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ หรืออยู่ใกล้กับร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในย่านชุมชนที่มีความหนาแน่น และใกล้กับสถานศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ด้วยการระบาดของโรคโควิด ทำให้ปี 2564 ขาดทุนกว่า 70 ล้านบาท
“การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจร้านอาหาร บริษัทไม่สามารถแบกรับผลขาดทุนต่อไปได้จึงยุติการดำเนินกิจการร้านอาหาร A&W และปิดร้าน Kitchen Plus โดยจะหันมาโฟกัสขยายธุรกิจด้วยการมุ่งเน้นไปที่การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารที่มีความชำนาญแทน” นพพร ภัทรรุจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวในแถลงการณ์
ปี 2563 A&W มี 24 สาขา อยู่ในศูนย์การค้าและสถานีบริการน้ำมัน โดยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 22 สาขา และจังหวัดหลักของภาคต่างๆ เช่น พัทยา, สระบุรี อีก 2 สาขา และได้มีการปรับตัวโดยทำเป็นฟู้ดทรักจำนวน 4 สาขา
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับ A&W ได้เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า โกลบอล คอนซูเมอร์ กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขายสิทธิ์ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามารันช่วงบริหารต่อ
“มีเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ของไทยจำนวน 3 แห่งที่อยู่ในระหว่างการพูดคุย” แหล่งข่าวกล่าว “คาดว่าดีลจะปิดภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยอาจมีมูลค่าดีลอยู่ที่ราว 500-600 ล้านบาท”
การยุติการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร A&W และปิดร้านอาหาร Kitchen Plus ที่โกลบอล คอนซูเมอร์ บริหารจัดการเอง (ปัจจุบันเหลือ 2 สาขา) ทำให้ต้องดำเนินการตั้งสำรองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นราว 160 ล้านบาทในปี 2564 ส่งผลให้ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2564 ขาดทุนราว 167 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลขาดทุนทางบัญชีเพียงครั้งเดียว
หากไม่รวมผลขาดทุนที่เกิดจากผลประกอบการของ A&W จะมีกำไรจาก Business Unit อื่นๆ รวมกว่า 60 ล้านบาท โดยรายได้รวมเติบโตกว่า 23% แตะ 1,862 ล้านบาท ตามการเติบโตของยอดขาย โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่เติบโตกว่า 40% แตะ 642 ล้านบาท, ผลไม้อบแห้งเติบโต 32% อยู่ที่ 465 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์เติบโต 14% อยู่ที่ 651 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะสามารถทำรายได้ทะลุ 3,000 ล้านบาทได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: