×

ทุบสถิติ อัตราปล่อย CO2 ทั่วโลกพุ่ง 2.7 เปอร์เซ็นต์ หวั่นหลุดเป้าคุมไม่ให้โลกร้อนเกินเยียวยา

06.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยวานนี้ (5 ธ.ค.) ว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น 2.7 เปอร์เซ็นต์ หวั่น ‘หลุดออก’ จากเป้าหมายลดก๊าซตามข้อตกลงปารีส
  • “เราหลุดออกจากเป้าหมายไปโดยปริยายแล้ว” เกลน ปีเตอร์ส กล่าวโดยอ้างอิงถึงเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส
  • ประเทศจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มสำหรับปีนี้ว่าจะพุ่งขึ้นอีก 4.7 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับอินเดียมีการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น 6.3 เปอร์เซ็นต์

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยวานนี้ (5 ธ.ค.) ว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น 2.7 เปอร์เซ็นต์ หวั่น ‘หลุดออก’ จากเป้าหมายลดก๊าซตามข้อตกลงปารีส

 

คอริน เลอ เคว์อเร ผู้อำนวยการศูนย์ทินเดลสำหรับวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า “ระดับก๊าซที่เพิ่มขึ้นมานี้ ทำให้เป้าหมายตามข้อตกลงปารีสตกอยู่ในอันตราย”

 

ข้อตกลงปารีสเป็นการลงนามร่วมกันของประเทศต่างๆ 195 ประเทศ เพื่อตั้งเป้าว่า จะควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และลดลงจนทำให้อุณหภูมิทั่วโลกไม่เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางรายวิจารณ์ว่า สถานการณ์นี้อาจเกินเยียวยาไปแล้วหากระดับอุณหภูมิยังคงรักษาการไต่ระดับต่อไป

 

รายงานจากโกลบอลคาร์บอนโปรเจกต์ (GCP) คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีการปล่อยก๊าซทั้งสิ้น 37.1 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเมื่อช่วงปี 2557-2559 ที่ทิศทางค่อนข้างทรงตัว และจากเมื่อปี 2560 ที่เพิ่มขึ้น 1.7 เปอร์เซ็นต์ พร้อมชี้ว่า ยอดที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซในส่วนของพลังงานถ่านหินที่เพิ่มขึ้นจากจีนและอินเดีย

 

ผู้อำนวยการรายนี้เสริมต่อไปว่า การสนับสนุนพลังงานทดแทนนั้นยังไม่เพียงพอ และทั้งระบบเศรษฐกิจต้องมีความพยายามลดการปล่อยก๊าซมากกว่านี้

 

เกลน ปีเตอร์ส อีกหนึ่งผู้ร่วมวิจัยจากทั้งหมด 76 คน กล่าวว่า “การปล่อยก๊าซนั้นยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการตกปากรับคำมากมาย แต่ความตั้งใจที่จะลดกลับไม่มากพอ” ก่อนเสริมภายหลังอีกว่า “แม้ทิศทางบวกจากพลังงานสะอาดและพาหนะไฟฟ้าจะมีมากขึ้น แต่ก็น้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบต่อพลังงานฟอสซิล”

 

“เราหลุดออกจากเป้าหมายไปโดยปริยายแล้ว” ปีเตอร์สกล่าวโดยอ้างอิงถึงเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส

 

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการ เลอ เคว์อเร กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงปารีสอีกว่า “อัตราการปล่อยก๊าซมีผลพวงมาจากระดับพลังงานถ่านหินในประเทศจีนอย่างมาก”

 

ข้อมูลระบุว่า ประเทศจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดในโลกที่ระดับ 27 เปอร์เซ็นต์จากผลรวมทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งขึ้นอีก 4.7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกามีอัตราการปล่อยก๊าซ 15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมด้วยแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอินเดียมีการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น 6.3 เปอร์เซ็นต์

 

แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา จะมีแผนกระตุ้นอุตสาหกรรมถ่านหินในประเทศ แต่อัตราการปล่อยก๊าซของสหรัฐฯ ในอนาคตกลับมีทีท่าจะลดลง เนื่องจากน้ำมันและพลังงานทดแทนอย่างอื่นมีราคาต่ำกว่าถ่านหิน

 

ก๊าซที่ถูกปล่อยจากพลังงานถ่านหินคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมด ทั้งนี้ การใช้นำ้มันและก๊าซเองก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติตั้งเป้าว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำเป็นต้องลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และต้องไม่มีการปล่อยก๊าซเพิ่มภายในปี 2593 หากต้องการคงระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

อย่างไรก็ตาม IPCC แสดงความกังวลอีกว่า กำแพง 2 องศาเซลเซียส อาจยังไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงหายนะอันเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising