×

ชวนรู้จัก อรสิริน โฮลดิ้ง กับบทพิสูจน์ IPO ติดนามสกุลมหาชน ผงาดเป้าหมายเจ้าตลาดอสังหาเชียงใหม่และภาคเหนือ

09.10.2023
  • LOADING...
บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)​ (ORN)

HIGHLIGHTS

  • อรสิริน หรือบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท Holding Company ที่ประกอบธุรกิจการลงทุนถือหุ้นบริษัทอื่นๆ หลากหลาย โดยมีความช่ำชองและมีการลงทุนเฉพาะในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัย เป็นพิเศษ 
  • เตรียม IPO เสนอขายหุ้น 406.5 ล้านหุ้น หรือเทียบเป็นสัดส่วนราว 27.10% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO ซึ่งปัจจุบันอรสิรินกำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำโรดโชว์ทั่วประเทศให้กับกลุ่มนักลงทุนและผู้ที่สนใจ รวมทั้งหมด 15 จังหวัด
  • ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผลิตภัณฑ์ในมือที่มีหลากหลาย ความเป็นเจ้าถิ่นที่รู้จักทำเล คู่แข่ง กฎเกณฑ์การทำธุรกิจในเชียงใหม่ ไปจนถึงความเข้าใจอินไซต์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค ทั้งหมดถือเป็นข้อได้เปรียบที่อรสิรินสามารถทำธุรกิจอสังหาได้แข็งแกร่งท่ามกลางบิ๊กแบรนด์

หลังจากที่มีกระแสข่าวประเด็นการเตรียม IPO แต่งตัวเปลี่ยนนามสกุลเป็น ‘มหาชน’ เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มาเป็นระยะเวลานาน มาวันนี้ ORN หรือ อรสิริน โฮลดิ้ง ก็ได้เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย

 

เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566 อรสิริน โฮลดิ้ง ได้ออกมาเปิดเผยถึงการดำเนินการยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นในจำนวน 406.5 ล้านหุ้น หรือเทียบเป็นสัดส่วนราว 27.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO (รวมเป็นหุ้นสามัญทั้งหมด 1,500 ล้านหุ้น) โดยเริ่มเดินสายโรดโชว์นำเสนอข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลทางการเงิน แผนการดำเนินงานในอนาคต แก่กองทุน นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ สิงคโปร์ และฮ่องกงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันอรสิรินกำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำโรดโชว์ในประเทศให้กับกลุ่มนักลงทุนและผู้ที่สนใจ รวมทั้งหมด 15 จังหวัด 

 

ซึ่งคาดว่าภายในปี 2566 จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่อรสิรินจะได้ตบเท้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน): ORN’ อย่างเป็นทางการ 

 

ทำไมอรสิรินถึงน่าสนใจ และเพราะเหตุใดบริษัทมหาชนรายนี้จึงเป็นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ IPO ที่น่าจับตา?

 

บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)​ (ORN)

 

“ไม่มีใครรู้จักเชียงใหม่ดีเท่าเรา!” คำประกาศกร้าวของ ORN กับประสบการณ์ 17 ปี คลุกวงในผู้นำตลาดอสังหาเชียงใหม่

 

สำหรับอรสิริน หรือบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท Holding Company ที่ประกอบธุรกิจการลงทุนถือหุ้นบริษัทอื่นๆ หลากหลาย โดยมีความช่ำชองและมีการลงทุนเฉพาะในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาเพื่ออยู่อาศัย (Property Developer) เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแนวราบหรือแนวสูง 

 

โดยทุกโครงการล้วนตั้งอยู่ในทำเลที่โดดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น 

 

  1. โครงการแนวราบ (Low Rise)
  • บ้านเดี่ยว/บ้านแฝด: Habitat วงแหวน-สันกำแพง, The Escape มหิดล, BELIVE วงแหวน-สันกำแพง, BELIVE สันทราย-แม่โจ้, BELIVE รวมโชค 
  • ทาวน์โฮม/บ้านแฝด: Ornsirin Ville ดอนจั่น
  • อาคารพาณิชย์: URBAN MYX หางดง, OBC1 รวมโชค

 

รวมมูลค่าทั้งโครงการแนวราบ: 8,338 ล้านบาท (ยอดขายแล้วสะสม 3,881 ล้านบาท) * ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2566

 

  1. โครงการแนวสูง (High Rise)
  • คอนโดมิเนียม Luxury: The Astra, The Astra Sky River
  • คอนโดมิเนียม Main Class: Arise มหิดล
  • คอนโดมิเนียม Economy Class: The Next 1 รวมโชค, The Next 2 แยกหนองประทีป, The Next 3 รวมโชค-เทพปัญญา, The Next เจ็ดยอด

 

รวมมูลค่าทั้งโครงการแนวสูง: 7,109 ล้านบาท (ยอดขายแล้วสะสม 5,614 ล้านบาท) * ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2566

 

จากพอร์ตโครงการอสังหาของอรสิริน จะเห็นว่าพวกเขาค่อนข้างมีโปรดักต์ ‘ครบมือ’ ทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่ม High Rise และ Low Rise ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม ไปจนถึงอาคารพาณิชย์

 

ที่สำคัญโครงการอสังหาอรสิรินยังจับตลาดในทุกๆ เซ็กเมนต์ของกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ตั้งแต่โครงการทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว หรือคอนโด ในช่วงราคาเริ่มต้นที่ 1.5-2 ล้านบาท ไปจนถึงโครงการเทียร์บนบ้านหรูระดับ 35 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แถมยังทำตลาดได้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคในทุกมิติ

 

บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)​ (ORN)

 

ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้อรสิรินจะปักหมุดปี 2549 หรือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เป็นปีนับหนึ่งในการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการในนามอรสิริน 

 

แต่หากย้อนไปไกลกว่านั้นก็จะพบว่า อรสิรินก่อนจะถูกก่อตั้งขึ้นโดย บุญเลิศ และปกรณ์ สองพี่น้องตระกูลบูรณุปกรณ์ มีประสบการณ์และความช่ำชองในการพัฒนาพื้นที่ การขายที่ดิน (Landlord) และโครงการอสังหาในเชียงใหม่มานานร่วม 4 ทศวรรษเต็ม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะกล้าประกาศกร้าวว่า “ไม่มีใครรู้จักเชียงใหม่ดีเท่าเรา” 

 

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผลิตภัณฑ์ในมือที่มีหลากหลาย ความเป็นเจ้าถิ่นที่รู้จักทำเล คู่แข่ง กฎเกณฑ์การทำธุรกิจในเชียงใหม่ ไปจนถึงความเข้าใจอินไซต์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค ลูกค้าในเชียงใหม่หรือภาคเหนือเป็นอย่างดี ทั้งหมดจึงถือเป็นข้อได้เปรียบและจุดตัดความแตกต่าง (Uniqueness Point) ที่ทำให้อรสิรินสามารถทำธุรกิจอสังหาและดำเนินงานได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าตลาดอสังหาจะแข่งกันเดือด ทั้งยังรายล้อมไปด้วยบิ๊กแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งในตลาดในจำนวนมากก็ตาม

 

ปัจจุบันอรสิรินอยู่ภายใต้การบริหารโดย ปรีดิกร บูรณุปกรณ์ บุตรของบุญเลิศ และบุตรบุญธรรมของปกรณ์ ในฐานะ CEO หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท 

 

สำหรับงบดำเนินการของบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ตามรายงานเอกสารที่ยื่นให้กับทางสำนักงาน ก.ล.ต. พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

ปี 2563: รายได้จากการดำเนินงาน 865 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 129 ล้านบาท / อัตรากำไรสุทธิ 15%

ปี 2564: รายได้จากการดำเนินงาน 678 ล้านบาท (-21.6%) / กำไรสุทธิ 76 ล้านบาท (-41%) / อัตรากำไรสุทธิ 11%

ปี 2565: รายได้จากการดำเนินงาน 1,534 ล้านบาท (+126%) / กำไรสุทธิ 282 ล้านบาท (+271%) / อัตรากำไรสุทธิ 18%

 

ปรีดิกร บูรณุปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

ปรีดิกร บูรณุปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

 

ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ปรีดิกรและคณะผู้บริหารสามารถพาบริษัทและกลุ่มธุรกิจอรสิรินดำเนินงานท่ามกลางสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าช่วงปี 2564 รายได้และกำไรสุทธิจะลดลงไปบ้าง 

 

แต่ในปี 2565 พวกเขาก็สามารถนำพาบริษัทกลับมาผงาดสร้างกำไรสุทธิเติบโตเป็นประวัติการณ์ได้สำเร็จถึงระดับ 271% เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราเติบโตของรายได้เฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 อยู่ที่ 33%

 

โดยสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของอรสิริน โดยเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์โครงการ The Astra Sky River ซึ่งถือเป็นโครงการคอนโดระดับไฮไลต์ที่อรสิรินวางโพสิชันไว้ให้ทำตลาด Luxury ทั้งยังมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง สวนทางกับค่าใช้จ่ายบริหารต่อรายได้ที่ลดลง

 

ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 698 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 124 ล้านบาท

 

บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)​ (ORN)

 

มุ่งสู่เป้าหมาย IPO เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคง ยั่งยืน เล็งผงาดผู้นำอสังหาระดับกลาง-บน โซนภาคเหนือภายใน 3 ปี

 

สำหรับเป้าหมายของการ IPO ติดนามสกุลมหาชนในครั้งนี้ของอรสิรินคือ การพาบริษัทให้เติบโตไปอีกระดับอย่างมั่นคง เพื่อผงาดสู่เป้าหมายใหญ่ของการเป็นผู้นำตลาดอสังหาระดับกลาง-บน ในโซนภาคเหนือให้ได้สำเร็จภายใน 3 ปี

 

ทั้งนี้ บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ORN มีทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท (มีทุนที่เรียกชำระแล้ว 1,093.50 ล้านบาท)

 

เมื่อนับรวมกับหุ้น IPO ที่จะเสนอขายรวม 406.50 ล้านหุ้น ก็จะกลายเป็นหุ้นสามัญรวม 1,500 ล้านหุ้นพอดี ซึ่งงบประมาณที่ได้จากการระดมทุนในส่วนนี้ก็จะถูกนำไปจัดสรรเป็นเงินลงทุนเพื่อซื้อที่ดินเปล่าในทำเลศักยภาพ รวมถึงใช้เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาจับตลาดกลางค่อนบนในลำดับต่อไป

 

ปรีดิกร บูรณุปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

 

ในแง่ทำเลจังหวัดเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ในโซนภาคเหนือนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ยังได้ออกมาประมาณการในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ไว้อีกด้วยว่า เศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงระหว่างปี 2566-2567 จะยังคงแนวโน้มขยายตัวเติบโตต่อเนื่อง 

 

โดยวัดจาก GRP Forecast เศรษฐกิจภาคเหนือ คาดว่าอัตราการขยายตัวในช่วงปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 2-3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ในปี 2567 อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยด้วยความเสี่ยงด้านภัยแล้ง แต่ยังคงเติบโตอยู่ที่ระดับ 0.7-1.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

และหากโฟกัสไปที่ภาคธุรกิจก่อสร้างอสังหา คาดว่าในช่วงปี 2566-2567 จะมีสัดส่วนการเติบโตต่อ GRP ราว 8.8% จากดีมานด์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนที่มีความต้องการสินทรัพย์ประเภทคอนโดอย่างต่อเนื่อง 

 

ตลอดจนความต้องการจากกลุ่มบุคลากรในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และครอบครัวที่มีกำลังซื้อสูง (ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC เปิดเผยว่าไตรมาส 1/66 เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือเมื่อเทียบกับภาพรวมประเทศ)

 

ไม่เพียงเท่านั้น คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจภาคเหนือน่าจะได้รับอานิสงส์บวกจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่มีแพลนจะลงทุนสร้าง ‘สนามบินล้านนา’ สนามบินแห่งที่ 2 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลให้ได้สำเร็จ โดยเฉพาะการวางตัวเป็นสนามบินที่สามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เรื่อยไปจนถึงความพยายามในการจัดงานนิทรรศการ งานประชุมระดับโลก ที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แย้มเป็นนัยไว้ว่า กำลังมองถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้เชียงใหม่เป็นจังหวัดจัดอีเวนต์ระดับใหญ่ 12 งานต่อปี เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในภาคเหนือให้คึกคักตลอดทั้งปี เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงโลว์ซีซัน

 

หากประเมินจากสถานการณ์และแนวโน้มความเป็นไปได้ในมิติต่างๆ ณ ปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าภาพรวมตลาดอสังหาในภาคเหนือดูจะมีอนาคตที่น่าสดใสรออยู่ไม่น้อย 

 

แต่ท้ายที่สุดแล้วอรสิรินจะมุ่งหน้ากรุยทางสู่การเป็น Developer ผู้นำในตลาดอสังหาภาคเหนือตามเป้าหมายที่พวกเขาวางเอาไว้ได้หรือไม่นั้น นั่นคือเรื่องที่พวกเขาต้องพิสูจน์ให้กลุ่มนักลงทุนเห็นด้วยตนเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising