×

รู้จัก เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์: ผู้ทำนายการมีอยู่ของหลุมดำ และบิดาแห่งระเบิดปรมาณูที่โลกทั้งรักและชัง

20.07.2023
  • LOADING...

วันที่ 1 กันยายน 1939 กองทัพนาซีเยอรมนียกพลบุกยึดครองโปแลนด์ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองที่พลิกโฉมประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล

 

แต่ในวันเดียวกัน ยังมีอีกสิ่งที่พลิกโฉมการศึกษาด้านอวกาศ เพราะงานวิจัย On Continued Gravitational Contraction ของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ และ ฮาร์ตแลนด์ สไนเดอร์ ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้เปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่อ ‘ดาวมืด’ สู่ ‘หลุมดำ’ อย่างเต็มตัว และชื่อของออปเพนไฮเมอร์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นนับแต่นั้น

 

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอเมริกันผู้มีความสนใจในด้านกลศาสตร์ควอนตัม ผู้มีส่วนในทฤษฎีที่นำไปสู่การพบดาวนิวตรอนและหลุมดำ อีกบทบาทที่สำคัญของออปเพนไฮเมอร์ที่สร้างชื่อให้กับเขาคือการได้เป็นผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตันในการคิดค้นอาวุธที่จะช่วยพลิกสถานการณ์ในสงครามโลกดังที่เราเกริ่นไว้ตอนต้น จนเขากลายมาเป็น ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ ในเวลาต่อมา

 

ช่วงนี้ภาพยนตร์ Oppenheimer ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน เข้าโรงภาพยนตร์พอดี และอยู่ในกระแสความสนใจของคนไทยไม่น้อย จึงขอพาไปทำความรู้จักบุรุษผู้ยิ่งใหญ่นี้กันให้มากขึ้น

 

และนี่คือเรื่องราวของยอดอัจฉริยะผู้โด่งดังและถูกเกลียดชัง…เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ตามที่มีการบันทึกไว้ (แต่ในฉบับภาพยนตร์ของโนแลนอาจแตกต่างออกไปบ้าง เพราะมีการเติมแต่งเนื้อหาเพื่อให้สนุกขึ้น)

 

แอปเปิ้ลอาบยาพิษ

 

เมื่อออปเพนไฮเมอร์มีอายุได้ 21 ปี เขาได้วางแอปเปิ้ลที่มียาพิษไว้บนโต๊ะของ แพทริก แบล็กเก็ตต์ อาจารย์ฟิสิกส์ของเขาที่เคมบริดจ์ เนื่องจากเจ้าตัวไม่พอใจที่ถูกสั่งให้ทำการทดลองในห้องแล็บ แต่เคราะห์ดีที่อาจารย์ของเขายังไม่ทันได้กินแอปเปิ้ลดังกล่าวเข้าไป แต่ออปเพนไฮเมอร์ก็เกือบถูกเคมบริดจ์สั่งพักการเรียนจากวีรกรรมดังกล่าวเสียแล้ว

 

เวลาล่วงเลยสู่ปี 1926 ออปเพนไฮเมอร์เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเกน เพื่อเรียนกับ มักซ์ บอร์น อาจารย์และนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้โด่งดัง โดยที่เกิตทิงเกน ออปเพนไฮเมอร์ได้รู้จักกับ เอนริโก แฟร์มี, วอล์ฟกัง เพาลี และ เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก

 

บอร์นรับรู้ได้ถึงความสามารถของเด็กหนุ่มคนนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้วยวัยเพียง 23 ปี และตีพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ด้านทฤษฎีควอนตัมเป็นภาษาเยอรมัน โดยเขียนถึงออปเพนไฮเมอร์ไว้ว่า “เขาเป็นชายผู้มากความสามารถ และยังตระหนักรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของเขาในรูปแบบที่ค่อนข้างน่าอับอายและนำไปสู่ปัญหาต่างๆ”

 

งานวิจัยส่วนมากของออปเพนไฮเมอร์ที่ได้ตีพิมพ์ระหว่างการศึกษาที่เกิตทิงเกนมักเป็นการต่อยอดการศึกษาจากผลงานของเวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก โดยทั้งคู่ได้พบกันตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกในปี 1927 และทั้งสองคนเข้ากันได้เป็นอย่างดี จนยากที่จะเชื่อว่าในเวลา 15 ปีหลังจากนั้น พวกเขาต้องมาแข่งกันสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกให้กับชาติของตนเอง

 

แต่นอกจากความยิ่งใหญ่ในฐานะบิดาแห่งระเบิดปรมาณูอย่างที่ทราบกันแพร่หลายแล้ว ออปเพนไฮเมอร์ยังอยู่เบื้องหลังการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีอีกมากมาย แต่น่าเสียดายที่เจ้าตัวไม่เคยมีชื่อคว้ารางวัลโนเบลเลยแม้แต่ครั้งเดียว…

 

นักวิทย์ไร้โนเบล

 

ออปเพนไฮเมอร์ได้มุ่งความสนใจในการศึกษาด้านดาราศาสตร์ทฤษฎี นิวเคลียร์ฟิสิกส์ และทฤษฎีสนามควอนตัม โดยเริ่มจากการศึกษารังสีคอสมิก ต่อด้วยการคำนวณกัมมันตภาพรังสีเทียมโดยดิวเทอเรียม (ไฮโดรเจนหนัก) ร่วมกับ เมลบา ฟิลลิปส์ นักศึกษาระดับปริญญาเอกคนแรกของเขา จนเกิดเป็นทฤษฎี ‘กระบวนการออปเพนไฮเมอร์-ฟิลลิปส์’ ที่ยังคงใช้ได้อยู่จวบจนปัจจุบัน

 

ต่อมาในช่วงปลายยุคทศวรรษ 1930 ออปเพนไฮเมอร์เริ่มสนใจในด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และได้ศึกษาคุณสมบัติของดาวนิวตรอนผ่านงานที่ ริชาร์ด โทลมัน ได้เขียนไว้ จนนำไปสู่งานวิจัยร่วมกับนักศึกษาของเขาอย่าง จอร์จ โฟลคอฟฟ์ เพื่อคำนวณหาขีดจำกัดมวลสูงสุดที่ดาวนิวตรอนสามารถมีได้ ก่อนจะยุบตัวลงสู่แกนกลางกลายเป็นหลุมดำ จนกลายเป็นขีดจำกัดโทลมัน-ออปเพนไฮเมอร์-โฟลคอฟฟ์ หรือ TOV Limit

 

หลังจากนั้นนักฟิสิกส์ทฤษฎีรายนี้ได้ตีพิมพ์งานวิจัย On Continued Gravitational Contraction ร่วมกับฮาร์ตแลนด์ สไนเดอร์ ที่ทำนายถึงการมีอยู่ของดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัยด้วยการยุบตัวลง จนก่อให้เกิดวัตถุที่มีแรงดึงดูดมหาศาลมากจนแม้แต่แสงก็มิอาจหลุดพ้นได้ หรือก็คือคอนเซปต์แรกเริ่มของ ‘หลุมดำ’ อย่างที่รู้จักในปัจจุบัน

 

และด้วยชื่อเสียงกับผลงานของออปเพนไฮเมอร์ ทำให้ เลสลีย์ โกรฟส์ นายพลและผู้อำนวยการของโครงการแมนฮัตตัน ได้เชิญเขาเข้ามาเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการลับ ‘ลอส อลามอส’ ที่ได้ออกแบบและสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรกได้สำเร็จ แม้จะมีความกังวลว่าออปเพนไฮเมอร์ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารงานที่ใหญ่ระดับนี้ แถมยังเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่ไม่มีรางวัลโนเบล อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นเคลือบแคลงได้หรือไม่

 

แต่ความเป็นจริงคือความสามารถและความสนใจที่หลากหลาย ทำให้ออปเพนไฮเมอร์ไม่เคยโฟกัสกับงานตัวใดได้นานเพียงพอจนได้รับรางวัลโนเบล แต่เจ้าตัวก็ยังเป็นที่จดจำจากการเป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณู และถูกนำชื่อไปตั้งเป็นหลุมบนดวงจันทร์กับดาวเคราะห์น้อย 67085 Oppenheimer อีกด้วย

 

ผู้ทำลายล้าง

 

การพัฒนาระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นจากคำสั่งของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ในปี 1942 ตามคำแนะนำจากจดหมายของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ เลโอ ซีลาร์ด ที่ส่งถึงมือเขาตั้งแต่ปี 1939 โดยเริ่มจากอาวุธนิวเคลียร์แบบปืนที่แตกตัวจากการยิงมวลของยูเรเนียม-235 ที่มีมวลต่ำกว่ามวลวิกฤต ผ่านลำกล้องเข้าไปในมวลต่ำกว่าวิกฤตอีกฝั่งหนึ่งอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้มวลรวมมากกว่าค่าวิกฤต เริ่มต้นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้เกิดระเบิดนิวเคลียร์ขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ดีไซน์ดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะมียูเรเนียมเพียงเล็กน้อยที่เกิดกระบวนการฟิชชัน จึงมีการปรับโฟกัสการพัฒนาระเบิดไปใช้รูปแบบระเบิดภายในที่นำวัตถุระเบิดแรงสูงไปห้อมล้อมเป็นทรงกลมรอบพลูโตเนียม-239 และมีโพโลเนียมกับเบอริลเลียมปริมาณน้อยอยู่ที่แกนกลาง เพื่อให้เมื่อมีการจุดระเบิดขึ้นแล้ว คลื่นแรงระเบิดทำให้เกิดการบีบอัดตัวของพลูโตเนียมและมีค่ามวลรวมสูงกว่ามวลวิกฤต ตามด้วยปฏิกิริยาจากอนุภาคนิวตรอนที่ปล่อยจากเบอริลเลียม ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่จนกลายเป็นระเบิดนิวเคลียร์

 

The Gadget เป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่ได้อุบัติขึ้นในการทดสอบทรินิตี้กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก เมื่อเช้ามืดวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ด้วยพลังงานที่รุนแรงเทียบเท่าระเบิด TNT 25 กิโลตัน จนเกิดเป็นหลุมลึก 1.4 เมตร และกินพื้นที่รัศมี 80 เมตร แรงระเบิดสามารถรู้สึกไปได้ไกลกว่า 160 กิโลเมตร นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ระเบิดนิวเคลียร์ได้ถูกจุดขึ้น และเปลี่ยนโลกใบนี้ไปตลอดกาล

 

ออปเพนไฮเมอร์เปิดเผยในภายหลังว่าบทกลอนจากภาษาสันสกฤตท่อนหนึ่งได้เข้ามาในความคิดเขา ณ เวลาที่เกิดการระเบิดขึ้น นั่นคือ “ตอนนี้เราคือความตาย ผู้ทำลายล้างโลกใบนี้”

 

ระเบิดนิวเคลียร์ Little Boy ที่ยังคงเป็นระเบิดยูเรเนียม-235 แบบปืน ถูกปล่อยเหนือเมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ตามด้วยระเบิด Fat Man ที่เป็นพลูโตเนียม-239 แบบระเบิดภายใน ถูกปล่อยเหนือเมืองนางาซากิเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมของปีเดียวกัน ยอดผู้เสียชีวิตรวมจากทั้งสองจุดมีไม่น้อยกว่า 110,000 คน

 

ออปเพนไฮเมอร์อาจเคยเชื่อว่าระเบิดปรมาณูช่วยยุติสงครามได้โดยสิ้นเชิง แต่จุดยืนของเขาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น และเคยขอเข้าพบประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน เพื่อแสดงความไม่สบายใจต่ออาวุธดังกล่าว และบอกกับทรูแมนว่า “ผมรู้สึกเหมือนมีเลือดเปื้อนอยู่บนมือ” ก่อนที่ประธานาธิบดีจะตอบกลับอย่างขุ่นเคืองว่า “ไม่เป็นไร แค่ล้างออกก็หายแล้ว” ก่อนจะตัดจบการประชุม พร้อมกับสั่งว่า “อย่าให้เด็กขี้แยคนนั้นเข้ามาในนี้อีก”

 

ชีวิตของบิดาแห่งระเบิดปรมาณูพลิกผันไปหลังจากนั้น เมื่อเจ้าตัวถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับของสหภาพโซเวียตจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ จนต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนแบบลับในปี 1954 และแม้ผลสรุปจากการตัดสินจะระบุว่าเขามีความภักดีและรักษาความลับทางราชการได้ แต่ออปเพนไฮเมอร์ก็ไม่ได้รับการแนะนำให้ต่ออายุการเข้าถึงข้อมูลความมั่นคงทางราชการ อันหมายถึงจุดจบของการทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ

 

ต่อมาในปี 2022 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าผลการตัดสินออปเพนไฮเมอร์ในปี 1954 เป็นโมฆะจากกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการล่าแม่มดจากความกังวลของสาธารณะที่มีต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมออกมายืนยันอีกครั้งว่านักฟิสิกส์รายนี้มีความภักดีต่อชาติมาตลอด

 

ออปเพนไฮเมอร์จึงกลายเป็นคนที่ทั้งถูกยกย่องในฐานะอัจฉริยะนักฟิสิกส์ทฤษฎี ผู้บุกเบิกศาสตร์ดังกล่าวในสหรัฐฯ และบิดาแห่งระเบิดปรมาณู แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงความภักดี เป็น ‘เด็กขี้แย’ และถูกเกลียดชังจากการเป็นผู้สร้างอาวุธทำลายล้างให้กับมวลมนุษยชาติไปในเวลาเดียวกัน

 

Oppenheimer ภาพยนตร์ชีวประวัติที่ย้อนรำลึกถึงชีวิตของนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของไทยแล้วตั้งแต่วันนี้ (20 กรกฎาคม)

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising