อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนีเตรียมเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 4 หลังผลสำรวจการลงคะแนนหน้าจุดเลือกตั้งเปิดเผยตัวเลข คะแนนพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (ซีดียู) และพี่น้องอย่างพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (ซีเอสยู) คว้าคะแนนด้วยสัดส่วนร้อยละ 32
จากผล Exitpoll นี้ ย่อมบังคับให้แมร์เคิลต้องหาแนวร่วมจากพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และอาจใช้เวลานานหลายเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากคะแนนที่ได้ลดลงจากปี 2013 เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์
เจเรมี คลิฟฟ์ (Jeremy Cliffe) ประจำนิตยสาร The Economist มองว่าโพลนี้เป็นหายนะสำหรับพรรคซีดียูและซีเอสยู ด้วยคะแนนที่ออกมาแย่กว่าโพลที่เคยมีอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ตัวเลขจากโพลเปิดเผยอีกว่า พรรคคู่แข่งสำคัญอย่างสังคมประชาธิปไตย (เอสดีพี) ของมาร์ติน ชูลซ์ (Martin Schulz) ครองอันดับสองด้วยสัดส่วนคะแนนร้อยละ 20
อย่างไรก็ตาม แกรนด์โคอาลิชัน หรือการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลของสองพรรคใหญ่นี้ไม่อาจเกิดขึ้นอีกเหมือนสมัยปี 2013 หลังล่าสุด รองหัวหน้าพรรคเอสดีพี มานูเอลา ชเวซิก (Manuela Schwesig) ประกาศจะขอเป็นฝ่ายค้าน ทำให้ตัวเลือกสำหรับแมร์เคิลอาจตกอยู่ที่พรรคประชาธิปไตยเสรี (เอฟดีพี) และพรรคกรุเนอ (กรีน)
แต่สำหรับอันดับที่สามไม่ตกเป็นของสองพรรคที่นายกฯ เยอรมนีอาจหมายตาไว้ แต่กลายเป็นพรรคขวาจัดอย่างพรรคทางเลือกเยอรมนี (เอเอฟดี) ที่จะเข้ามาแบ่งที่นั่งในสภาบุนเดสตากไปร้อยละ 5 จากที่นั่งทั้งหมด หลังกวาดคะแนนมาครองได้ 13 เปอร์เซ็นต์
ส่วนพรรคขนาดเล็กอย่างเอฟดีพี Exitpoll เผยว่า ได้คะแนนไป 10 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยพรรคกรุเนอที่ 9 เปอร์เซ็นต์ และพรรคเอียงซ้ายอย่างดีลิงเคอในสัดส่วนคะแนนเท่ากัน
การเลือกตั้งเยอรมนีถือเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะจะนำมาสู่นโยบายหลายอย่างที่สำคัญในช่วงสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทั้งในเรื่องสหภาพยุโรปและผู้ลี้ภัย
Photo: TOBIAS SCHWARZ, PATRIK STOLLARZ/AFP
อ้างอิง: