×

อังเกลา แมร์เคิล ได้รับรางวัล ‘ผู้ลี้ภัยนานเซ็น 2022’ จาก UNHCR หลังคุ้มครองผู้ลี้ภัยในวิกฤตสูงสุดซีเรีย

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2022
  • LOADING...
อังเกลา แมร์เคิล

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประกาศว่า ดร.อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็นผู้ได้รับรางวัล ‘ผู้ลี้ภัยนานเซ็น’ จาก UNHCR ประจำปี 2022 เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

 

โดยรางวัลนี้ได้ตั้งชื่อตามนักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูต และนักมนุษยธรรมชาวนอร์เวย์ ‘ฟริดท์ฮอฟ นานเซ็น’ ซึ่งในแต่ละปีจะมอบให้กับบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร ที่อุทิศตนทำหน้าที่ปกป้องผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ

 

ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ประเทศเยอรมนีได้ต้อนรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยมากกว่า 1.2 ล้านคน ในปี 2015 และ 2016 ซึ่งเป็นวิกฤตสูงสุดของความขัดแย้งในประเทศซีเรียและท่ามกลางความรุนแรงที่อันตรายที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ

 

ในเวลานั้น อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “สถานการณ์นี้เป็นการทดสอบคุณค่าของชาวยุโรปอย่างไม่ค่อยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งไม่มากและไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่ควรปฏิบัติในทางมนุษยธรรม” เธอเรียกร้องให้ชาวเยอรมันปฏิเสธการแบ่งแยกเชื้อชาติและกระตุ้นให้พวกเขาเชื่อมั่นในตนเองอย่างมีเสรีภาพ มีความเมตตา และเปิดใจกว้าง

 

ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ ชมเชยความมุ่งมั่นของอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ในการมอบความคุ้มครองให้แก่ผู้ขอลี้ภัยและยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากกว่าล้านคนให้รอดชีวิตและสร้างชีวิตใหม่ได้ อังเกลา แมร์เคิล ได้แสดงความกล้าหาญทั้งในด้านศีลธรรมและการเมืองอย่างยิ่งใหญ่

 

“นี่คือความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง เพื่อมวลมนุษยชาติที่ยืนหยัดต่อต้านผู้ที่สร้างความหวาดกลัวและการเลือกปฏิบัติ เธอแสดงให้เห็นว่านักการเมืองสามารถเลือกปฏิบัติในทางที่ถูกต้องและทำงานเพื่อหาทางออกให้กับความท้าทายของโลกได้มากกว่าการผลักความรับผิดชอบให้ผู้อื่น”

 

คณะกรรมการคัดเลือกกล่าวว่า พวกเขาเล็งเห็น “ความเป็นผู้นำ ความกล้าหาญ และความเมตตาของอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการมอบความคุ้มครองนั้นครอบคลุมถึงผู้คนที่สิ้นหวังกว่าหลายแสนคน” และความพยายามของเธอในการหา “ทางออกระยะยาวในขอบข่ายที่ทำได้จริง” สำหรับผู้ที่แสวงหาความปลอดภัย

 

เช่นเดียวกับการปกป้องผู้ที่ถูกบังคับให้หนีจากสงคราม การประหัตประหาร และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อดีตนายกรัฐมนตรียังเป็นแรงขับเคลื่อนในความพยายามของประเทศเยอรมนีจากหลายภาคส่วนเพื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยและช่วยให้พวกเขาได้ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับสังคม ผ่านการศึกษาและโครงการฝึกอบรมต่างๆ แผนการจ้างงาน และการผสมผสานตลาดแรงงานที่ช่วยปกป้องผู้ลี้ภัยที่เปราะบางหลายหมื่นคน

 

นอกจากนั้นเธอยังมีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อให้มั่นว่าการเติบโตของประเทศเยอรมนีในฐานะพันธมิตรด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เชื่อถือได้ และไม่หยุดนิ่ง รวมถึงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลกด้วย ทั้งนโยบายและคำแถลงต่อสาธารณชนของเธอเป็นพลังบวกในการอภิปรายระดับยุโรปและทั่วโลกต่อหัวข้อการขอลี้ภัยและการจัดการวิกฤตการถูกบังคับให้พลัดถิ่น

 

คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR ยังได้ยกย่องผู้ชนะทั้ง 4 ท่านจากระดับภูมิภาค ประจำปี 2022 ดังนี้

 

จากทวีปแอฟริกา ‘เอ็มบิรา ไฟร์ บริเกด’ กลุ่มนักดับเพลิงอาสาสมัครที่ทั้งหมดเป็นผู้ลี้ภัยในสาธารณรัฐอิสลามมอริเตเนีย ซึ่งได้ช่วยดับไฟป่าไปมากกว่า 100 ครั้ง และปลูกต้นไม้กว่า 1,000 ต้น เพื่อช่วยยังชีพสิ่งมีชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นนั้น

 

จากทวีปอเมริกา ‘บิเซนตา กอนซาเลซ’ ที่ทำงานเกือบ 50 ปี เพื่อผู้พลัดถิ่นและบุคคลเปราะบาง และเป็นผู้ก่อตั้งสหกรณ์โกโก้ในสาธารณรัฐคอสตาริกา เพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัยและผู้ที่รอดชีวิตจากผลกระทบของความรุนแรงในครอบครัว

 

จากทวีปเอเชียและแปซิฟิก ‘องค์กรด้านมนุษยธรรม Meikswe Myanmar’ ที่ได้สนับสนุนชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศด้วยอุปกรณ์ฉุกเฉิน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และโอกาสด้านความเป็นอยู่ต่างๆ

 

จากทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ‘ดร.นางาม ฮาซาน’ นรีแพทย์ชาวอิรัก ผู้ดูแลรักษาทางการแพทย์และด้านจิตใจให้กับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ยาซิดีที่รอดชีวิตจากการถูกประหัตประหาร ถูกจับเป็นทาส และถูกคุกคามทางเพศ โดยกลุ่มหัวรุนแรงทางตอนเหนือของอิรัก

 

รางวัลนี้จะมอบแก่อดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ในวันที่ 10 ตุลาคม ในพิธีมอบรางวัลร่วมกับผู้ได้รับรางวัลในระดับภูมิภาค

 

ด้วยจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกที่สูงเกิน 100 ล้านคนเป็นครั้งแรก กรันดีกล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องยึดมั่นในความรู้สึกเมตตาปราณีต่อผู้ที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านของตน และประเทศต่างๆ จำเป็นต้องถือธรรมเนียมปฏิบัติโบราณในการมอบที่ลี้ภัย อย่างที่หลายประเทศได้ถือปฏิบัติเสมอมา รวมถึงประเทศที่มอบที่พักพิงมาอย่างยาวนานอย่างโอบอ้อมอารี เช่น ตุรกี ปากีสถาน ยูกันดา และอีกหลายประเทศ

 

ปีนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี ตั้งแต่ ฟริดท์ฮอฟ นานเซ็น ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติคนแรกได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1922 จากความพยายามของเขาในการส่งนักโทษสงครามกลับประเทศและปกป้องผู้ลี้ภัยหลายล้านคนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง การปฏิรูป และการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ จักรวรรดิออตโตมัน และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี

 

อีกทั้งยังเป็นโอกาสครบรอบ 100 ปี ตั้งแต่มีการออกหนังสือเดินทางนานเซ็น ซึ่งเป็นเอกสารระบุตัวตนของผู้ลี้ภัยที่หลายคนกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ทำให้ผู้ถือเอกสารสามารถเดินทางข้ามชายแดนเพื่อหางานทำได้

 

คุณสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นเพิ่มเติมได้ที่ www.unhcr.org/media-nansen-refugee-award-2022 

 

โดยรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1954 เพื่อยกย่องเจตนารมณ์ของ ฟริดท์ฮอฟ นานเซ็น นักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจขั้วโลกชาวนอร์เวย์ และผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเป็นคนแรกขององค์การสันนิบาตชาติ ฟริดท์ฮอฟได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนี้เมื่อปี 1921 เขาได้อุทิศตนในการหาทางออกแก่ผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียและอาร์เมเนียทันที รวมถึงผู้ลี้ภัยจากประเทศกรีซและตุรกีที่ต้องพลัดถิ่นจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันและสงครามประกาศอิสรภาพของตุรกี

 

ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และการล่มสลายของ 3 จักรวรรดิใหญ่ ถูกทิ้งให้ไร้รัฐไร้สัญชาติเนื่องจากแผนที่ยุโรปถูกกำหนดขึ้นใหม่และหลายประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัยถูกตัดออกไป หนึ่งในทางออกของนานเซ็นคือการออกเอกสารใหม่ที่สามารถระบุตัวตนและใช้เดินทางได้ ทำให้ผู้ถือเอกสารสามารถหางานในประเทศที่สามนอกเหนือจากประเทศที่มอบที่พักพิงให้พวกเขาได้ ซึ่งมีผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียและอาร์เมเนียราว 450,000 คน ได้รับ ‘หนังสือเดินทางนานเซ็น’ นี้

 

การทำงานด้านมนุษยธรรมอื่นของนานเซ็นจากในช่วงเวลาเดียวกัน รวมถึงการส่งนักโทษสงครามกลับประเทศต้นทางและการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ชาวรัสเซียที่ตกอยู่ในความอดอยากหลายแสนคน

 

นานเซ็นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ 100 ปีก่อน ในปี 1922 และในปีนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบทศวรรษที่มีการออกหนังสือเดินทางนานเซ็นที่ถูกยกเลิกไปในปี 1942 รางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1954 และผู้ได้รับรางวัลคนแรกคือ เอเลนอร์ โรสเวลต์ ประธานคนแรกของคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในวาระของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์

 

ผู้ชนะท่านอื่นที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี, นักร้องโอเปรา ลูชาโน ปาวารอตตี, นักมนุษยธรรม กราซา มาเชล, องค์การแพทย์ไร้พรมแดน และประชาชนในประเทศแคนาดา ทั้งนี้ รางวัลนี้มักมอบให้กับองค์กรหรือบุคคลทั่วไปที่ได้อุทิศตนทำงานหนัก แต่ผลงานของพวกเขาไม่ได้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างนั้นควรคู่กับการสนับสนุนด้านงบประมาณและการยกย่องให้เกียรติ ตั้งแต่ปี 2017 UNHCR ได้ยกย่องผู้ชนะในระดับภูมิภาคขึ้นด้วยเช่นกัน

 

แฟ้มภาพ: Markus Schreiber / Pool / AFP

อ้างอิง: UNHCR

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising