×

นายกฯ เยอรมนี ต้อนรับผู้นำ G7 ร่วมประชุมสุดยอด ในวาระการประชุมเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลสืบเนื่อง

26.06.2022
  • LOADING...
Olaf Scholz

วันนี้ (26 มิถุนายน) โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ต้อนรับผู้นำกลุ่มประเทศ G7 สู่การประชุมสุดยอดเป็นเวลา 3 วัน สำนักข่าว Reuters ระบุว่า การประชุมนี้ถูกบดบังด้วยสงครามในยูเครนและผลที่ตามมามากมาย ตั้งแต่การขาดแคลนพลังงานไปจนถึงวิกฤตอาหาร โดยองค์การสหประชาชาติเตือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ถึงวิกฤตความหิวโหยทั่วโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การที่จีนแสดงออกอย่างแข็งขันมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของอำนาจนิยม ก็ถูกกำหนดให้อยู่ในวาระการประชุมด้วยเช่นกัน

 

ผู้นำ G7 ถูกคาดว่าจะพยายามแสดงแนวร่วมในการสนับสนุนยูเครนให้นานตราบเท่าที่จำเป็น และเพิ่มความกดดันต่อรัสเซีย แม้ว่าพวกเขาจะต้องการหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรที่อาจกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ และทำให้วิกฤตค่าครองชีพที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนของพวกเขาเองนั้นรุนแรงขึ้นก็ตาม

 

แหล่งข่าวระบุกับ Reuters ว่า หุ้นส่วนในกลุ่ม G7 พร้อมที่จะตกลงห้ามการนำเข้าทองคำจากรัสเซีย และแหล่งข่าวของรัฐบาลเยอรมนีกล่าวในภายหลังว่า บรรดาผู้นำกำลังมีการสนทนาที่สร้างสรรค์เกี่ยวกับเพดานราคาที่เป็นไปได้สำหรับการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย

 

นอกจากนี้คาดว่าผู้นำ G7 ยังจะหารือเกี่ยวกับทางเลือกในการจัดการกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นและการแทนที่การนำเข้าน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย และนี่ก็จะเป็นโอกาสที่ โอลาฟ ชอลซ์ นายกฯ เยอรมนี จะใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพ โดยแสดงความเป็นผู้นำที่แสดงออกมากขึ้นในวิกฤตยูเครน

 

ชอลซ์ได้ให้คำมั่นว่า จะปฏิวัตินโยบายการต่างประเทศและการป้องกันประเทศของเยอรมนีหลังการรุกรานของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ โดยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนกองทัพด้วยกองทุน 1 แสนล้านยูโร และส่งอาวุธไปยังยูเครน แต่นักวิจารณ์กล่าวหาว่า เขาจงใจถ่วงเวลาและส่งสารอันหลากหลาย จากการเตือนว่า  รัสเซียอาจมองว่า NATO เป็นฝักฝ่ายในสงคราม และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์

 

การประชุมผู้นำ G7 ในครั้งนี้เกิดขึ้นที่รีสอร์ตชลอสส์เอลมาว เชิงเขาซุกสปิตเซที่สูงที่สุดของเยอรมนี ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่เคยถูกใช้เมื่อครั้งเยอรมนีเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีของกลุ่ม G7 ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2015 และในปีนี้ชอลซ์ได้เชิญประเทศหุ้นส่วนอย่างเซเนกัล ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา, อาร์เจนตินา ที่เป็นผู้นำประชาคมลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (Community of Latin American and Caribbean States: CELAC), อินโดนีเซียและอินเดีย ในฐานะเจ้าภาพการประชุม G20 ในครั้งนี้และครั้งหน้า ตลอดจนแอฟริกาใต้ด้วย

 

“การประชุมต้องไม่เพียงส่งข้อความว่า NATO และ G7 กำลังสามัคคีกันมากกว่าที่เคยเท่านั้น แต่ยังต้องให้ประเทศประชาธิปไตยของโลกยืนหยัดร่วมกันต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของปูติน เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำในการต่อสู้กับความหิวโหยและความยากจน” ชอลซ์ระบุกับรัฐสภาเยอรมนีในสัปดาห์นี้

 

เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปรายหนึ่งยังระบุว่า กลุ่ม G7 จะพยายามทำความเข้าใจกับประเทศหุ้นส่วนว่า การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาเป็นผลจากปฏิกิริยาของรัสเซีย และไม่มีการคว่ำบาตรที่มุ่งเป้าไปที่อาหาร นอกจากนี้การมองว่าสงครามยูเครนเป็นเรื่องท้องถิ่น ก็เป็นความผิดพลาดเช่นกัน

 

G7 ก่อตั้งขึ้นในปี 1975 เพื่อเป็นเวทีสำหรับชาติที่ร่ำรวยที่สุด เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น การห้ามส่งออกน้ำมันของกลุ่ม OPEC และกลายมาเป็น G8 หลังรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้ 6 ปี แต่สมาชิกภาพของรัสเซียก็ถูกระงับในปี 2014 หลังรัสเซียผนวกดินแดนไครเมียจากยูเครน

 

ล่าสุดมีรายงานว่า ชาติสมาชิก G7 จะมีการประกาศแบนการนำเข้าทองคำจากรัสเซีย โดย Reuters รายงานอ้างคำกล่าวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันอังคารนี้

 

ภาพ: Sean Gallup / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising