×

‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ดันต่างชาติแห่เช่า-ซื้อที่ดินการนิคมฯ – EEC ทะลุเป้า ‘ทุนจีน’ เหมา Smart Park สร้างแลนด์มาร์กโลจิสติกส์

28.04.2024
  • LOADING...
Geopolitics

กนอ. เผย ยอดขาย-เช่าทะลุเป้าตั้งแต่ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ชี้แรงหนุนความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามการค้า ดันทุนจีน-สหรัฐฯ ย้ายฐานการลงทุนมาอาเซียนและไทย 

 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3,946 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3,472 ไร่ และนอกพื้นที่ EEC 474 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 158,372 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายของปีงบประมาณ 2567 ที่ตั้งเป้ายอดขาย-เช่าตลอดทั้งปีไว้ที่ 3,000 ไร่ ปี 2567 จึงปรับเป้ายอดขายที่ดินที่ 4,000-4,500 ไร่ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“แรงหนุนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะนี้มาจากปัจจัยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ส่งผลให้มีบริษัทในจีนสนใจย้ายฐานการลงทุนมาภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่อง โดยเฉพาะไทย ซึ่งในปีนี้ กนอ. อยู่ระหว่างสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ก (Smart Park) ที่จะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567 โดยหลักๆ จะเป็นกลุ่มนักลงทุนจากจีนสนใจเช่าที่ดินแบบเหมาแปลงใหญ่

 

“เพื่อประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ทั้งการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ และหลักๆ ที่มาลงทุนพื้นที่นี้มากสุดคือด้านโลจิสติกส์ ซึ่งหากแล้วเสร็จคาดว่าจะเกิดการจ้างงาน 7,459 คน เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพื้นที่กว่า 1,342 ล้านบาทต่อปี”

 

ทั้งนี้ ครึ่งปีหลัง 2567 นักลงทุนจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ยังคงเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง การจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ก (Smart Park) จังหวัดระยอง นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ปีแรก 

 

ลุยนิคมฮาลาล-แลนด์บริดจ์-มาบตาพุด เฟส 3

 

นอกจากนี้ กนอ. ยังคงเดินหน้าศึกษา พัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เพิ่มรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล หรือเป็นนิคมฮาลาล และเกี่ยวข้องกับอาหารทะเล รวมถึงยังมีแผนศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และนิคมยางภาคใต้ 

 

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ (LNG) 14.8 ล้านตันต่อปี ที่มีเอกชนร่วมลงทุนทั้งถมทะเล สร้างท่าเรือ ที่จะดำเนินการ 35 ปี เงินลงทุน 55,400 ล้านบาท คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมูลค่า 32,000 ล้านบาทนั้น ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ที่ 87.33%   

 

การถมทะเลและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2567 และสามารถก่อสร้างท่าเรือก๊าซฯ ได้ในช่วงต้นปี 2568 ก่อนที่จะพร้อมเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2570

 

“โครงการนี้อยู่ระหว่างทบทวนรายงานผลการศึกษาเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลวและพื้นที่หลังท่า ซึ่งอาจล่าช้าไปบ้างเพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าการลงทุนด้านปิโตรเคมีในมาบตาพุดก็ต้องจับตากลุ่มนักลงทุนจีน เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มประเทศจีนที่เคยเป็นลูกค้าของไทยก็หันมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกมาขายแข่งเพิ่มมากขึ้น หากลงทุนอาจจะมีความเสี่ยง ซึ่งนักลงทุนก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ” 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X