×

ทำไมไทยพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และลมช้าที่สุดในภูมิภาค สวนทางเวียดนาม ทั้งที่มีศักยภาพ แต่กลับผลิตไม่ถึง 5% และต้องรับมือค่าไฟที่แพงขึ้น

27.10.2023
  • LOADING...
พลังงานแสงอาทิตย์

สื่อนอกเผย ไทยพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และลมล่าช้าที่สุดในภูมิภาค สวนทางเวียดนาม โดยผลิตไม่ถึง 5% แถมติด 1 ใน 10 ผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG ของโลก หากนำเข้ามากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงหรือไม่ หลังพบตัวเลข 10 เดือนการนำเข้าพุ่งขึ้นถึง 25% ขณะที่ กกพ. ระบุว่า ต้นทุนค่าไฟงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 มีแนวโน้มสูงกว่างวดปัจจุบัน โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตาคือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กดดันดีมานด์และซัพพลาย เพราะไทยพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก หากรัฐไม่อุ้ม ค่าไฟส่อทะลุเกิน 4 บาทในปีหน้า

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG โดยมีปริมาณการนำเข้า 22.9 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 19.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ไทยขยับขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG จากอันดับ 11 เป็นอันดับ 8 ของโลกเป็นครั้งแรก 

 

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG  ของไทยกำลังสวนทางกับการหลายประเทศที่พยายามลดการนำเข้าลงอย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้อาจส่งผลดีต่อผู้ส่งออกก๊าซ LNG รายใหญ่อย่างกาตาร์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากเกินไปนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจและสร้างความกังวลในกลุ่มผู้สนับสนุนสิ่งแวดล้อมภูมิภาคหรือไม่ เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำและใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมุ่งมั่นและมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด แต่ข้อมูลย้อนหลังกลับพบว่า ไทยนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มมากขึ้นถึง 127% นับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน สาเหตุสำคัญเนื่องด้วยระบบที่เน้นนำเข้ามาเพื่อผลิตไฟฟ้า 

 

พลังงานแสงอาทิตย์

 

ข้อมูลของสถาบันคลังสมอง Ember ระบุอีกว่า ปีนี้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติของไทยมีสัดส่วนคิดเป็นราว 67% ของการผลิตไฟฟ้า เมื่อเทียบกับภูมิภาคอยู่ที่ 30% และ 10% ในเอเชีย 

 

ไทยพัฒนาพลังงานหมุนเวียนช้าที่สุดในภูมิภาค

 

น่าสนใจว่าทรัพยากรแสงแดดและแนวชายฝั่งที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการผลิตพลังงานลมซึ่งมีศักยภาพอย่างมาก แต่ไทยกลับเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมช้าที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของการผลิตพลังงานทั้งหมดในประเทศ 

 

สวนทางกับเวียดนามที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมคิดเป็นสัดส่วน 13% ในขณะที่เอเชียโดยรวมมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 11% และไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์

 

กกพ. รับไทยนำเข้าก๊าซ LNG เป็นหลักเพื่อผลิตไฟฟ้า จำเป็นต้องอิงราคาตลาดโลก

 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า อยากที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติ (LNG) เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจากปัญหาวิกฤตโควิดและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ผ่านมา ล้วนมีผลต่อราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงและอ้างอิงตลาดโลก 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชื้อเพลิงส่วนหนึ่งจะมาจากอ่าวไทยก็ตาม แต่ราคาก็มีการปรับตามปัจจัยต่างๆ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลถึงทั้งค่าน้ำมันที่แพงขึ้น ขึ้นอยู่กับตรงนี้อาจจะไม่มาก แต่ก็มีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นระดับ 5-10 สตางค์ 

 

อีกทั้งไทยมีปัญหาในเรื่องของปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของแหล่งเอราวัณ ที่ยังต้องลุ้นกำลังการผลิตจะกลับมาตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องอิงกำลังการผลิตที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไปก่อน

 

รวมไปถึงขณะนี้หากสงครามอิสราเอลกับฮามาสบานปลายก็จะยิ่งกระทบกับราคา และถ้าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่หายไป จะต้องดูว่าช่วงต้นปี 2567 ต้องเติมที่เท่าไหร่อีกด้วย

 

“กกพ. จึงอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อทำตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567) ซึ่งจากคาดการณ์แนวโน้มต้นทุนอาจจะแพงกว่างวดปัจจุบัน (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2566) ถือเป็นการมองไปข้างหน้า” 

 

โดยขณะนี้ (26 ตุลาคม) ราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) ตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 17-18 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยซื้อเข้ามาเสริม และต้องบริหารจัดการพื้นที่คลังก๊าซให้รองรับได้เพียงพอ

 

ปีหน้าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มีผลต่อค่าไฟคนไทยที่แพงขึ้น

 

“ดังนั้นจึงบอกได้เพียงแค่ว่า แนวโน้มต้นทุนแพงกว่างวดปัจจุบันแน่นอนจากปัจจัยราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์” คมกฤชกล่าวย้ำ

 

เขากล่าวอีกว่า แม้มีปัจจัยบวกคือโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว รวมถึงเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมาช่วยเสริมก็มีส่วนช่วยต้นทุนถูกลงเล็กน้อยหากเทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

 

“แต่ปัจจัยภายนอกมีเยอะมาก โดยเฉพาะสงคราม ทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีการปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคา LNG จะขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย และอีกปัจจัยสำคัญคือ ประเทศเศรษฐกิจอย่างจีนจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน และอินเดียจะมีการใช้มากหรือไม่ด้วย”

 

กฟผ. แบกหนี้ 1.3 แสนล้านบาท

 

หากรัฐบาลไม่มีนโยบายมาดูแลต่อต้นทุนที่แท้จริงก็จะอยู่ที่กว่า 4 บาทต่อหน่วย โดยเฉพาะหนี้ที่ กฟผ. แบกรับไว้อีกกว่า 1.3 แสนล้านบาทว่าจะไหวหรือไม่ และจะช่วยได้อีกเท่าไร และเมื่อ กฟผ. ช่วยเหลือต่อไปก็จะต้องดูว่าจะช่วย กฟผ. กลับไปอย่างไร ซึ่งรวมถึงการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืดหนี้ราคาค่าก๊าซธรรมชาติ 

 

ดังนั้นจากหลายเงื่อนไข จึงต้องอยู่ที่นโยบายภาครัฐ ซึ่งในอดีตไม่เคยมีนโยบายมาดู เพราะต้นทุนเมื่อบวกลบแล้วไม่เคยเกิน 3-4 สตางค์ต่อหน่วย แต่ปัจจุบันมีปัญหาปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หายไปจากอ่าวไทยและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อีก ทำให้ราคาวิ่งไปสูงกว่าที่ กกพ. วางไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลมีการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจสีเขียว การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจอย่างมาก กกพ. อยู่ระหว่างปรับขั้นตอนการขออนุญาต การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ปลดล็อกให้เข้าถึงง่ายขึ้นต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising