วันนี้ (21 ตุลาคม) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เดิมทีในปี ค.ศ. 2018 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศ ‘โรคติดเกม’ หรือ Gaming Disorder เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ครอบครัว การศึกษา การงานอาชีพ และสังคม ซึ่งโรคติดเกม คือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติด ในทางสมองมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ส่วนใหญ่จะติดจากการเล่นเกมผ่านอินเทอร์เน็ต
โดยมีอาการสำคัญ ดังนี้ 1. ใช้เวลาเล่นนานเกินไป 2. ขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ เช่น การกิน การนอน และ 3. เสียหน้าที่ การเรียน และการงาน
ดังนั้น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งง่ายกว่าการแก้ไขภายหลัง โดยพ่อแม่ผู้ปกครองควรทำข้อตกลง 3 ประการก่อนให้ลูกเริ่มเล่นเกม ดังนี้
1. เวลา ควรแบ่งเวลาให้ลูกเล่นเกมอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการเล่นเกมวันละ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรให้เล่นเกมในเวลาเรียน หรือเล่นในช่วงเวลากลางคืน
2. เนื้อหา ในส่วนของเนื้อหาต้องไม่มีความรุนแรง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กไปเสพข้อมูลความรุนแรงเพิ่มเติมจากทางอินเทอร์เน็ต
3. พฤติกรรม การเล่นเกมต้องไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ยอมไปเรียน โดดเรียน ไม่กินข้าวตามเวลา ไม่ยอมนอน มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทางกายและวาจา เป็นต้น
ทั้งนี้ เรื่องติดเกมไม่ใช่เป็นปัญหาของแค่ตัวเด็ก แต่เป็นปัญหาของทั้งครอบครัวที่ต้องร่วมกันจัดการ หากไม่สามารถจัดการได้ ให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกรมสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์