×

ลูกท่านหลานเธอในบริษัท มีลูกน้องเป็นเด็กเส้นจะทำอย่างไรดี?

11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • หน้าที่ของคนเป็นหัวหน้าคือ ทำอย่างไรให้เด็กเก่งขึ้นอย่างที่หัวหน้าที่ดีพึงกระทำ มีอะไรที่ตักเตือนได้ก็ต้องเตือน เพราะสุดท้ายแล้วถ้าลูกน้องทำงานได้ดีขึ้น คุณก็จะดีขึ้นไปด้วย องค์กรก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
  • ถ้าสอนบนเนื้องานไม่ได้ สอนวินัยในการทำงาน สอนการไม่ย่อท้อ สอนการอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน สอนการเป็นผู้ตามที่ดี สอนการให้เกียรติคน ฯลฯ สอนในสิ่งที่คนทำงานมืออาชีพควรต้องเป็น ให้ติดตัวน้องตลอดไป

หนูรู้ว่าหนูไม่เก่งเลย กว่าจะทำอะไรเป็นสักอย่างก็ยากมาก แต่หัวหน้าคนแรกของหนูอดทนกับหนูมาก พยายามสอนหนู ใส่ใจหนู เชื่อมั่นในเด็กที่ทำงานไม่เป็นอย่างหนู อย่างที่คนอื่นไม่เคยเชื่อมั่นในตัวหนูมาก่อน ทำให้หนูเก่งขึ้นได้

Q: ดิฉันเพิ่งได้ลูกน้องคนใหม่มา เป็นลูกหลานของประธานบริษัท เพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ และหัวหน้าของดิฉันจำต้องรับเข้ามาทำงานโดยให้ดิฉันเป็นหัวหน้า เรื่องของเรื่องคือ น้องเด็กเส้นคนนี้ทำงานไม่ดีเลย ดิฉันช่วยแล้วก็ยังไม่กระเตื้อง ถ้าเอาตามมาตรฐานจริงๆ ดิฉันคงให้ผ่านงานไม่ได้ เพราะน้องทำงานไม่ได้จริงๆ แต่เป็นเด็กเส้นที่ดิฉันรู้สึกแตะต้องอะไรไม่ได้ รู้สึกหนักใจมากค่ะ จะทำอย่างไรดีคะ

 

A: เรื่องนี้จะมองว่าเป็นปัญหาก็เป็นปัญหาครับ จะมองว่าเป็นโอกาสก็เป็นโอกาสที่ดีเชียวล่ะครับ เป็นไปได้ไหมครับว่า ผู้ใหญ่เองก็อาจจะรู้ว่าน้องคนนี้ไม่ได้เก่งอะไรมาก แหงล่ะ น้องเพิ่งเรียนจบ ก็คงยังไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมากนัก เลยส่งมาให้คุณเจียระไนโดยเฉพาะ นั่นแปลว่าผู้ใหญ่มั่นใจว่าถ้าเด็กคนนี้อยู่ในมือคุณ เด็กจะโตขึ้นได้ แสดงว่าคุณต้องมีของ ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ส่งเด็กคนนี้มาให้คุณช่วย

     มองในมุมของประธานบริษัทนะครับ ถ้าเด็กคนนี้เป็นลูกของเรา เราก็คงอยากให้ลูกเราไปอยู่ในมือ ‘ครู’ ที่ดีที่สุด หรือครูที่เอาลูกเราอยู่หมัด ถูกไหมล่ะครับ แสดงว่าเขาเลือกแล้วว่าต้องเป็นคุณ และมั่นใจแล้วว่าคุณน่าจะต้องทำหน้าที่นี้ได้ ที่เหลือคือใจคุณที่ต้องบอกว่า “คุณทำได้”

     ลองคิดดูสิครับ ว่านี่คือวิธีโชว์ผลงานของคุณที่โคตรดีเลย เพราะถ้าคุณสามารถทำให้เด็กที่ทำงานไม่เป็นกลายเป็นเด็กที่ทำงานได้ (แถมเป็นเด็กที่หัวหน้าและประธานบริษัทจับจ้องอีก) นี่แหละผลงานชิ้นโบแดงของคุณเลยนะครับ และอย่าลืมนะว่าคุณคือหัวหน้าคนแรกในชีวิตของน้องเขา คนจะจำคุณไปอีกนาน คุณจะอยู่ในทุกบทสนทนาที่น้องกล่าวถึงในการทำงานว่าหัวหน้าคนแรกของเขาเป็นอย่างไร

     ลองนึกแบบนี้ดูสิครับว่า ถ้าวันหนึ่งเด็กคนนี้จะบอกว่า “หนูรู้ว่าหนูไม่เก่งเลย กว่าจะทำอะไรเป็นสักอย่างก็ยากมาก แต่หัวหน้าคนแรกของหนูอดทนกับหนูมาก พยายามสอนหนู ใส่ใจหนู เชื่อมั่นในเด็กที่ทำงานไม่เป็นอย่างหนู อย่างที่คนอื่นไม่เคยเชื่อมั่นในตัวหนูมาก่อน ทำให้หนูเก่งขึ้นได้ หนูต้องขอบคุณหัวหน้าคนแรกของหนูจริงๆ ค่ะ” ขนลุกไหมล่ะครับ

     อย่าคิดว่าเราจะแตะเด็กคนนี้ไม่ได้เลย หน้าที่ของคุณคือ ทำอย่างไรให้เด็กคนนี้เก่งขึ้นอย่างที่หัวหน้าที่ดีพึงกระทำ มีอะไรที่ตักเตือนได้ก็ต้องเตือน เพราะสุดท้ายแล้วถ้าน้องทำงานได้ดีขึ้น คุณก็จะดีขึ้นไปด้วย องค์กรก็จะดีขึ้นไปด้วย ประธานบริษัทก็จะชื่นชมคุณไปด้วย

     ผมคิดว่าจำเป็นมากที่คุณต้อง ‘แตะ’ น้อง เพราะถ้าไม่แตะต้องเลย คุณจะลำบาก ลูกน้องคนอื่นๆ เพื่อนร่วมงาน ทุกคนก็จะก็รู้สึกว่าคุณหงอกับเด็กคนนี้ แค่นี้ก็เอาไม่อยู่ มองว่าคุณไม่ยุติธรรม ลำเอียง ทีนี้ความสามัคคีในที่ทำงานก็จะไม่เหลือ คนก็จะหมั่นไส้น้อง ไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน ใช่ซี่! เธอมันเด็กเส้น ฉันมันทำอะไรก็ผิด ทีนี้ผมว่าจะเละไปกันใหญ่ เสียระบบกันหมดพอดี

     ให้ลองคิดกับน้องว่า น้องคือเด็กคนหนึ่งที่คุณต้องหาวิธีทำให้น้องเติบโตขึ้นมาให้ได้ เหมือนอย่างที่คุณมีลูกน้องคนอื่นๆ ทีนี้คำว่า “น้องทำงานไม่ได้” หรือ “น้องทำงานไม่ดีเลย” เราคงต้องกลับมาดูครับว่าเพราะอะไร อย่างแรก เป็นไปได้ว่าวิธีการสอนของเราอาจจะไม่เข้ากับน้อง อันนี้ต้องปรับหาวิธีการสื่อสารกับน้องใหม่ หาให้เจอว่าน้องถนัดทำงานแบบไหน ให้โอกาสน้องทดลอง เช่นเดียวกัน เราเองก็ได้โอกาสในการหาวิธีทำงานกับน้องที่มันเวิร์กไปในตัว

     อย่างที่สองคือ ดูจากทรงแล้วน้องคงต้องใช้เวลามากสักหน่อย และคุณก็ต้องใช้พลังมากหน่อยในการทำให้น้องทำงานได้ แปลว่าคุณต้องใช้การอธิบาย ทำให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน แทบจะต้องจับมือทำไปด้วยกันเลยล่ะ เอาจนกว่าจะทำได้จึงจะปล่อย ยอมเหนื่อย ยอมใช้พลังหน่อยครับ ผมว่าน้องคงต้องการเวลา

     อย่างที่สาม ถ้าให้ผมเดา ผมว่าน้องอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร (ซึ่งเด็กสมัยใหม่เป็นกันเยอะครับ เราแค่ต้องหาวิธีทำงานกับเด็ก) มาทำงานแบบสมองว่างเปล่า น้องก็เลยไม่รู้สึก ‘อิน’ กับงานที่ทำ หน้าที่ของคุณคือช่วยให้น้องหาเจอว่าตัวเองต้องการอะไร และส่งเสริมให้เขาได้ทำงานแบบนั้น (ไม่ได้หาวิธีไล่นะครับ)

     คุยกับน้องเยอะๆ ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจน้องให้ได้ว่าน้องชอบอะไร หรืออยากลองอะไร เราอาจจะเจอว่า อ๋อ… น้องไม่ได้ชอบงานที่ทำอยู่หรอก แต่เป็นสถานการณ์บังคับที่โดนพ่อแม่ส่งมาให้ทำ เราก็ให้น้องทำงานบางอย่างที่เข้าทางในสิ่งที่น้องชอบ เพื่อให้น้องได้หนักแน่นกับตัวเองมากขึ้นว่า อ๋อ… ฉันชอบงานแบบนี้นี่หว่า แล้วเชื่อเถอะครับ พอน้องรู้แล้วว่าน้องชอบอะไร น้องจะไปเอง เดี๋ยวน้องก็ไปเรียนต่อของน้องเอง แต่ในช่วงเวลาที่น้องยังอยู่กับคุณ ทำอย่างไรให้น้องเจอว่าตัวเองชอบอะไร พร้อมกับให้โอกาสเขาได้ทำสิ่งนั้นหรือสิ่งที่ใกล้เคียงกับสิ่งนั้น แนะนำเขาในสิ่งที่ดี

     ถ้าเป็นแบบนี้เราเพียงทำให้เขาพอได้พื้นฐานการทำงานบางอย่างก็พอครับ เพราะเขาจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เอาเป็นว่าเขาได้วิชาบางอย่างติดตัวไปพร้อมกับความรู้สึกที่ดีว่าหัวหน้าคนแรกของเขาเข้าใจและให้โอกาสเขา แค่นี้จบแล้ว ฟินแล้ว

     ถ้าใครถามน้องคนนี้ว่าทำงานกับคุณแล้วเป็นอย่างไร คำตอบมันควรเป็น “โหย… พี่เขาใจมาก หนูไม่เก่งเลยแต่ก็ให้โอกาสหนู เขาอดทนกับหนูมาก และพยายามสอนงานหนู หนูรู้เลยว่าคนเก่งๆ เขาทำงานกันแบบนี้ ตอนนี้หนูเจอแล้วว่าหนูชอบอะไร ต้องขอบคุณหัวหน้าคนแรกของหนูมากค่ะ” แทนที่จะเป็น “โหย… อยู่กับพี่เขาแล้วไม่เห็นได้เรียนรู้อะไรเลย งานน่าเบื่อมาก ไม่อยากทำเลย”

     อยากให้เรื่องแบบไหนถึงหูประธานบริษัทล่ะครับ ฮ่าๆ ลองมองในมุมของน้อง ผมคิดว่าน้องเองก็คงมีความกดดันอยู่เหมือนกัน ยิ่งเป็นลูกหลานของประธานบริษัทคนยิ่งจดจ้อง เผลอๆ จะคอยจับผิดอยู่ เด็กเองก็คงเครียดอยู่ไม่น้อย ผมคิดว่านี่คงเป็นปมในใจน้องอยู่ ยิ่งน้องไม่เก่งน้องคงยิ่งกดดัน ไม่มั่นใจในตัวเอง เอาจริงๆ ผมว่าน้องก็โคตรทุกข์เลยนะครับ ถามว่ามีความสุขกับการทำงานไหมก็คงไม่มีความสุขหรอก แต่มันต้องมา

     เพราะฉะนั้น ถ้าคุณสามารถช่วยให้น้องเก่งขึ้น มั่นใจมากขึ้น เป็นคนช่วยให้น้องขุดเจอว่าตัวเองชอบงานอะไร น้องก็จะคลายความกดดันให้น้อยลง มีความสุขกับการมาทำงานมากขึ้น แปลว่าคุณจะช่วยให้เด็กคนนี้มีความสุขมากขึ้นได้ พอน้องพบว่าน้องทำได้ น้องก็จะกดดันน้อยลง ทำงานได้ดีขึ้น ถ้าเข้าใจในสิ่งที่น้องกำลังแบกอยู่บนบ่า คุณอาจจะเห็นใจน้องมากขึ้น และอยากใช้พลังที่มีช่วยน้องมากขึ้นก็ได้นะครับ

     ถ้าสอนบนเนื้องานไม่ได้ ท่าทางจะเข็นไม่รอด ผมว่าสอนวินัยในการทำงาน สอนการไม่ย่อท้อ สอนการอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน สอนการเป็นผู้ตามที่ดี สอนการให้เกียรติคน ฯลฯ สอนในสิ่งที่คนทำงานมืออาชีพควรต้องเป็นนี่แหละครับให้ติดตัวน้องตลอดไป อย่าลืมนะครับว่าวันหนึ่งน้องก็ต้องเป็นหัวหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่บริษัทนี้หรือที่ไหน วิชาพวกนี้ที่เราสอนน้องจะอยู่กับน้องตลอดไป ได้ใช้แน่

 

     อย่าเพิ่งท้อครับ ให้คิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการโค้ชชิ่งลูกน้องอีกแบบหนึ่ง

 

   * ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising