Q: ดิฉันเพิ่งทำงานที่ทำงานใหม่มาได้ไม่ถึงเดือน หัวหน้าส่งแอดเฟซบุ๊กมา ดิฉันควรจะทำอย่างไรดีคะ จะรับก็รู้สึกว่าจะเข้ามาส่องอะไรหรือเปล่า นี่มันพื้นที่ส่วนตัวนะ แต่เดี๋ยวไม่รับก็จะเสียความรู้สึกกัน จะรับหรือไม่รับแอดดีคะ
A: ความจริงในชีวิตอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะบอกคุณ และคุณอย่าได้ตกใจก็คือ ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าหัวหน้าจะมาส่องอะไรหรือเปล่า ผมว่าเขามาส่องคุณตั้งแต่ตอนเห็นใบสมัครแล้วล่ะครับ ฮ่าๆ
เดี๋ยวนี้เวลาจะสัมภาษณ์งานใคร การเข้าไปส่องโซเชียลมีเดียนี่แหละครับเป็นทางลัดในการทำความรู้จักคนคนนั้น โซเชียลมีเดียอาจจะไม่ได้สะท้อนในทุกสิ่งที่เราเป็น แต่ก็สะท้อนบางอย่างได้ เอาเป็นว่าก็พอจะคัดกรองกันได้คร่าวๆ ว่าคนคนนี้มีทัศนคติอย่างไร ถ้าเข้าไปส่องๆ ดูแล้วเต็มไปด้วยรูปถอดเสื้อถอดผ้า ใช้คำพูดหยาบคาย ตั้งสเตตัสด่าทอคนอื่นไปทั่ว อัพเดตทุกสิ่งที่คิดในทุกห้านาที ฯลฯ บริษัทก็คงต้องคิดนิดหนึ่งแล้วล่ะครับว่า เอ… แล้วจะรับเอาคนแบบนี้มาทำงานดีไหม แต่ถึงคุณผ่านด่านมาจนเป็นพนักงานได้แล้วก็ยังต้องระวังอยู่ดีนะครับ
ก่อนจะไปถึงเรื่องรับแอดหัวหน้าดีไหม ผมอยากชวนคุยเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียที่เกี่ยวพันกับเรื่องงานก่อน ขึ้นชื่อว่าโซเชียลมีเดียแล้วอย่างไรก็ไม่มีความเป็นส่วนตัวครับ อะไรที่เรากด enter ไปแล้วก็มีคนเห็น อย่างเดียวที่จะทำให้เป็นส่วนตัวได้คือตั้งค่าให้เราเห็นคนเดียว (แต่จริงๆ เราโพสต์อะไรไปไม่ใช่แค่เราคนเดียวหรอกครับที่รู้ เฟซบุ๊กก็รู้) เพราะฉะนั้น การใช้โซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่ที่มีคนมองเห็นเรา ยิ่งมีคนมองเห็น เรายิ่งต้องระมัดระวังตัว
ทางที่ดีเราไม่ควรโพสต์เรื่องงานของเราลงในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอะไรที่เป็นความลับของบริษัท อย่าลืมว่าอาจเป็นไปได้ที่คู่แข่งบริษัทของคุณอาจจะนำสิ่งนั้นมาเป็นเบาะแสในการโค่นบริษัทคุณก็ได้ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่มีแต่ในละครนะครับ หลุดไปนิดเดียวก็อาจพลิกให้บริษัทคุณเป็นฝ่ายเสียเปรียบไปเลยก็ได้
คิดก่อนโพสต์ ไม่จำเป็นต้องโพสต์ทุกเรื่องที่คิด อะไรที่จะแสดงออกถึงการคิดร้ายต่อคนอื่นก็เก็บไว้ในใจพอ อย่าเอาออกมา เราโพสต์ด้วยความคิดลบๆ เราก็กำลังสร้างให้เราเป็นคนที่มีความคิดลบแบบนั้น โพสต์แบบไหนลงไป เราก็กำลังสร้างเราให้เป็นคนแบบนั้นครับ
โดยส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่ควรโพสต์อะไรที่เป็นแง่ลบลงไปในโซเชียลมีเดีย ยิ่งบ่นเรื่องงานนี่ยิ่งไม่ควร แน่ล่ะว่าบางครั้งคนเรามีความอัดอั้นตันใจในเรื่องงาน อยากจะกรีดร้อง อยากจะระบายให้โลกรู้ แต่บ่นไปคนจะมองเราอย่างไรนี่สิน่าคิด เขาจะมองว่าเราอ่อนแอหรือเปล่า เขาจะมองว่าเราท้อแท้ง่ายจังไหม เขาจะมองว่าเราทำงานไม่ดีเองหรือเปล่า อันนี้สิครับที่อาจจะกลับมากลายเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของตัวเราเองได้
ลึกๆ แล้วผมคิดว่า คนที่บ่นเรื่องงานลงในเฟซบุ๊กไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการรับรู้ว่ายังมีคนคอยให้กำลังใจเขาอยู่ เลยระบายออกไปเพื่อให้คนมาคอมเมนต์ให้กำลังใจ ลึกๆ แล้วเขาคงแค่อยากระบาย อยากรู้สึกว่ายังมีคนเชื่อมั่นในตัวเขาอยู่ ดังนั้นถ้าอยากระบาย อยากได้กำลังใจ แต่ยังรักษาภาพลักษณ์เราอยู่ ลองแบบนี้ดีไหมครับ ลองเปลี่ยนจากการบ่น การด่า เป็นการเขียนอะไรก็ตามที่ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมาด้วยตัวเอง เขียนว่าคุณจะผ่านมันไปได้ เขียนแบบไม่ต้องไปด่ากระทบกระเทียบใครด้วยนะครับ สิ่งที่เขียนคือสิ่งที่คุณอยากบอกตัวเอง
ทุกปัญหามีทางออก เรื่องที่คุณบ่นในตอนนี้อีกไม่นานคุณก็จะผ่านมันไปได้ แล้วเรื่องอะไรล่ะครับที่คุณจะมาเสียเวลาเขียนบ่นให้คนอื่นรู้และทำลายภาพลักษณ์ตัวเอง เวลาคุณย้อนกลับมาอ่านคุณก็จะเห็นตัวเองในเวอร์ชันเกรี้ยวกราดฟาดงวงฟาดงาใส่คนอื่น ซึ่งบางทีคุณอาจจะตกใจก็ได้ว่าทำไมตัวเองแรงได้เบอร์นั้น ฮ่าๆ แต่ลองนึกภาพว่า เมื่อกลับมาอ่านอีกกี่ปีคุณก็ยังเห็นตัวเองมีกำลังใจสู้อยู่
ลองคิดดูขำๆ นะครับ สมมติว่าวันนี้คุณมีปัญหาท้อแท้ แล้วเปิดเฟซบุ๊กมา เฟซบุ๊กบอกว่า วันนี้เมื่อปีก่อนๆ คุณโพสต์อะไรไปบ้าง แล้วคุณเห็นว่าทุกปีคุณก็โพสต์บ่นแต่เรื่องงาน ด่าคนโน้นทีคนนี้ที หรือปีที่แล้วก็ท้อแท้ ปีนี้ก็ยังท้ออีก ผมว่าคุณเห็นแล้วคงรู้สึกว่าทำไมชีวิตเรามันเยินซ้ำซ้อนกันหลายปีติดเลยวะ แทนที่จะได้กำลังใจจากตัวเอง ดันเห็นว่าชีวิตเราโคตรแย่มาทุกปีอีก โอ๊ย! จะเยินไปไหน?!
โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ที่เราสามารถนำเสนอสิ่งที่ดีได้ ถ้าเราโพสต์สิ่งที่ดี สิ่งที่สร้างสรรค์ มันก็จะกลับมาที่ตัวเราว่าเราเป็นคนคิดดี ขณะเดียวกัน ถ้าเราโพสต์อะไรที่มีแต่ความคิดลบ มันก็จะกลับมาที่ตัวเราว่าเราเป็นคนแบบที่โพสต์นั่นแหละ
ไม่ได้จะบอกว่าต่อไปนี้ทุกคนควรจะต้องโพสต์ธรรมะสวัสดีกันอยู่ตลอดเวลา เราไม่จำเป็นต้องเฟค แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ทำลายภาพลักษณ์ของเรา เราเป็นตัวเองได้โดยที่ไม่ทำลายภาพลักษณ์ตัวเองไปทุกวันได้ ว่าไหมครับ เราไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างภาพ แต่เราใช้มันในการรักษาภาพลักษณ์และส่งต่อพลังงานที่ดีให้กับคนอื่น
ถ้าเรามีหลักการแบบนี้แล้ว ต่อให้มีหัวหน้าอยู่ในเฟซบุ๊กเราก็ไม่มีอะไรให้กลัว ส่องไปเลยจ้า! ผมคิดว่าอย่าเพิ่งด่วนคิดว่าหัวหน้าจะแอดมาเพื่อคอยจับผิด บางทีเขาอาจจะอยากรู้จักเรามากขึ้น แต่ถ้าเราคิดทุกครั้งก่อนโพสต์ และไม่โพสต์ในสิ่งที่จะกลับมาทำลายตัวเราเอง ผมคิดว่าไม่มีอะไรน่ากลัว
อีกวิธีหนึ่งที่อยากแนะนำคือการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว จัดระเบียบความสัมพันธ์ว่าเรื่องไหนจะเปิดเผยกับคนกลุ่มไหน บางเรื่องอาจจะอยากคุยกันแค่ในเพื่อนสนิท บางเรื่องอาจจะโอเคที่ให้คนวงนอกกว่านั้นรู้ได้ จัดหมวดหมู่ของคนในเฟซบุ๊กแยกประเภทไปเลยครับเพื่อความสบายใจ แต่แค่อย่าลืมว่าก่อนโพสต์อะไรลงไปเราเลือกหรือยังว่าให้ใครเห็นบ้าง
แต่วิธีนี้ก็ต้องระวังนิดหนึ่ง เพราะถ้าเราอยากโพสต์ด่าคนในที่ทำงานเลยบล็อกเอาไว้ไม่ให้คนที่ทำงานเห็น ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่ทำงานจะไม่รู้ โลกนี้ไม่มีความลับหรอกนะครับ ยิ่งความลับในโซเชียลมีเดียนั้นยิ่งไม่มี เพราะฉะนั้น กลับไปที่เรื่องเดิมครับคือ คิดก่อนโพสต์ ไม่จำเป็นต้องโพสต์ทุกเรื่องที่คิด อะไรที่จะแสดงออกถึงการคิดร้ายต่อคนอื่นก็เก็บไว้ในใจพอ อย่าเอาออกมา เราโพสต์ด้วยความคิดลบๆ เราก็กำลังสร้างให้เราเป็นคนที่มีความคิดลบแบบนั้น โพสต์แบบไหนลงไป เราก็กำลังสร้างเราให้เป็นคนแบบนั้นครับ
ถ้าจะไม่รับแอดหัวหน้าก็เป็นเรื่องทำได้ครับ บางคนอยากจะสงวนไว้เป็นพื้นที่ส่วนตัวจริงๆ แต่ก็เหมือนเดิมครับ ต่อให้เราสงวนเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่จะโพสต์อะไรก็ยังต้องระวังอยู่ดี หรือถ้ารู้สึกว่ามันเร็วไปตอนนี้ที่จะให้หัวหน้าคนนี้เข้ามาในวงโคจรทางโซเชียลมีเดียของเรา จะรอจนคุณผ่านโปรฯ หรือรู้สึกสบายใจกับหัวหน้าคนนี้เสียก่อนก็ได้นะครับ
ถ้ามีหลักการนี้แล้ว ทีนี้จะรับหรือไม่รับแอดก็เอาที่สบายใจได้เลยครับ
* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai