ทำความรู้จัก G-Token เครื่องมือกู้เงินใหม่ของรัฐบาลไทย คล้าย ‘พันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคน’ หวังเข้าถึง ‘คนรุ่นใหม่’ เพิ่มการออมของประชาชน และเพิ่มการเข้าถึงการเงินให้ทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion) มากขึ้น โดยเล็งออก G-Token ในราคาเริ่มต้น หน่วยละ 1 บาทเท่านั้น ยืนยันผลตอบแทนดี สามารถซื้อได้ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เร็วสุดในกรกฎาคมปีนี้
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. นับเป็นการเปิดทางให้ กระทรวงการคลังสามารถออกและเสนอขาย ‘โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล’ (Government Token: G-Token) เป็นประเทศแรกของโลก
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับว่ามีขึ้นหลัง เมื่อปลายปีที่แล้ว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำเสนอแนวคิดการออกสเตเบิลคอยน์ที่ค้ำประกันด้วยพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยว่า มีแผนการ Bond Tokenization หรือการออกโทเคนโดยมีพันธบัตรรัฐบาลหนุน (Backed)
‘โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล’ (G-Token) คืออะไร?
- ไม่ใช่เงินตรา เนื่องจาก ไม่สามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือชำระเงินได้
- ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี
- เป็น ‘เครื่องมือการระดมทุน’ โดยเทียบเคียงได้กับ ‘พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง’
- เป็นการกู้เงินโดยตรงจากประชาชนของรัฐบาล
G-Token ไม่กระทบหนี้สาธารณะ ไม่เกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต
พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อธิบายเพิ่มเติมว่า การออก G-Token นี้เป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ คล้ายคลึงกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์สำหรับประชาชนตามปกติของ สบน.
โดยการออก G-Token รอบแรก คาดว่า จะออกในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการระดมเงิน ภายใต้กรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2568 ตามปกติ และเป็นไปตามกรอบวงเงินการออกพันธบัตรออมทรัพย์ประจำปีงบประมาณ 2568 ที่ สบน. วางแผนไว้ว่าในวงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท
ดังนั้นการออก G-Token ในรอบแรกนี้จึงจะไม่เพิ่ม หรือไม่กระทบต่อ ‘หนี้สาธารณะ’ และไม่ใช่การระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแต่อย่างใด
ยืนยันการออกเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
พชรยังยืนยันว่า การออก G-Token นี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2567 ของ ก.ล.ต.
“มติ ครม. วันนี้ เป็นการเปิดทางให้กระทรวงการคลัง ออก G-Token ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 10 ที่ระบุว่า การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้หรือวิธีการอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ” พชร กล่าว
นอกจากนี้พชรยังเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ขอความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้ยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้ดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ G-Token นี้
G-Token เกิดมาเพื่อ ‘ลดจุดอ่อน’ ของการออกพันธบัตรรัฐบาล
พชรยังระบุว่า G-Token มีเป้าหมายในการลดจุดอ่อนต่างๆ ของการออกพันธบัตรออมทรัพย์เดิม ดังนี้
- เพิ่มสภาพคล่องในตลาดรอง โดยความสามารถซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารจัดการทางการเงินและสภาพคล่องเป็นการเฉพาะได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน การซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองต้องใช้เวลาดำเนินการเกิน 7 วัน แต่การซื้อขายแลกเปลี่ยน G-Token คาดว่า สามารถทำได้การซื้อขายได้แบบ Real Time แม้ในเอกสารจะระบุระยะเวลาเป็น T+1 ก็ตาม ซึ่งหมายถึง หลังจากทำรายการเรียบร้อยแล้ว จะมีระยะเวลาประมาณ 1 วันทำการ การซื้อขายถึงจะสำเร็จ
- ลดต้นทุนการในการดำเนินการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เนื่องจาก ปัจจุบัน สบน. จะเสียค่าดำเนินการอยู่ราว 0.03% ของวงเงินจำหน่าย ตัวอย่างเช่น ถ้าออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1 หมื่นล้าน ต้นทุนค่าดำเนินการปัจจุบันของ สบน. จะอยู่ที่ 3 ล้านบาท โดยพชรยืนยันว่า การออก G-Token จะมีต้นทุนการดำเนินการต่ำกว่าปัจจุบันแน่นอน
- เพิ่มการออมของคนไทย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ โดย G-Token จะเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion) มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มช่องทางของโอกาสและทางเลือกในการกระจายการลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น
- เพิ่มความปลอดภัยและโปร่งใส โดยการหันมาใช้ระบบ G-Token ภายใต้พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล สะท้อนว่า ผู้กำกับดูแลจะสามารถติดตามความเคลื่อนไหว หรือความผิดปกติต่างๆ ได้
- นอกจากนี้ G-Token ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืน ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคของประเทศ
เปิดซื้อ G-Token เมื่อไร? ผ่านช่องทางใด?
พชรเปิดเผยว่า จะต้องออกก่อนปิดปีงบประมาณ 2568 นี้ หรือภายในกรกฎาคมอย่างเร็วที่สุด และภายในเดือนกันยายนอย่างช้าที่สุด ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท โดยผู้มีสิทธิ์ซื้อในตลาดแรกคาดว่า จะกำหนดให้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น นอกจากนี้ยังตั้งเป้าขายในราคาเริ่มต้นหน่วยละ 1 บาท
โดยเบื้องต้นคาดว่า จะเปิดให้ซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งทำหน้าที่นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) และผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ของ ก.ล.ต. โดยเฉพาะในตลาดรอง
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม พชรระบุอีกว่า สบน. ยังต้องทำงานร่วมกับ ก.ล.ต. กำหนดรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกเล็กน้อย โดยการเปิดเผยรายละเอียดและเงื่อนไขในการจำหน่าย ขอให้รอหนังชี้ชวนอีกที
เปิดผลตอบแทน G-Token
สำหรับอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนจะเทียบเคียงกับพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล ซึ่งปกติจะ ‘สูงกว่า’ อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว
เปิดตัวอย่างอัตราดอกเบี้ย ‘พันธบัตรออมทรัพย์’ เร็วๆ นี้
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพิ่งเปิดจำหน่าย พันธบัตรออมทรัพย์ปีงบประมาณ 2568 ครั้งที่ 1 วงเงิน 25,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วอยู่ที่ 2.65% ต่อปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) โดยเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2568 สำหรับผู้มีสิทธิ์ซื้อคือ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย โดยกำหนดวงเงินขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท)
สำหรับแผนการออก G-Token ในปีงบประมาณอื่นๆ
พชรกล่าวว่า ในอนาคต สบน. คงต้องเดินหน้าออก G-Token และพันธบัตรออมทรัพย์ ควบคู่กันไป เนื่องจากผู้สนใจหรือกลุ่มลูกค้ายังมีความหลากหลายอยู่