×

จับรสลาวจากวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง มาใส่ความฟังก์ที่ Funky Lam Kitchen

07.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • Funky Lam Kitchen เกิดขึ้นจากความคิดของผู้บุกเบิกร้านอาหารและบาร์ชาวลาวที่จับมือกับหุ้นส่วนชาวลาวผู้มีเชื้อสายเจ้านายเก่าจากแคว้นจำปาสัก ผู้อยากนำอาหารประจำชาติที่กินกันมาตั้งแต่เด็กมาผสมกับความสนิทชิดเชื้อทางอาหารระหว่างไทยและลาว จึงได้ผุดโปรเจกต์ Funky Lam Kitchen ร้านกินดื่มอย่างลาวๆ ที่เต็มไปด้วยสีสันของรสชาติและเสียงเพลง
  • ในช่วงกลางวันสถานที่แห่งนี้คือร้าน Luka Moto บ้านหลังที่สองของ Luka คาเฟ่จากถนนปั้น และเมื่อถึงเวลา 17.00 น. ฉากทั้งฉากก็จะแปลงโฉมเป็น Funky Lam Kitchen ร้านอาหารลาวต้นตำรับที่อัปเกรดวัตถุดิบขึ้นมาอีกระดับ
  • ชิมรสชาติอาหารลาวซึ่งเป็นคู่ขนานของอาหารเหนือและอีสาน พร้อมจิบค็อกเทลแก้เผ็ดที่ครีเอตพิเศษสำหรับอาหารลาวโดยเฉพาะ จากบาร์และแบรนด์เหล้าจินสัญชาติไทย Iron Balls
  • จุดเด่นของอาหารลาวคือรสชาติที่เน้นไปทางขมมากกว่าหวาน กรรมวิธีทำอาหารใช้การย่างถ่านอยู่มาก มีการใช้ปลาแดกเป็นเครื่องปรุงรส ทำให้อาหารมีกลิ่นเฉพาะ และนอกเหนือจากเนื้อวัว ไก่ หมู ก็มีปลาน้ำจืดที่หาได้จากแม่น้ำโขง

พูดถึงอาหารไทยโดยเฉพาะอาหารเหนือและอีสาน หลายเมนูได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และอย่างที่ทราบกันดีว่าอาหารเป็นวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง และการไปมาหาสู่ ตั้งรกรากหรือค้าขาย ล้วนแต่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับอาหารการกินที่ไทยเรามีวัฒนธรรมอาหารร่วมกับหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ ‘ลาว’

 

โทนสีแดงเร่าร้อนภายในห้องรับประทานอาหาร

 

หลากหลายเมนูของอาหารไทยล้วนมีต้นกำเนิดจากลาว ไม่ว่าจะเป็น ลาบ ส้มตำ เนื้อน้ำตก และจานอื่นๆ อีกมากมาย และเราก็สามารถไปเอ็นจอยกันได้ที่ Funky Lam Kitchen (ฟังกี แลม คิตเชน) ร้านที่ปรากฏตัวยามเย็น อันเกิดขึ้นจากความคิดของผู้บุกเบิกร้านอาหารและบาร์ชาวลาว สัญญา สุวรรณภูมา (Sanya Souvanna Phouma) ผู้อยู่เบื้องหลัง Bed Supperclub, Maggie Choo’s, Sing Sing, Quince, Iron Balls และอีกหลายร้านที่มีชื่อเสียง และ สาญา ณ จำปาสัก (Saya Na Champassak) หุ้นส่วนชาวลาวอีกคนหนึ่งผู้มีเชื้อสายเจ้านายเก่าจากแคว้นจำปาสัก ทั้งสองอยากนำเสนออาหารประจำชาติของเขาซึ่งกินมาตั้งแต่เด็ก และเห็นถึงความสนิทชิดเชื้อทางอาหารระหว่างไทยกับลาว จึงได้ผุดโปรเจกต์ Funky Lam Kitchen ร้านกินดื่มอย่างลาวๆ ที่เต็มไปด้วยสีสันของรสชาติและเสียงเพลง

 

Keep the Funk Alive สโลแกนของร้านที่หยิบความฟังก์มาใส่ในอาหารลาว

 

The Vibe

ที่เราบอกว่าร้านนี้ ‘ปรากฏตัว’ ขึ้นในช่วงพลบค่ำ ก็เพราะในช่วงกลางวันสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นร้าน Luka Moto บ้านหลังที่สองของ Luka คาเฟ่จากถนนปั้น และเมื่อถึงเวลา 17.00 น. ฉากทั้งฉากก็จะแปลงโฉมเป็น Funky Lam Kitchen ร้านอาหารลาวต้นตำรับที่อัปเกรดวัตถุดิบขึ้นมาอีกระดับนั่นเอง

 

บรรยากาศภายในร้านและบริเวณชั้น 2

 

ร้านมีสองชั้น ตกแต่งสไตล์รัสติกและมีบิ๊กไบค์ BMW จอดอวดความเท่ แต่ถ้าสนใจก็ซื้อขับกลับบ้านได้ ชั้นล่างเป็นร้านอาหารและบาร์ ส่วนชั้นลอยมีโต๊ะยาวและครัวเปิด เหมาะสำหรับใครที่อยากมีความเป็นส่วนตัว และชั้นลอยถ้าผลักประตูออกไปก็จะเป็นระเบียงนั่งชิลกินลม หันหน้าออกไปเจอป้ายไฟนีออนโดดเด่นที่ติดๆ ดับๆ เป็นจังหวะ

 

ของที่ระลึกอันสื่อถึงบรรพบุรุษที่คอยปกปักรักษาของชาวลาว

 

The Concept

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น อาหารไทยหลายอย่างได้อิทธิพลมาจากลาว และถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ดินแดนสยามโดยเฉพาะตอนเหนือและตะวันออกก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลาวด้วย จึงไม่แปลกใจหากอาหารเหนือและอีสานจะมีทั้งหน้าตาและชื่อเรียกคล้ายอาหารลาว ส่วนจุดเด่นของอาหารลาวนั้นคือรสชาติที่เน้นไปทางขมมากกว่าหวาน (แบบไทย) กรรมวิธีทำอาหารจะเน้นย่างถ่านเป็นหลัก มีการใช้ปลาแดกเป็นเครื่องปรุงรส ทำให้อาหารมีกลิ่นเฉพาะที่อาจเป็นของโปรดและของเลี่ยงของหลายๆ คน

 

ลิ้นซิ้นจิ้มกับแจ่วส้ม

 

นอกเหนือจากเนื้อวัว ไก่ หมู ก็มีปลาน้ำจืดที่หาได้จากแม่น้ำโขง ในการรับประทานอาหารลาว จะเสิร์ฟผักแนมเต็มกระบะให้เลือกหยิบกินได้ตามใจชอบ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ตามที่หาได้จากตลาด จะกินแก้เผ็ดหรือจิ้มกับแจ่วบองคู่ข้าวเหนียวก็ดีพอกันทีเดียว

 

ที่ Funky Lam Kitchen อาหารลาวได้รับการอัปเกรดวัตถุดิบ มีการใช้เนื้อวากิว ปลาเทราต์ออสเตรเลีย และวัตถุดิบหลักแบบออร์แกนิกส่งตรงจากภูเขาในประเทศลาว ส่วนเมนูค็อกเทล ครีเอตโดยแบรนด์แอมบาสเดอร์จาก Iron Balls Gin ที่รสชาติค็อกเทลตัดกับความจัดจ้านของอาหารลาวและแก้เผ็ดได้ดี

 

อาหารลาวแบบใส่ความฟังก์

 

The Dishes

ระหว่างรออาหารที่นี่มีพริกอบแห้งที่เสิร์ฟฟรีให้หม่ำระหว่างรอ ซึ่งอร่อยจนอาจกินไม่รู้ตัวเอาได้ มาถึงที่นี่แล้ว เราแนะนำให้สั่งของกินเล่นพื้นเมืองหลวงพระบาง ไคแผ่น (190 บาท) สาหร่ายน้ำจืดสีเขียวแผ่นยาวคล้ายเส้นผมที่เติบโตในแม่น้ำที่สะอาดและไหลตลอดเวลา และไคที่คุณภาพเยี่ยมของชาวลาวนั้นมาจากแม่น้ำโขง ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นไคแผ่นดังที่เห็น จะต้องนำไปล้างให้สะอาดเพื่อขจัดเศษดินทราย แล้วนำไปชุบน้ำที่ผสมเครื่องปรุงรสและสมุนไพรเรียบร้อย นำขึ้นมาสะเด็ดน้ำและคลี่แผ่นไคให้บาง โรยงาขาว และผึ่งแดดจนแห้ง เมื่อจะทำกินจึงค่อยไปทอดในน้ำมันร้อน แค่จุ่มแล้วรีบยกขึ้นทันที กินกับแจ่วสามอย่าง คือ แจ่วบอง แจ่วมะเขือ และแจ่วหมากเล็น (แจ่วมะเขือเทศ)

 

(บน) ไคแผ่น สาหร่ายตำรับคนลาวกับแจ่วนานาชนิด,

(กลาง) บรรยากาศสีสันสดใสภายในร้าน,

(ล่าง) แกงหอยไส้อั่ว

 

ที่นี่ยังมี ไส้อั่ว (290 บาท) จานเหนือที่เป็นไส้อั่วเชียงใหม่กินกับแจ่วส้มและผักแนม ซึ่งชาวลาวเองก็รับประทานสิ่งนี้กับเขาด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าลาวก็มีลาบเหมือนกัน และจริงๆ แล้วไทยได้อิทธิพลลาบมาจากลาวนี่เอง ลาบเป็ด (350 บาท) แค่คำแรกก็รู้สึกได้ถึงความเปรี้ยวที่มากกว่าลาบอีสานอย่างเห็นได้ชัด และความเผ็ดที่ไม่ปรากฏในตอนแรก แต่เมื่อผ่านไปสักครู่จะเริ่มเผ็ดร้อนทีละนิดๆ ส่วนเนื้อเป็ดมาแบบเต็มปากเต็มคำ กินพร้อมผักเคียงช่วยคลายเผ็ดได้ในระดับหนึ่ง

 

(บน) ไส้อั่วสูตรลาวกับมีดอีโต้จิ๋ว, (ล่าง) ลาบเป็ดเปรี้ยวเข็ดฟัน

 

แกงหอยไส้อั่ว (350 บาท) เมนูแปลกตาสำหรับเราไม่น้อย เพราะเป็นซุปที่ผสมผสานรสชาติลาวกับไทย และติดกลิ่นอายฝรั่งเศสอย่างลงตัวทีเดียว น้ำแกงเบสด้วยเนย กระเทียม ไวน์ขาว ตะไคร้ และซุปมะเขือเทศย่าง ใส่หอยตลับกับมีตบอลไส้อั่ว ตามด้วยผักแขยงที่มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์แต่ดีต่อสุขภาพ ซดร้อนๆ แก้เลี่ยนและล้างรสชาติที่ค้างในปากให้เตรียมพร้อมสำหรับอาหารจานอื่นได้ดี ส่วนเมนูที่มาจากเครื่องในก็มีให้ลองเช่นกัน ลิ้นซิ้น (350 บาท) หรือลิ้นวัวที่นำไปต้มแล้วค่อยปิ้งจนแห้ง ได้สัมผัสนุ่มกำลังดี กินคู่กับแจ่วส้ม

 

Lazy Sour ใส่มะขาม และ Queen of the South ใส่บ๊วยเค็ม

 

The Drinks

แก้เผ็ดด้วยสองค็อกเทลที่ทวิสต์จากสูตรคลาสสิก Lazy Sour (320 บาท) ดัดแปลงมาจาก Whisky Sour แก้วนี้ยังคงเบสด้วยเหล้าวิสกี้เช่นในตำรา แต่เพิ่มลูกเล่นด้วยมะขาม แถมยังมีฟองนุ่มๆ มาช่วยคั่นความเข้ม ดื่มได้ง่ายขึ้นและไม่แรงเกินไป แก้วถัดมา Queen of the South (320 บาท) มีกลิ่นอายความเปรี้ยวจาก South Side เล็กน้อย แต่เปลี่ยนจากเลมอนมาเป็นบ๊วยเค็ม ส่วนเหล้าที่ใช้ก็เป็นจินสัญชาติไทย Iron Balls ที่ผ่านการอินฟิวส์กับบ๊วยเค็มเช่นกัน

 

ของตกแต่งของเจ้าของชาวลาวภายในร้าน

 

What You Should Know

  • อาหารไทยหลายอย่างเกิดจากการดัดแปลงอาหารของประเทศเพื่อนบ้าน ที่เห็นได้ชัดคืออาหารเหนือและอาหารอีสานจะมีหน้าตาและชื่อเรียกใกล้เคียงกับอาหารลาว
  • ความแตกต่างที่เห็นชัดเจนของอาหารลาว คือรสชาติเน้นความเปรี้ยวและขมมากกว่าอาหารไทย ส่วนอาหารไทยจะติดรสหวาน
  • แจ่ว เครื่องจิ้มที่ได้รับความนิยมในลาว มีมากมายหลายชนิดขึ้นอยู่กับผักผลไม้หรือสมุนไพรที่ใช้ แต่ที่นิยมรับประทานกันเป็นหลัก คือ แจ่วบอง ที่มีส่วนผสมของปลาร้าสับนั่นเอง

 

Funky Lam Kitchen

Open: เปิดวันจันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 18.00-23.30 น.

Address: The Taste Thonglor ปากซอยทองหล่อ 11 สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ

Budget: 190-980 บาท

Contact: โทร. 0 2050 0469

Page: www.facebook.com/funkylamkitchen

Map:

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising