เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา หากใครเป็นแฟนกระทู้ดราม่าพันทิป คุณอาจจะต้องเคยเห็นกระทู้ที่ชื่อว่า ‘การศึกษาไทย……..ขอระบายหน่อยครับ’ ผ่านตาคุณไปบ้าง อันว่าด้วยเรื่องเด็กมัธยมคนหนึ่งที่ตั้งกระทู้ระบายว่าตนนั้นไม่ผ่านวิชาแนะแนวเนื่องจากว่าอาจารย์ผู้สอนทำงานของตนหาย
แต่ไอ้งานหายนั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะประเด็นที่น่าถกเถียงมากกว่านั้นคือถ้อยความวิพากษ์วิจารณ์ที่เผ็ดร้อนตั้งแต่เรื่องการเรียนการสอน ลักษณะนิสัยครูไทย ค่านิยมการศึกษาไทย ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเหมือนกรงขนาดมหึมาที่กักขังศักยภาพและพัฒนาการของนักเรียนไทยไว้ให้ติดอยู่กับที่
ก็เป็นเรื่องน่าลำบากใจที่จะทำให้ ‘สิ่งฉุดรั้ง’ เหล่านี้หมดไปในเร็ววัน แต่เราเองก็กลับดีใจที่มีเด็กตัวเล็กๆ ใจใหญ่ๆ สักคน กล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปสู่สิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดหรือเลือกแล้วว่าดีที่สุด
ครั้งนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับสองหนุ่มสองสไตล์ ผู้ร่วมกันก่อตั้งชุมชนสำหรับกลุ่มศิลปินอิสระชื่อละมุนอย่าง ‘ฟังใจ (Fungjai)’ นอกจากพวกเขาจะเป็นกลุ่มคนไฟแรงที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองแล้ว บุรุษสองคนนี้ต่างเผชิญประสบการณ์ของการศึกษาไทยและการศึกษาอื่นๆ นอกประเทศมาอย่างโชกโชน เราจึงเชิญชวน ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ และ พาย-ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี มาแบ่งปันประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นอย่างออกรส ทั้งเรื่องการศึกษาไทย มนุษย์เป็ด และเด็กเจเนอเรชันใหม่ในตลาดแรงงาน ผู้ต่างพยายามขวนขวายหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาอย่างไร้ทิศทาง
“สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดสำหรับวงการการศึกษาไทย คือ การขาดจินตนาการ” คำตอบที่ตรงไปตรงมาของ ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งฟังใจ ทำผมตื่นเต้นเสียจนอดรนทนไม่ไหวอยากจะฟังสิ่งที่เขาจะขยายความ หลังจากผมทิ้งคำถามง่ายๆ สั้นๆ ถึงความคิดเห็นเรื่องความเป็นไปของวงการการศึกษาบ้านเรา ซึ่งท้อปในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ทางการศึกษาและการทำงานในต่างแดนมาอย่างโชกโชน น่าจะเล็งเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่น่าเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงได้
“ที่บอกว่าขาดจินตนาการ คือ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้สอน หลักสูตร รูปแบบการสอน หรือความคิดอ่านของนักเรียนก็ตาม ล้วนขาดจินตนาการในการมองความเป็นไปหรือการตั้งคำถามกับสภาวะการศึกษาที่เป็นอยู่ เราต้องแบ่งนักเรียน ม.ปลายเป็นสายวิทย์กับศิลป์เท่านั้นหรือ? จำเป็นต้องเรียนมัธยม 6 ปีหรือเปล่า? ทำไมบทเรียนต้องออกมาจากส่วนกลางเพื่อกระจายไปใช้ทั่วประเทศ? ทั้งที่ในท้องถิ่นแต่ละแห่งอาจจะต้องการชุดความรู้เฉพาะทางที่แตกต่างออกไป
“ในความคิดผมแล้ว ประเทศเรามีอะไรให้แก้ไขมากมาย การศึกษาเป็นหนึ่งในจุดอ่อนและหนทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งมันควรเพิ่มจินตนาการกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำพร้อมๆ กัน ไม่ต้องรอส่วนใดส่วนหนึ่งเริ่มก่อน ต้นน้ำอย่างคนสั่งการก็ควรมีจินตนาการและกล้าพอที่จะตั้งคำถามที่จะถามกลับไปยังหน่วยงานต้นเรื่องว่าระบบที่เป็นอยู่ควรต้องเป็นแบบนี้หรือ
“ส่วนปลายน้ำอย่างนักเรียนมันก็ควรตั้งคำถามหรอกว่า เราต้องเรียนแบบนี้สอบแบบนี้จริงๆ เหรอ? ทำไมต้องมีวิชาบังคับ วิชาบังคับเลือก (ซึ่งคืออะไรทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจ ถ้าบังคับเลือก แล้วจะมีคำว่า ‘เลือก’ ทำไม) กับดักที่พวกเราติดอยู่มักเกิดจากความเคยชิน ธรรมเนียมที่เป็นแพตเทิร์นปฏิบัติกันมา จะตั้งคำถามหรือจะจินตนาการใหม่ทำไม ในเมื่อเขาทำกันมาเป็นร้อยปี ซึ่งการจะหลุดจากความเคยชินนั้นไม่ง่าย ไม่เพียงแต่เราต้องเริ่มจินตนาการเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ แต่เราอาจจะต้องเคยมีประสบการณ์ หรือเห็นตัวอย่างที่ดีกว่าโดยตรง ที่ช่วยให้เราดึงความคิดออกมาจากหลุมกับดักที่ว่าได้
ส่วนตัวเลยคิดว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เด็กมัธยมไปค้นพบวิชาความรู้ที่หลากหลายที่พวกเขาได้เลือกเอง เพื่อให้พวกเขาได้ค้นหาตัวเอง ส่งผลให้พวกเขามีจินตนาการถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ในการกำหนดทิศทางการศึกษาและอาชีพของตัวเอง เช่น ถ้าน้องๆ ได้ลองไปฝึกงาน ดูงานตั้งแต่มัธยมปลาย พวกเขาก็จะได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนอยู่มันตอบโจทย์ในชีวิตของพวกเขาหรือไม่ อันไปสู่การตั้งคำถามและจินตนาการรูปแบบการเรียนใหม่ๆ ในที่สุด
“สำหรับผมเรื่องจินตนาการและการตั้งคำถามก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกอย่างที่ขาดมากๆ คือเรื่องคุณธรรม”
คำตอบเสริมจากผู้ร่วมก่อตั้งฟังใจอีกคนอย่าง พาย-ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี เจ้าของปริญญาบัตร 3 ใบ ทั้งหนึ่งตรีและหนึ่งโทในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และโทที่สองทางด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) จากสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่าการที่เขาร่ำเรียนมาอย่างหนักหน่วงเกือบค่อนชีวิตนอกบ้านเกิดจะทำให้เขาได้มองเห็นปัญหาบางอย่างในการศึกษาไทยที่เราอาจมองข้ามไป
“ที่ว่าขาดนี่ไม่ใช่คุณธรรมแบบในวิชาพระพุทธศาสนานะ แต่เราพูดถึงคุณธรรมขั้นพื้นฐานง่ายๆ อย่างการเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน มันแทบจะไม่มีเลยในบทเรียน มันควรจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เยาวชนโตมา หรืออย่างในแบบเรียนก็ควรจะสอนเรื่องกฎหมายลิขสิทธ์ิหรือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้ตั้งแต่เด็กๆ แต่เรากลับพบแต่เรื่องคุณธรรมที่ผิดๆ อย่างการลอกการบ้าน”
เรื่องราวที่คุณเคยรู้สึกว่าเล็กน้อยในวันนั้นคือจุดบอดเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความย้อนแย้งที่น่าเกลียดในปัจจุบัน เราสารภาพว่าเคยอยู่ในฐานะทั้งคนลอกและคนให้ลอกมาก่อน ก็ยังสะอึกกับคำตอบของพายที่ทำให้เราได้มองเห็นอะไรมากขึ้น
“สำหรับคนไทย คนดีคือคนมีน้ำใจ คนที่ช่วยเหลือเพื่อนคือคนดี เพราะฉะนั้นคิดเบ็ดเสร็จง่ายๆ คือ คนให้ลอกการบ้านคือคนดี ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ผิด สำหรับความคิดเห็นของผมมันเลยกลายเป็นเรื่องของพรรคพวก เรื่องของพวกพ้อง และการเกิดขึ้นของระบบเกื้อหนุนอุปถัมภ์ต่างๆ นี่คือเรื่องคุณธรรมที่เรายังแก้ไม่ได้” พายกล่าว
“ตอนผมใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ เราจะรู้เลยว่าปรัชญาของประเทศเขาคือ ‘ทรัพยากรที่ควรจะต้องพัฒนาที่สุดคือมนุษย์’ เขาให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมันสะท้อนออกมาในชีวิตประจำวันจริงๆ เราค้นพบว่าที่นั่นมีมนุษย์งี่เง่าน้อยมากๆ” ท้อปกล่าวเสริมขึ้นมา ก่อนจะเริ่มพูดถึงแนวคิดในการทำงานของเขาต่อ
“อย่างหนึ่งที่เราไปอยู่ตรงนั้นและได้มา คือ การเปิดจินตนาการถึงความเป็นไปได้ ถ้าเราไม่ได้ไปตรงนั้น (เรียนต่อที่ฟินแลนด์) เราเองก็คงไม่เข้าใจว่าการศึกษาที่ดีมันเป็นอย่างไร มันทำให้เราตระหนักว่าเป็นเรื่องของระบบ เรื่องของนโยบายล้วนๆ จริงๆ มันทำได้ แต่ไม่มีใครคิดจะทำ หรือจริงๆ แล้วอยากจะทำแต่จินตนาการไปไม่เห็นถึงภาพปลายทางหรือวิธีการที่จะไปให้ถึง
“สำหรับผม การฟังเพลงหลากหลายรูปแบบก็เป็นการช่วยเปิดจินตนาการนะ จริงๆ มันไม่มีสูตรตายตัว เขียนเนื้อแบบนี้ ทำนองแบบนั้น แล้วคนฟังถึงจะชอบมันมีความเป็นไปได้อีกมากมาย สาเหตุหนึ่งที่ทำฟังใจเพราะเชื่อว่าถ้าคนพร้อมที่จะเปิดใจฟัง เขาเองอาจจะเปิดใจกับศิลปะแขนงอื่นๆ ได้ และถ้าเริ่มต้นที่เรื่องการเปิดใจจากเรื่องง่ายๆ ถึงวันหนึ่งเขาอาจจะเปิดใจกับวิธีคิดแบบอื่นๆ ในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมได้
“เช่น ความเท่าเทียมกันของเพศ หรือความหลากหลายของมนุษย์ สรุปสั้นๆ ก็คือ ในเมื่อเพลงไม่ต้องเป็นแบบนี้เสมอไป สังคมก็ไม่ต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่ มีความเป็นไปได้ตั้งเยอะแยะ”
หรืออาจเป็นเพราะพื้นฐานของวงการการศึกษาไทยขาดจินตนาการและมองความเป็นไปได้อื่นๆ ในแง่ของการเรียนการสอนน้อยเกินไปอย่างที่ท้อปและพายว่าก็เป็นได้ ปัญหาอย่างการเรียนในแต่ละวันที่หนักเกินไป การเรียนสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือการมีโอกาสและทางเลือกในวิชาเรียนที่น้อยเกินไปและก้าวไม่ทันโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ตอบสนองความต้องการของเยาวชนยุคนี้ได้เท่าที่ควร ภาระของการ ‘ค้นหาตัวเอง’ จึงตกมาอยู่ในช่วงของวัยมหาวิทยาลัยและวัยเริ่มทำงาน
“ท้อปและพายมองเห็นเหมือนกันหรือไม่ว่า ยุคนี้เต็มไปด้วยเด็กที่ค้นหาตัวเองตลอดเวลา และอาจจะมีเป้าหมายในชีวิตที่ไม่ชัดเจน ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เป็นเหมือน ‘เป็ด’?” ผมตั้งคำถามต่อ
“ถ้าเป็นเป็ดเหรอ อาจจะเป็นเป็ดที่ยังไม่ดีพอด้วยซ้ำ (หัวเราะ)” พายโพล่งขึ้นมาทันควันด้วยน้ำเสียงและอารมณ์หยิกแกมหยอก
“ในความรู้สึกของผม คิดว่าอาจเป็นเพราะพวกเขาได้เห็นภาพการประสบความสำเร็จเยอะกว่ายุคพวกเรา เพราะการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ทุกคนดูประสบความสำเร็จไปหมดเลย เพื่อนคนโน้นเปิดร้านนี้ ญาติคนนั้นไปเรียนต่อที่โน่น ปัญหาที่ตามมาคือ รู้สึกว่าชีวิตมีความเป็นไปได้มากมายไปหมด และมีความกดดันไปเองจากการเห็นภาพความสำเร็จเหล่านี้ว่าพวกเขาต้องรีบทำอะไรบางอย่าง ต้องรีบประสบความสำเร็จ เลยอยากลองโน่นทำนี่ไปพร้อมๆ กันไปหมด แล้วสุดท้ายอาจจะไม่ดีสักอย่าง” ท้อปอธิบายอย่างชัดเจนและรวดเร็ว
“ปัจจุบันนี้ผมเป็นอาจารย์ธีสิสอยู่ที่ภาค Communication Design ที่จุฬาฯ ด้วย ปัญหาหนึ่งที่เจอและเป็นปัญหาที่ผมไม่ค่อยเห็นในคนยุคผมก็คือ นักเรียนจะใช้เวลานานมากว่าจะเลือกหัวข้ออะไรทำเป็นธีสิส เหมือนพวกเขาไม่กล้าจะเลือกหัวข้อหนึ่งๆ และผูกมัดไปกับมัน ซึ่งคิดว่าน่าจะเกิดปัญหาที่กล่าวไปว่าเห็นทางเลือกตัวเลือกเยอะไปหมด พอเจอหัวข้อที่ดีแล้วก็คิดว่ามันอาจจะมีที่ดีกว่านี้ หัวข้อก็จะฟุ้งไปเรื่อยๆ จนผมต้องบอกย้ำว่า ‘โปรเจกต์ที่ดีคือโปรเจกต์ที่คุณให้เวลากับมันมากที่สุด’ บางทีมันอาจจะไม่ใช่หัวข้อธีสิสที่ดีที่สุด แต่ถ้าคุณมีเวลาทำงานกับมันมากกว่าการไปเสียเวลาหาหัวข้อ มันจะกลายเป็นโปรเจกต์ที่ดีกว่าแน่นอน” ท้อปเสริมสถานการณ์ให้เราได้มองภาพความคิดเห็นของเขาออก
“เหมือนว่าเด็กยุคนี้จะมีข้อเปรียบเทียบเยอะ ทั้งกับตัวเอง กับคนอื่นๆ” ผมตั้งแง่ต่อ
“ใช่ครับ อย่างที่ตอบไปก่อนหน้าว่าเขาได้เห็นภาพความสำเร็จจากโซเชียลมีเดียเยอะกว่าในยุคพวกเรา พวกเขาเลยอาจจะสับสน และต้องตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าจุดยืนและตัวตนของเขาอยู่ที่ไหนกันแน่ ในขณะที่ยุคพวกเรา ไม่พ่อแม่บอกก็คือต้องตัดสินใจเอง รู้เท่าที่รู้แล้วก็ลุยไปเลย แต่ยุคนี้เป็นยุคของการเปรียบเทียบ และกังวลเรื่องภาพลักษณ์ความสำเร็จ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นที่มาของอาการเป็ด แต่ทั้งหมดที่พูดมาก็ไม่ใช่ว่าผมจะถูกนะครับ แค่มาจากการสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวเท่านั้น แต่โดยสรุปว่ารู้สึกไหมถึงความเป็นเป็ดของเด็กยุคนี้ ก็รู้สึกพอสมควรนะ” ท้อปตอบ
“เราขอสรุปสั้นๆ แล้วกัน คือ ‘จงรีบแต่อย่าใจร้อน’ หมายถึง จงรีบหาตัวตนให้เจอ ไหนๆ ยุคนี้มันมีชอยส์ให้เลือกเยอะมากแล้ว มีกรณีศึกษาให้เห็นก็รีบศึกษา แต่ต้องอย่าใจร้อน ไม่ใช่ว่า เออ กูเจอละ พรุ่งนี้กูต้องประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่ คือควรรีบที่จะเรียนรู้และโฟกัสให้ได้ว่าตัวเองสนใจอะไรก่อนเป็นอย่างแรก” พายตอบเสริมขึ้นมา ซึ่งเป็นการคลี่คลายคำถามได้อย่างดี
“เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไรแล้ว อะไรที่หล่อหลอมและผลักดันให้ทั้งคู่ทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้จริง?” ผมถามทั้งคู่ต่อจากประเด็นก่อนหน้า เพราะนอกจาก ‘ฟังใจ’ จะเป็นคอมมูนิตี้ทางดนตรีที่มีแฟนๆ ติดตามจำนวนไม่น้อยแล้ว เราเองก็อยากทราบว่ากว่าจะมาเป็นฟังใจในแบบที่เราได้เห็นได้ฟังแบบทุกวันนี้ สิ่งที่หล่อหลอมตัวตนและแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาทั้งสองคนได้ทำตามความเชื่อมั่นของตนคืออะไร
“ผมว่าเราสามารถมีสมมติฐานบางอย่างได้ให้กับสิ่งที่เราคาดหวังนะ ย้อนกลับไปตอนเริ่มจะทำฟังใจ คนรอบตัว 99% บอกว่า ‘มึงอย่าทำเลย’ (หัวเราะ) เพราะว่าวงการดนตรีมันไม่โอเคเท่าไรแล้ว มันอยู่ยาก แล้วตอนนั้นเราก็ไม่มั่นใจนะ เพราะเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่เราดื้อไง อยากพิสูจน์ อยากลองของ
“ซึ่งหลังการจากได้ทำงานในธุรกิจสตาร์ทอัพที่อเมริกามา เราพบว่าการเอาสิ่งที่เราทำออกไปให้คนข้างนอกตัดสินเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มันเหมือนเราได้รู้ฟีดแบ็กและติดตามข้อมูลจากผู้ใช้จริงๆ เราจึงรู้เลยว่าอะไรที่คนชอบ อะไรที่คนไม่ชอบในแอปฯ ของเรา เราใช้วิธีการฟังความเห็นคน ศึกษาพฤติกรรมคน แล้วเราจะค่อยๆ ได้ภาพที่ดีที่สุด ซึ่งมันเกิดขึ้นจากสมมติฐานและการทดลองของเราเองที่ผลักดันให้เราเชื่อ ให้เราทำ” ท้อปตอบ
“อีกอย่างหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญคือครอบครัว เราว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก อย่างแม่เราเองที่เขาให้อิสระเราค่อนข้างเยอะตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะอิสระทางความคิด ไม่บังคับ ไม่เคยตี ไม่ค่อยดุเลย แม่เป็นคนใจดีมาก ซึ่งตรงข้ามกับผมมาก (หัวเราะ)
“แต่ว่าในเมื่อเราได้อิสระตรงนั้นมามากๆ แล้ว เรายิ่งต้องรับผิดชอบกับการกระทำของเราให้มาก ต้องคิดดีๆ ก่อนไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ซึ่งผมว่ามันส่งผลกระทบมาถึงการทำงาน เพราะเราให้อิสระกับคนทำงานมาก เราให้พวกเขาหาวิธีการต่างๆ ในการทำงานด้วยตัวเอง เพื่อให้คนทำงานรู้สึกว่างานนี้เป็นของเขาจริงๆ และสุดท้ายงานมันจะออกมาดี” ท้อปกล่าว
“สำหรับผม ครอบครัวมีส่วนในรูปแบบที่เขาไม่ได้ตามใจเราทุกอย่าง เราก็ต้องเรียนในสิ่งที่เขาคิดว่าดี” พายเริ่มตอบคำถามกับผมถึงแรงผลักดันและสิ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นเขาในวันนี้
“มีอยู่วันหนึ่ง ตอนนั้นเรากำลังเรียนโทใบแรกที่อเมริกา เรารู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุขเลย เราอยากเลือกทางเดินของเราเอง เราเลยประท้วงด้วยการสัก (หัวเราะ)”
“คงเป็นสิ่งที่พ่อกับแม่ของคุณไม่ปลื้มเท่าไรแน่ๆ” ผมถามกลับ
“พ่อด่าเละเลย (หัวเราะ) แต่สิ่งที่เราสักไว้คือคำว่าพ่อกับแม่บนหลัง เราก็พยายามอธิบายเขาว่า มันเสมือนว่าพวกเขาเอามือมาวางไว้ตรงหลังเราเสมอ เราก็อธิบายว่า เราขอให้พวกเขาสนับสนุนเราให้ไปข้างหน้า อย่าดึงรั้งเราไว้ แต่ถ้าวันหนึ่งเราล้ม เราก็อยากให้เขาช่วย ให้กำลังใจเรา แม่ฟังแล้วร้องไห้ สุดท้ายเขาก็อยากให้เราเลือกทางเดินของเรา แต่ก็ยังอยากให้อยู่ในกรอบที่เขาคิดว่าโอเค
“ครอบครัวหล่อหลอมให้เราทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำเพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำทีหลัง (หัวเราะ) คงสรุปแบบนี้จริงๆ สุดท้ายพอได้มาทำงานที่เกี่ยวข้องกับดนตรีอย่างที่เรารัก เราชอบ ความมุ่งมั่นหลักก็คืออยากช่วยให้ศิลปินอินดี้สามารถเป็นอาชีพได้ แล้วเราก็หาวิธีการหลากหลายทั้งจัดงานสัมมนา ทำบทความ สร้างแพลตฟอร์ม สิ่งที่ผลักดันผมนอกจากครอบครัวมันคือการที่เราตั้งเป้าหมายและหาหนทางไปให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้
“Be fixed on your goal, be flexible on your execution มันก็คือเป้าหมายของเราต้องมั่นคงแข็งแกร่ง แต่วิธีการที่จะไปถึงตรงนั้นต้องยืดหยุ่นได้ ทดลองทดสอบได้ ถ้าไม่ดีก็เปลี่ยน ถ้าดีก็พัฒนา แต่เราก็ต้องมุ่งไปข้างหน้าสู่เป้าหมาย” พายจบท้ายการสนทนาด้วยวลีภาษาอังกฤษหนึ่งที่น่ารับนำไปใช้ในชีวิต
สุดท้ายแล้วการที่มนุษย์อย่างเราๆ จะสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ทั้งเรื่องงานหรือชีวิตได้ก็ล้วนแล้วแต่ต้องหันมาสำรวจตัวเองเสียก่อนเป็นลำดับแรก เรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาสิ่งที่เราค้นหามันเจอให้กลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องยากเลย คุณว่าไหม?
- สามารถเข้าร่วมฟังงานทอล์ก Worst of the Best ทอล์คที่เหล่า The Best จะมาเล่าอีกด้านของเส้นทางสู่ความสำเร็จ เหมาะสำหรับคนที่กำลังค้นหาตัวเอง ดูข้อมูลได้ที่ www.facebook.com/worstofthebest และ www.worstofthebest.net