ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่ออิหร่านและอิสราเอลตอบโต้กันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงน้ำมันปรับตัวสูงทันที ทั่วโลกจับตาราคาสินทรัพย์ ทองคำ และอาจลามไปถึงการควบคุมเงินเฟ้อทั่วโลกยากขึ้น ตลอดจนอาจเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ช้าลง
บรรดานักวิเคราะห์ต่างกังวลว่าการค้าโลกอาจเกิดการหยุดชะงักอีกระลอก หลังอิหร่านขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อตอบโต้อิสราเอล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โดยน้ำมันราว 1 ใน 5 ของการบริโภคทั้งหมดทั่วโลกมีการขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซในทุกๆ วัน บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Vortexa เปิดเผยว่า น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ถูกลำเลียงผ่านช่องแคบฮอร์มุซเฉลี่ย 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความตึงเครียดในพื้นที่ตะวันออกกลาง แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักๆ ในสองเส้นทางการค้าโลกสำคัญ คือ การขนส่งสินค้าในทะเลแดง (Red Sea) ที่เกิดขึ้นปลายปีที่แล้ว และราคาน้ำมันที่ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ
กรณีล่าสุดที่น่ากังวลนั้น หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจะกระทบราคาน้ำมันโลก และภาวะการส่งออกสินค้าไทยแน่นอน เพราะช่องแคบฮอร์มุซอยู่ระหว่างอิหร่านและโอมาน ซึ่งน้ำมันดิบร้อยละ 40 ของตะวันออกกลางต้องขนส่งผ่านช่องแคบนี้โดยเฉลี่ย 50 ลำต่อวัน หากสถานการณ์ไม่สู้ดีอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นไปอยู่ที่ 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“สรท. ยืนยันว่าสถานการณ์ ณ วานนี้ (17 เมษายน) ซึ่งดูจากมอนิเตอร์เรดาร์ ผู้ส่งออกของไทยยังมีการขนส่งผ่านเส้นทางนี้เป็นปกติ”
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้เตรียมพร้อมรับมือ 3 แนวทาง หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจริง ได้แก่
- ระหว่างนี้ต้องหาตลาดใหม่ เอกชนเองก็ควรเร่งหาตลาดระยะใกล้เข้ามาชดเชยตลาดที่มีความเสี่ยงและอาจหายไปในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน จีน และอินเดีย ให้เข้ามามีส่วนแบ่งจากตลาดตะวันออกกลางที่มีสัดส่วนการส่งออก 5%
- ประสานงานกับปลายทาง เพื่อวางแผนการส่งมอบสินค้า
- ขอให้ผู้ส่งออกไทยเตรียมเงินสดสำรอง เพราะตลอดทั้งปีคงไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์สงครามอะไรขึ้นอีก
บทเรียนวิกฤตทะเลแดง
ทั้งนี้ หากดู Scenario ทั้งสองฝ่าย คาดว่าตอนนี้ยังเจรจาได้แม้จะต้องรอดูการทูต แต่ตอนนี้ทั่วโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่กำลังไต่ไปอยู่ในระดับสูงแล้ว ทางที่ผู้ส่งออกต้องเตรียมตัวให้ดีคือ ปรับตัวให้ไว และบริหารต้นทุนการผลิตล่วงหน้า เพราะหากเกิดกรณีเลวร้ายอาจส่งผลกระทบตลอดทั้งปี
ชัยชาญระบุอีกว่า แม้ว่าวิกฤตทะเลแดงคลี่คลาย และค่าระวางเรือกลับมาสู่ระดับปกติ ไม่ต้องอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮป แต่การขู่ปิดช่องแคบต่างๆ ในเวลานี้ต้องยอมรับว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะจะเกิดความสับสนอลหม่าน
โดยความต่างของสองเส้นทางนี้คือ ช่องแคบฮอร์มุซจะขนส่งสินค้าพลังงานเป็นหลัก แต่ทะเลแดงขนส่งสินค้าอาหาร โภคภัณฑ์ทุกอย่าง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ปีนี้ภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”
ช่องแคบฮอร์มุซอยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร?
ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) เป็นช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมานทางตะวันออกเฉียงใต้กับอ่าวเปอร์เซียทางตะวันตกเฉียงใต้ ทางตอนเหนือเป็นประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้เป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแหลมมุซันดัม (Musandam) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโอมาน
“ช่องแคบฮอร์มุซเป็นทางออกมหาสมุทรทางเดียวของบริเวณส่วนใหญ่ของประเทศที่ส่งออกปิโตรเลียมในอ่าวเปอร์เซีย”
จากข้อมูลขององค์การว่าด้วยข้อมูลด้านพลังงานแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวันจะมีเรือบรรทุกน้ำมัน 15 ลำที่บรรทุกน้ำมันราว 16.5-17 ล้านบาร์เรล ที่เดินทางออกจากช่องแคบฮอร์มุซ
ทำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลก เพราะการขนส่งน้ำมันจากช่องแคบคิดเป็น 40% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมดที่ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ และคิดเป็น 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลกที่ต้องผ่านเส้นทางนี้
หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจริงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันโลก ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิหร่านขู่ ในช่วงปี 2019 อิหร่านก็เคยขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ มาแล้ว
ไทยจับตาสงครามตะวันออกกลาง ท่ามกลางหนี้กองทุนน้ำมันฯ
แม้ว่าอิหร่านจะยังไม่ได้ปิดช่องแคบฮอร์มุซในขณะนี้ แต่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก น้ำมันดิบเบรนท์ ที่ส่งมอบเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 90.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และแม้ไทยโดยกระทรวงพลังงานยืนยันยังไม่ได้รับผลกระทบ ทว่าเร็วๆ นี้จะมีผลต่อการหารือต่ออายุมาตรการตรึงน้ำมันดีเซลต่อไปได้หรือไม่
ท่ามกลางสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 14 เมษายน 2024 ที่ติดลบทะลุ 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบรวม 56,407 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม 47,213 ล้านบาท
สงครามที่เกิดขึ้นอาจกดดันราคาพลังงาน ซึ่งไม่อาจนิ่งนอนใจได้
อ้างอิง: