×

คลังชี้ เศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคมยังชะลอตัว รับเครื่องชี้บริโภค-ลงทุนยังหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน

โดย THE STANDARD TEAM
28.09.2020
  • LOADING...

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนสิงหาคม 2563 เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว แต่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19

 

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัว 4.3% จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่หดตัว 3.8% 

 

นับว่าสอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 14.8% จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่หดตัว 35.5% เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวในอัตรา 2.5% ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ 9.2% ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 51.0 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (มาตรการผ่อนคลายฯ) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้า ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น 

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 1.5% และ 13.1% จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่หดตัว 11.5% และหดตัว  0.5% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้างทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว 2.7% ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาหดตัว 6.9% จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 14.1% 

 

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่หดตัว 7.9% จากการขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มสินค้า

 

  1. สินค้าอาหาร เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

 

  1. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องโทรสาร เป็นต้น และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 

 

  1. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น

 

  1. สินค้าเก็งกำไรและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ดี การส่งออกยานยนต์ อัญมณีและเครื่องมือ (ไม่รวมทองคำ) ยังคงชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15.2% ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปญี่ปุ่น และอาเซียน 9 ประเทศ หดตัว 16.6% และหดตัว 13.5% ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากประเทศคู่ค้าได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง 

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 84.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายฯ ทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ สำหรับภาคเกษตรที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว 1.2% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น ในขณะที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่มีการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยหดตัว 32.4% ต่อปี

 

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่หดตัว 0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 47.0% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 254.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising