×

‘คลัง’ หั่นคาดการณ์ GDP ปี 65 เหลือ 3.5% พร้อมขยับเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รับผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน

27.04.2022
  • LOADING...
GDP

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2565 เหลือเติบโต 3.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไทยชะลอตัว พร้อมขยับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ขึ้นเป็น 5% ตามแนวโน้มราคาพลังงาน

 

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 3.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0%) ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมกราคม 2565 ที่ 4.0% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะอยู่ที่ 5.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.5-5.5%) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากปี 2564 ที่ขยายตัว 1.6% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.8-4.8%) และภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 6.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากจากปี 2564 ที่มีจำนวนเพียง 0.4 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 6.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 5.5-6.5%)

 

นอกจากนี้การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2565 วงเงิน 3.18 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ

 

โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 4.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.1-5.1%) ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.0-5.0%) 

 

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.0% ต่อปี แต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าวยังคงเป็นผลจากราคาในกลุ่มพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง รวมถึงดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

 

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป ได้แก่ 

 

  1. ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน 

 

  1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 

 

  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท 

 

  1. ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

 

  1. ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising