นิตยสาร Forbes จัดอันดับตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของเอเชีย ปี 2017 (Asia’s Richest Families 2017) แม้อันดับที่หนึ่งจะเป็นตระกูลมหาเศรษฐีธุรกิจน้ำมันจากอินเดีย แต่เจ้าสัวไทยของเราก็มั่งคั่ง โดยติดโผกับเขาถึง 3 ตระกูลด้วยกัน
‘เจียรวนนท์ – จิราธิวัฒน์ – อยู่วิทยา’ เป็นนามสกุลของครอบครัวที่ไม่เพียงรวยที่สุดในประเทศไทย หากแต่ยังรวยระดับเอเชียด้วย อาณาจักรธุรกิจของทั้ง 3 ตระกูลนี้ เมื่อนำตัวเลขที่ Forbes ประเมินออกมารวมกันเท่ากับ 6.93 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.28 ล้านล้านบาท เกือบเท่ากับรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลไทย ปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 ถึงกันยายน 2560) ที่ 2.35 ล้านล้านบาท
จากสำเภาจีนสู่ธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทย
สำหรับการคำนวณของ Forbes จะพิจารณาธุรกิจของตระกูลที่มีฐานรากในเอเชียที่ผ่านมาอย่างน้อย 3 ชั่วอายุคน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 เป็นตัวอ้างอิง
หากมองที่ไปที่จุดเริ่มต้นของธุรกิจ 3 ตระกูล รุ่นบุกเบิกล้วนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ดิ้นรนทำธุรกิจด้วยตัวเองทั้งสิ้น และแต่ละคนก็คือตำนานเจ้าสัวของเมืองไทยที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ติดอันดับโลก
เป็นที่ทราบดีในวงการธุรกิจว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก หากต้องการประเมินว่าเจ้าสัวหรือธุรกิจของตระกูลเจ้าสัวแต่ละรายนั้นมีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไรกันแน่ เพราะข้อมูลสำคัญจะปรากฏแก่สาธารณชนเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีโครงสร้างทางบัญชีที่สลับซับซ้อน ประเด็นเรื่องใครรวยกว่าใครนั้นอาจจะวัดกันได้ไม่ขาดเท่าใดนัก
สำหรับ CP แล้ว ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์มาโดยตลอด และยังมีบทบาททั้งส่วนที่เป็นเรื่องธุรกิจและไม่ใช่เรื่องธุรกิจโดยตรง หยิบ ‘หุ้นตัวสำคัญ’ จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยล่าสุด (16 พ.ย.) มาพิจารณา พบว่าหุ้นของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มีรายได้รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 เท่ากับ 3.88 แสนล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL รายได้รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 เท่ากับ 3.61 แสนล้านบาท กำไรสุทธิราว 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้มีเจ้าสัวธนินท์เป็นประธานกรรมการทั้งสิ้น เฉพาะมูลค่าสินทรัพย์สำหรับธุรกิจอาหาร เกษตร และค้าปลีก (เซเว่น อีเลฟเว่น) มีมูลค่าเกือบ 9.4 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ส่วนยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่างเครือเซ็นทรัลนั้น เมื่อพิจารณาหุ้นของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ข้อมูลล่าสุด (16 พ.ย.) พบว่ารายได้ 9 เดือนแรกของปี 2560 อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท ขณะที่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL รายได้ 9 เดือนแรกของปี 2560 อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิราว 1.5 พันล้านบาท เมื่อรวมมูลค่าสินทรัพย์เฉพาะบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาและธุรกิจโรงแรม พบว่ามีทรัพย์สินรวม 1.36 แสนล้านบาท
และสำหรับธุรกิจของ ‘กระทิงแดง’ นั้น ในประเทศไทยดำเนินการภายใต้บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด หรือ TCP ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีธุรกิจในต่างประเทศ และขายเครื่องดื่มกระทิงแดงภายใต้แบรนด์ Red Bull ทั่วโลก ซึ่ง TCP นั้นเป็นบริษัทเอกชน ข้อมูลที่ Forbes นำมาประเมิน ‘ตระกูลอยู่วิทยา’ จึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจสำหรับวงการธุรกิจ
หากแต่เมื่อพิจารณาจากการให้ข้อมูลกับสื่อของผู้บริหารกลุ่มกระทิงแดง พบว่ารายได้ครึ่งปี 2560 คิดเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้รวมทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีโรงงาน 2 แห่งในประเทศไทย และอีก 3 แห่งในต่างประเทศคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ซึ่งมีแผนลงทุน 1 หมื่นล้านบาทในการขยายโรงงานในภูมิภาค และตั้งเป้ารายได้แตะ 1 แสนล้านในอีก 5 ปีข้างหน้า
ธุรกิจครอบครัว เก่าแต่เก๋า เติบโตได้เพราะรากฐานแข็งแรง
จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า 80% ของธุรกิจในไทยเป็นลักษณะธุรกิจครอบครัว นั่นคือธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งหรือครอบครัวมีสิทธิ์ในการออกเสียงข้างมาก (Voting Rights) หรือมีสิทธิ์ในการบริหารและจัดการต่างๆ ขององค์กร หรือสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 1 คนเป็นคณะกรรมการขององค์กรนั้นๆ
และจากการศึกษาเรื่อง ‘ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งจัดทำโดย อำพล นววงศ์เสถียร พบว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการทำธุรกิจครอบครัวมีดังนี้
- ความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจนั้นๆ
- วัฒนธรรมของครอบครัว
- ภาวะผู้นำของธุรกิจครอบครัว
- การจัดการเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ
- คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการครอบครัว
สิ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันของบรรดาธุรกิจตระกูลเจ้าสัวคือความร่วมแรงร่วมใจกันของคนในครอบครัว ขณะเดียวกันคือการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนไป ให้โอกาสมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาบริหารงาน และสำคัญที่สุดคือการยึดมั่นคำสัญญาทางธุรกิจ ซึ่งนิสัย ‘คำไหนคำนั้น’ เป็นสิ่งที่เจ้าสัวทุกคนมีตั้งแต่เริ่มต้นเสมอ
หากแต่ไม่ใช่ทุก ‘ตระกูลใหญ่’ ในประเทศไทยที่เหมือนกับ ‘เจียรวนนท์ – จิราธิวัฒน์ – อยู่วิทยา’ เราจึงได้เห็นหนังชีวิตของหลายธุรกิจจากที่เคยรุ่งก็ร่วงให้เห็นต่อหน้าต่อตาตระกูลแล้วตระกูลเล่า
ภาพประกอบ: Pichamon W.
อ้างอิง:
- www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Content&file=contentview&contentID=CNT0018653&categoryID=CAT0000674
- www.dailynews.co.th/article/565572
- sites.google.com/a/muk.ac.th/kaeng-nangfa/home/nak-thurkic-srang-ere-ngban-dal-ci/teiyngcirathiwathnniteiyngsaeceng
- tci-thaijo.org/index.php/NDJ/issue/view/498
- www.forbes.com/profile/yoovidhya-family/?list=asia-families
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/767308
- www.industry.go.th/industry/index.php/th/knowledge/item/10603-2016-05-23-05-38-40