×

Workload โหดเกิน? เสียงสะท้อนของนักฟุตบอลถึง UCL โฉมใหม่

17.09.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ภายใต้รูปแบบใหม่ของแชมเปียนส์ลีก มีการคำนวณว่าหากสโมสรไหนไปถึงแชมป์ได้ในปลายฤดูกาล พวกเขาจะต้องลงสนามรวมในรายการนี้มากถึง 17 นัดด้วยกัน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากระบบเดิมที่สุดแค่ 13 นัดเท่านั้น (ไม่รวมรอบคัดเลือกและเพลย์ออฟ)
  • เป้าหมายของยูฟ่าคือการเพิ่มจำนวนเกมให้มากขึ้น เพราะจำนวนเกมที่มากขึ้นหมายถึงเงินรายได้จากทุกภาคส่วนที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด เงินรายได้จากสปอนเซอร์ ไปจนถึงรายได้ในวัน MATCHDAY สำหรับสโมสรต่างๆ

“ไม่มีใครถามพวกเราสักคำ” คือประโยคสั้นๆ ที่แทนความรู้สึกมากมายของ อลิสสัน เบคเกอร์ ผู้รักษาประตูทีมลิเวอร์พูล ที่เตรียมจะลงสนามในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโฉมใหม่ที่จะเริ่มในฤดูกาล 2024/25 เป็นต้นไป

 

ด้วยการจัดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Swiss System’ ทำให้จำนวนเกมเพิ่มขึ้น ซึ่งในด้านธุรกิจแล้ว การมีเกมที่มีคุณภาพมากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงแฟนฟุตบอลที่จะมีเกมให้ได้ติดตามเพิ่มมากขึ้น

 

แต่สำหรับนักฟุตบอลที่เป็นคนที่ต้องลงสนาม จำนวนเกมที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น

 

โดยที่มันอาจมาถึงจุดที่พวกเขาเริ่มจะไม่ไหวแล้ว

 

สิ่งที่ซ่อนในความเปลี่ยนแปลง

 

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นสิ่งที่พยายามผลักดันมานาน และถูกเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กบฏลูกหนัง ‘ยูโรเปียนซูเปอร์ลีก’ เมื่อเดือนเมษายน 2021

 

ในเบื้องหลังความพยายามของ 15 สโมสรที่อยู่ในขบวนการล้มล้างการปกครองทางลูกหนังจากยูฟ่า มาจากเรื่องของเงินรายได้ที่สโมสรยักษ์ใหญ่เหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาคือ ‘แม่เหล็ก’ ที่ดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลจากทั้งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดไปจนถึงจากสปอนเซอร์ยักษ์ใหญ่ต่างๆ

 

จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ ถ้าทีมระดับท็อปจะลงสนามเตะกันเองเป็นหลัก ไหนๆ ทุกคนก็ชอบดูเกมบิ๊กแมตช์อยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ดีหลังความพยายามก่อกบฏครั้งดังกล่าวล้มเหลวและเกิดกระแสลุกฮือต่อต้านนายทุนของสโมสรเหล่านี้ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวทางของหลายสโมสร (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือหนึ่งในนั้น) ทางด้านยูฟ่า โดย อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานคนปัจจุบัน เดินเครื่องในการปรับโฉมของแชมเปียนส์ลีกทันที

 

โดยหลังจากหารือกันมานาน ที่สุดแล้วได้รูปแบบการแข่งขันใหม่ที่เรียกว่า ‘Swiss System’ ระบบที่เป็นที่นิยมในกีฬาหมากรุกมาก่อน ซึ่งจะมาแทนที่ระบบการแบ่งกลุ่มแบบเดิม

 

เป้าหมายของยูฟ่าคือการเพิ่มจำนวนเกมให้มากขึ้น เพราะจำนวนเกมที่มากขึ้นหมายถึงเงินรายได้จากทุกภาคส่วนที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด เงินรายได้จากสปอนเซอร์ ไปจนถึงรายได้ในวัน MATCHDAY สำหรับสโมสรต่างๆ

 

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแต่ด้านบวกเท่านั้น

 

 

Workload โหดเกิน (เสียงสูง)

 

ในด้านลบของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่คือ เรื่องสวัสดิภาพของนักฟุตบอลที่กลายเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่เพิ่มขึ้นไปอีก

 

โดยเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้สึก แต่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่จับต้องและพิสูจน์ได้ในเกมฟุตบอลสมัยใหม่ ที่สโมสรระดับท็อปจะมีข้อมูลสภาพร่างกายของนักเตะในทีมอย่างละเอียด

 

ภายใต้รูปแบบใหม่ของแชมเปียนส์ลีก มีการคำนวณว่าหากสโมสรไหนไปถึงแชมป์ได้ในปลายฤดูกาล พวกเขาจะต้องลงสนามในรายการนี้มากถึง 17 นัดด้วยกัน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากระบบเดิมที่สูงสุดแค่ 13 นัดเท่านั้น (ไม่รวมรอบคัดเลือกและเพลย์ออฟ)

 

สิ่งนี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจของนักฟุตบอลว่าจะเกินขีดจำกัดความอดทนไปหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในเสียงสะท้อนที่พูดออกมาล่าสุดคือ เบคเกอร์ ผู้รักษาประตูลิเวอร์พูลที่เตรียมลงสนามในเกมแรกด้วยการไปเยือนเอซี มิลาน ในคืนนี้

 

“ไม่มีใครถามนักฟุตบอลเลยว่า พวกเขาคิดอย่างไรกับการเพิ่มจำนวนเกมเข้าไป บางทีความเห็นของพวกเราคงไม่สำคัญ” ผู้รักษาประตูชาวบราซิลกล่าว “แต่ทุกคนก็คงรู้ว่าพวกเราคิดอย่างไรกับจำนวนเกมที่เพิ่มขึ้น ทุกคนเหนื่อยล้ากับมันมาก เพียงแต่เราก็ต้องพยายามรักษาสมาธิสำหรับความท้าทายครั้งใหญ่ที่เราต้องเจอในเกมนี้”

 

ความอ่อนล้าของนักฟุตบอลนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เรื่องของสภาพร่างกายที่กรำศึกหนักเท่านั้น ซึ่งเบคเกอร์เองก็ประสบปัญหากับร่างกายตัวเองในฤดูกาลที่แล้ว ที่เขาต้องพลาดการลงสนามเป็นจำนวนมากเพราะอาการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นผลจากฤดูกาลก่อนๆ ที่ลงเล่นเกิน 60 เกมต่อปี

 

ขณะที่นักเตะบางคนในทีมอย่าง ดาร์วิน นูนเญซ ลงสนามรวมกันเกินกว่า 70 นัดในปีเดียว โดยที่แทบจะไม่มีเวลาพักฟื้นสภาพร่างกายเลย

 

 

Work ไร้ Balance

 

ผลเสียของ Workload ที่ไม่สมดุล (Workload Imbalance) ส่งผลเสียอย่างไร?

 

โดยหลักๆ แล้วคือเรื่องจำนวนเกมที่ไม่สมดุล ซึ่งทำให้นักฟุตบอลต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพและเส้นทางอาชีพ เพราะการตะบี้ตะบันลงสนามส่งผลต่อสภาพร่างกายของนักฟุตบอลอย่างแน่นอน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาอาการบาดเจ็บระยะสั้น แต่จะส่งผลในระยะยาวถึงเส้นทางอาชีพนักฟุตบอลด้วย มีนักฟุตบอลหลายคนที่ร่างกายหมดสภาพก่อนวัยอันควร เรียกว่าถูกทำให้พังโดยไม่เต็มใจ

 

สภาพร่างกายที่อ่อนล้าก็ส่งผลต่อคุณภาพของเกมการแข่งขันด้วย เพราะจะทำให้เกมไม่สนุก

 

และเรื่องนี้สหพันธ์สมาคมนักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPRO) ได้ทำการศึกษาและเปิดเผยล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน โดยผลการศึกษาจาก FIFPRO มีข้อสรุปทั้งหมด 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่

 

1. ผู้เล่นและผู้เชี่ยวชาญต่างเรียกร้องให้มีการคุ้มครองนักฟุตบอล

มาร์เซโล บิเอลซา โค้ชทีมชาติอุรุกวัยชาวอาร์เจนตินา เป็นหนึ่งในเสียงสะท้อนที่กังวลเรื่องสวัสดิภาพของนักฟุตบอลเกี่ยวกับจำนวนเกมที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งการเดินทาง จะจบที่อาการบาดเจ็บของนักเตะแน่นอน ซึ่งโค้ช 78% และนักฟุตบอล 72% ต่างคิดตรงกันว่าจำนวนเกมเยอะเกินไปแล้ว

 

2. ปริมาณ Workload ทะลักเกินขีดจำกัดไปมากแล้ว

FIFPRO สำรวจนักฟุตบอล 1,500 คนทั่วโลก ผลออกมาว่า 54% มีปัญหาเรื่องของ Workload ที่มากเกินไปในฤดูกาล 2023/24 โดยที่มีนักฟุตบอล 31% ที่ลงสนามเกินกว่า 55 นัดต่อฤดูกาล

 

ดานี การ์บาฆาล แบ็กขวาเรอัล มาดริด และทีมชาติสเปน แนะว่าควรจะหารือร่วมกันว่าจำนวนเกมที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร เพราะตอนนี้การจะลงสนามให้เต็มเหยียด 72 นัดในฤดูกาลเดียวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

3. โปรแกรมฟุตบอลทั่วโลกส่งผลรุนแรงต่อผู้เล่น

หนึ่งในนักฟุตบอลที่ลงเล่นเยอะที่สุดในฤดูกาลที่แล้วคือ ฮูเลียน อัลวาเรซ ที่ลงเล่นทั้งระดับสโมสรกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และทีมชาติอาร์เจนตินาในรายการโคปาอเมริกาและโอลิมปิก รวมกันแล้วถึง 83 นัด

 

เรื่องนี้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา อดีตเจ้านายในทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ฉายภาพให้เห็นว่าสมัยก่อนจะมีช่วงเวลาให้พักก่อนพรีซีซันราว 4-5 สัปดาห์ แต่ในเวลานี้โปรแกรมอัดแน่นทำให้มีเวลาเหลือเพียงแค่หลัก ‘10 วัน’ เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่นักฟุตบอลจะฟื้นร่างกาย

 

4. โปรแกรมทีมชาติส่งผลต่อผู้เล่น

การรับใช้ชาติเป็นความภาคภูมิใจก็จริง แต่การเดินทางไปรับใช้ชาติหมายถึงภาระด้วย โดยเฉพาะนักฟุตบอลจากทวีปอเมริกาใต้ที่ไปค้าแข้งในยุโรป

 

การเดินทางไป 12 ชั่วโมง และกลับอีก 12 ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยสำหรับสภาพร่างกายของนักฟุตบอล

 

 

5. ความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดสำหรับนักเตะดาวรุ่ง

นักเตะดาวรุ่งคืออนาคตของวงการ แต่ปัญหาตอนนี้คือมีนักฟุตบอลจำนวนมากที่ต้องลงสนามเกินกว่าที่ควรจะเป็น

 

จูด เบลลิงแฮม ลงสนามไปแล้ว 251 นัดก่อนอายุ 21 ปี ขณะที่ เดวิด เบ็คแฮม ลงสนามไปเพียงแค่ 54 นัดเท่านั้น เช่นกันกับ ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ ที่ลงเล่นไปทั้งหมด 11,501 นาที มากกว่า มิชาเอล บัลลัค ในวัยเท่ากันเกือบ 3 เท่า (4,175 นาที)

 

ความอ่อนล้านั้นไม่ได้มีแค่เรื่องร่างกาย แต่มีเรื่องจิตใจด้วย

 

6. การขยายการแข่งขันคือการเพิ่มความเสี่ยงของผู้เล่น

การขยายรายการของยูฟ่าในแชมเปียนส์ลีก และการปรับรูปแบบรายการชิงแชมป์สโมสรโลกใหม่ของ FIFA อย่าง FIFA Club World Cup จะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่นักฟุตบอล

 

มีการคำนวณว่า ฟิล โฟเดน อาจจะต้องลงสนามเกือบ 80 นัดในฤดูกาลนี้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่บ้าบอคอแตกมาก

 

7. มาตรการสุขภาพและความปลอดภัยที่หายไป

FIFPRO พยายามยื่นเรื่องร้องเรียน FIFA เกี่ยวกับการจัดโปรแกรมการแข่งขันทีมชาติโดยไม่คำนึงถึงเรื่องผลกระทบที่ตามมา และสำหรับนักฟุตบอลแล้วควรจะมีการการันตีระยะเวลาที่จะได้พักในแต่ละปี

 

การจัดรายการ FIFA Club World Cup ในปีหน้า (ฤดูร้อน 2025) ยังเป็นการเบียดเบียนเวลาที่นักฟุตบอลจะได้พักเต็มที่ในรอบเดียวในปฏิทินฟุตบอล โดยไม่มีรายการระดับทีมชาติอื่นให้เป็นภาระผูกพันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นสิ่งที่จะต้องหารือกัน

 

เพราะการดูแลนักฟุตบอลให้ดีขึ้น ก็หมายถึงเกมฟุตบอลที่ดีขึ้นตามไปด้วย

 

สิ่งเหล่านี้คือเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีการพูดถึงมากนักในเกมฟุตบอล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าปัญหาเรื่อง Workload ที่เกินความพอดีจึงไม่ได้เป็นปัญหาแค่คนทำงานออฟฟิศเท่านั้น แม้แต่นักฟุตบอลเองก็ต้องเจอเหมือนกัน

 

โดยที่ไม่ควรจะบอกว่า “ก็นักฟุตบอลได้เงินเยอะ จะบ่นอะไร”

 

เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีเหมือนกันไม่ใช่หรือ?

 

“เราเข้าใจด้านอื่นๆ เราไม่ได้โง่ แต่มันจะเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าถ้าคนที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการแข่งขันจะชวนทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยกัน รวมถึงผู้เล่นด้วย เราก็อยากจะรับฟังเหมือนกันถึงความคิดที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดทิศทางของเกมฟุตบอล ไม่ใช่คิดแต่จะเพิ่มจำนวนเกมเข้าไป” เบคเกอร์กล่าว

 

“ที่สุดแล้ว ที่เราต้องการก็แค่พยายามให้ดีที่สุด ถ้าคุณเหนื่อย ก็ไม่มีทางจะลงแข่งในระดับที่ดีที่สุดได้หรอก”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising