×

รวมแอปฯ เพื่อนกินยามดึก จะติดงาน ติดฝน ติดประชุม เราก็ไม่หวั่น

28.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • แอปฯ EatRanger มีฟังก์ชันชื่อ ‘กินด้วย’ ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่คล้ายๆ กับการแมตช์คนที่สั่งอาหารร้านเดียวกันและพักใกล้กัน ทำให้มีตัวหารค่าจัดส่ง โดยถ้าเลือกฟังก์ชันนี้ เราจะได้ลดค่าส่งถึง 30%

เรื่องงานเรื่องใหญ่แต่เรื่องกินก็ไม่ควรเป็นสองรองใคร ถ้าติดงานด่วน ติดประชุม หรือแม้กระทั่งติดฝนอยู่ออฟฟิศยามค่ำมืดแล้วท้องดันร้องขึ้นมา ขอแนะนำช่องทางเหล่านี้ ที่จะทำให้คุณไม่ต้องทรมานกับความหิวโหยอีกต่อไป

 

 

Foodpanda

เจ้าใหญ่เจ้าดัง เจ้าแรกสุดของวงการ Food Delivery ที่เข้ามาบุกตลาดไทยเลยก็ว่าได้ ข้อดีของ Foodpanda คือเครือข่ายร้านอาหารที่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล แถมยังมีบริการในหัวเมืองเช่น ภูเก็ตและเชียงใหม่ สำหรับการสั่งในกรุงเทพฯ ชั้นในนั้น ถือว่าครอบคลุมร้านอาหารที่เปิดดึกดื่นหลากหลายประเภท เราทดลองใช้แอปฯ สั่งอาหารย่านทองหล่อ-เพชรบุรี ยามใกล้เที่ยงคืน พบลิสต์ร้านอาหารที่ให้บริการตั้งแต่ร้านอาหารไทย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เม็กซิกัน, อเมริกัน, ไปยันข้าวมันไก่ประตูน้ำ เป็นต้น โดยค่าบริการเริ่มต้นที่ 40 บาท

 

ข้อดีของ Foodpanda ที่เราชื่นชอบมากๆ คือ การโชว์ร้านที่เปิดบริการ ณ ขณะนั้นไว้ลำดับแรกๆ เช่น ถ้าคุณเปิดแอปฯ ตอนตี 1 ร้านที่โชว์อยู่ด้านบนจะเป็นร้านที่ยังเปิดอยู่ในตอนนั้น แถมยังบอกระยะเวลาในการจัดส่งให้รู้อีกว่าเราต้องรออีกกี่นาทีถึงจะได้หม่ำ ถือว่าไม่ละเลยข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ใช้งาน (อย่างเรา) อยากรู้… แหม จะได้ประเมินถูก ถ้าหิวมากก็จะได้จิ้มเจ้าที่รอไม่กี่นาทีถึงยังไงล่ะ

 

จุดเด่น: มีร้านอาหารในระบบมากกว่าพันร้าน เป็นพันธมิตรกับร้านอาหารที่มีสาขาจำนวนมาก เช่น Subway และ BonChon คิดราคาอาหารตามจริง ค่าส่งเริ่มต้น 40 บาท

 

จุดด้อย: เน้นร้านระดับกลางถึงบน ไม่ค่อยมีร้านแนวสตรีทฟู้ด

 

 

LINE MAN

Food Delivery เจ้าใหญ่อีกเจ้าที่จัดทำโดย LINE ประเทศไทย ร่วมมือกับ วงใน (Wongnai) ซึ่งถือเป็นตัวพ่อแห่งวงการรีวิวร้านอาหารในไทยก็ว่าได้ ดังนั้นแอปฯ LINE MAN จึงมีร้านอาหารในระบบครอบคลุมเกือบทุกหัวระแหงของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งร้านหรูร้านดัง ไปจนถึงสตรีทฟู้ดกันเลยทีเดียว

 

ถ้าข้อดีคือการที่มีร้านครอบคลุมหลายระดับ แต่ข้อด้อย (หน่อยนึง) ที่เราพบยามจิ้มแอปฯ ตอนดึกดื่นคือ แอปฯ LINE MAN จะไม่แยกร้านที่ปิดและเปิดอยู่ออกจากกัน เรียกว่าโชว์มันทั้งสองประเภท (น่าจะขึ้นโชว์โดยยึดระยะทางที่ใกล้สุดเป็นหลัก ไม่ได้ยึดตามเวลาให้บริการ) ทำให้พอเปิดแอปฯ ตอนดึก มันเลยขึ้นโชว์ร้านที่ปิดก่อน ต้องเลื่อนลงมาเกือบสิบร้าน ถึงเจอร้านที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ถ้าเข้าแอปฯ ตอนหิวจัดๆ อาจจะพานเป็นลมก่อนได้ (ก็พูดเว่อร์ไป๊) แต่ถ้าใครมีลิสต์ร้านประจำที่รู้ว่าเขาเปิดดึกอยู่แล้วล่ะก็ แนะนำให้เสิร์ชหาได้เลย ฟังก์ชันเสิร์ชนี่ต้องยอมรับว่า LINE MAN ทำระบบได้สะดวกทีเดียว (นับเป็นข้อดีที่น่าชื่นชม)

 

ค่าบริการของ LINE MAN คิดขั้นต้นที่กิโลเมตรแรก 55 บาท จากนั้นเพิ่ม 9 บาทต่อกิโลเมตร ถือว่าสูงกว่าหลายเจ้า แต่ถ้าเทียบกับว่าเราไม่ต้องฝ่าการจราจรออกไปซื้อเอง ก็นับว่าคุ้มทีเดียว

 

จุดเด่น: มีร้านอาหารในระบบหลักแสน ครอบคลุมร้านหลายระดับ ตั้งแต่หรูขึ้นห้างยันสตรีทฟู้ด คิดราคาอาหารตามจริง

 

จุดด้อย: ค่าบริการจัดส่งสูงกว่าเจ้าอื่นในท้องตลาด

 

 

GrabFood

บริการใหม่จาก Grab ที่เริ่มทดลองตลาดช่วงปลายปี ก่อนจะเปิดให้บริการแบบเต็มตัวในกรุงเทพฯ แล้ว ข้อดีของ GrabFood (ในช่วงนี้) คือค่าบริการฟรี เรียกได้ว่าจ่ายแค่ค่าอาหารตามราคาจริง แถมไม่ต้องโหลดแอปฯ ใหม่เพราะฟังก์ชันนี้มีอยู่แล้วใน Grab แค่กดเปลี่ยนบริการจาก Transport มาเป็น Food เท่านั้น

 

ข้อดีอีกอย่างเมื่อลองจิ้มใช้บริการตอนดึกคือ แอปฯ จะโชว์ลิสต์ร้านอาหารที่ยังเปิดให้บริการอยู่ให้เห็นทันที พร้อมกะระยะเวลาในการจัดส่ง (เป็นนาที) ให้ด้วย ส่วนนี้จะคล้ายกับ Foodpanda แต่จุดด้อยคือลิสต์ร้านอาหารในระบบยังมีน้อยกว่า และขึ้นโชว์เฉพาะลิสต์ที่อยู่ในระยะ 5 กิโลเมตรเท่านั้น

 

จุดเด่น: ฟรีค่าบริการ ครอบคลุมร้านหลายระดับ คิดราคาอาหารตามจริง

 

จุดด้อย: ระบบจะขึ้นโชว์เฉพาะร้านที่อยู่ภายในระยะ 5 กิโลเมตรเท่านั้น

 

 

honestbee

สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ที่เพิ่งเข้ามาให้บริการในไทย โดยมีทั้งบริการช่วยช้อปของสดของใช้ และบริการ Food Delivery ด้วย ข้อดี (ถึง 31 พ.ค. 61) คือส่งฟรีทุกออร์เดอร์ โดยระบบจะครอบคลุมทั้งร้านหรูและสตรีทฟู้ด แต่ถือว่ายังมีร้านในระบบน้อยกว่าเจ้าอื่นๆ

 

ข้อด้อยของการกดสั่งอาหารจาก honestbee มากินมื้อดึกคือ มีร้านที่ให้บริการน้อย (มาก) แถมระบบค้นหาตอนนี้ก็ยังดูงงๆ ณ ปัจจุบัน ตัวแอปฯ ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งปัจจุบันของเราได้เองอัตโนมัติ ต้องให้เราระบุหรือปักหมุดตำแหน่งเองก่อน ซึ่งสำหรับบางคน นี่อาจจุดชนวนความโมโหหิวให้พุ่งปรี๊ดจนถึงขั้นกดปิดแอปฯ ได้

 

จุดเด่น: ฟรีค่าบริการ ครอบคลุมร้านหลายระดับ รวมถึงสตรีทฟู้ด คิดราคาอาหารตามจริง

 

จุดด้อย: ระบบค้นหาและการระบุตำแหน่งปัจจุบันยังไม่ค่อยทันใจนัก

 

 

EatRanger

Food Delivery ที่พัฒนาโดยคนไทย โดยชื่อเดิมคือ DropDrink วันที่เราติดตั้งแอปฯ และทดลองใช้บริการนั้น ต้องถือว่าเกิดเหตุขลุกขลักอยู่ไม่น้อย เริ่มตั้งแต่แอปฯ แจ้งเตือนให้อัปเดตเวอร์ชันล่าสุด (ทั้งที่เพิ่งติดตั้งตะกี้เอง) พอ uninstall แล้วกดติดตั้งใหม่ ก็ยังแจ้งเตือนแบบเดิม (โอ๊ะโอ) เลยชั่งมันและ เลือกกดปุ่ม skip แล้วล็อกอินผ่าน Facebook จนมาที่หน้าโชว์ร้านอาหารในระบบเสียที ก่อนจะพบว่าไม่มีลิสต์ร้านที่เปิดตอนดึกอยู่เลยสักร้าน จบกัน ขอกดออกจากแอปฯ อย่างเงียบๆ ตอนเที่ยงคืน

 

แต่! แต่…เรายังไม่ยอมแพ้ แม้จะขอบายไปตอนดึกๆ แต่พอพระอาทิตย์ขึ้น เราก็กลับมาลองใช้แอปฯ อีกหน (สำนึกรักแอปฯ คนไทยมาก) ก่อนพบว่า แอปฯ EatRanger มีฟังก์ชันชื่อ ‘กินด้วย’ ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่คล้ายๆ กับการแมตช์คนที่สั่งอาหารร้านเดียวกันและพักใกล้กัน ทำให้มีตัวหารค่าจัดส่ง โดยถ้าเลือกฟังก์ชันนี้ เราจะได้ลดค่าส่งถึง 30% ถือเป็นบริการดีๆ ที่มาช่วยดับความขุ่นเคืองอันเกิดจากความหิวโซเมื่อคืนได้บ้าง

 

จุดเด่น: มีฟังก์ชันช่วยหารค่าจัดส่ง คิดราคาอาหารตามจริง

 

จุดด้อย: ร้านค้าในระบบยังมีน้อย ระบบค้นหาและการระบุตำแหน่งปัจจุบันยังไม่ค่อยทันใจนัก เหมือนแอปฯ จะยังมี Bug

 

*หมายเหตุ: เป็นการทดลองใช้แอปฯ สั่งอาหารยามดึก ผลลัพธ์ของการทดลองอาจจะแตกต่างจากการเลือกใช้บริการในช่วงกลางวัน

 

Photo: shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising