×

รายงานผลประชุม FOMC ชี้ Fed กำลังลังเลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยรอบหน้า 13-14 มิ.ย. นี้

25.05.2023
  • LOADING...
FOMC

รายงานผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หรือ Minutes ฉบับล่าสุด แสดงให้เห็นว่า ที่ประชุมมีความเห็นแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่ง ระหว่างการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หรือหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ปมเพดานหนี้สหรัฐฯ ผลกระทบจากการล่มสลายของธนาคารภูมิภาค และการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ

 

ในรายงานคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed ที่เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 พฤษภาคม) ชี้ว่า เจ้าหน้าที่ Fed หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเคลื่อนไหวเป็นไปตามแนวโน้มปัจจุบัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมหลังจากการประชุมครั้งนี้ (2-3 พฤษภาคม) อาจไม่จำเป็น

 

ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ Fed บางส่วนก็เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างดื้อดึงน่าจะทำให้ Fed ต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยก็ในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ 

 

กระนั้นเมื่อดูจากบรรยากาศของที่ประชุมโดยรวมแล้ว จำนวนผู้ที่สนับสนุนให้ระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวดูจะมีมากกว่า เห็นได้จากการที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed และเจ้าหน้าที่ใกล้ชิด ได้ส่งสัญญาณในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

เอลเลน เซนต์เนอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ จาก Morgan Stanley แสดงความเห็นว่า คงไม่ใช่เรื่องยากที่ Fed จะมีฉันทามติเกี่ยวกับการหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวในเดือนมิถุนายน หากสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่ว่าอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากข้อมูลไม่สอดคล้องกัน

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อยกระดับต้นทุนสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อธุรกิจ ด้วยการทำให้การกู้ยืมมีราคาแพงขึ้น โดย Fed พยายามชะลอความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022 Fed ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 5.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี

 

รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินเมื่อวันพุธที่ผ่านมายังเน้นย้ำถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอย่างผิดปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ Fed กำลังประเมินเมื่อพวกเขาพิจารณาการเคลื่อนไหวนโยบายครั้งต่อไป เจ้าหน้าที่ยังคงไม่แน่ใจว่าการล่มสลายของธนาคารขนาดใหญ่ 3 แห่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะรุนแรงเพียงใด และอาจนำไปสู่การยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 

 

โดยความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้กำลังเพิ่มขึ้นจากการเจรจาขยายเพดาหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยังคงไร้ข้อยุติในปัจจุบัน โดยหลายฝ่ายมองว่า หากประธานาธิบดีโจ ไบเดน และสมาชิกพรรครีพับลิกัน ไม่เห็นด้วยในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ที่จะเพิ่มเพดานหนี้ จนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกได้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย 

 

รายงานการประชุม Fed ระบุว่า สมาชิกโดยทั่วไปแสดงความไม่มั่นใจว่าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเท่าไร ซึ่งบ่งชี้ว่า ความแตกต่างดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการประนีประนอม คือแทนที่จะหยุดชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด เจ้าหน้าที่ Fed อาจไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ 

 

ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่า Fed ยังคงเปิดกว้างสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตหากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงเกินกว่าเป้าหมาย 2% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเป็นไปได้ดังกล่าวจะไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจนในการประชุมของเดือนพฤษภาคมนี้ แต่รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ Fed บางคนต้องการชี้แจงว่าสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่า Fed จะหยุดการปรับขึ้นชั่วคราวในเดือนมิถุนายน 

 

“ไม่ควรตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า” 

 

นอกจากนี้ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed ได้ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวานนี้ (24 พฤษภาคม) ว่า ทางสมาชิกคณะกรรมการส่วนหนึ่งมองว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงเกินไป และยังไม่มีความคืบหน้ามากนักในการบรรลุเป้าหมาย 2% ดังนั้นด้วยเหตุนี้จึงยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า Fed ควรทำอย่างไรในการประชุมครั้งต่อไปในช่วงกลางเดือนมิถุนายน

 

โดยส่วนตัวแล้ววอลเลอร์มองว่า Fed ยังไม่ควรหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ เว้นแต่จะมีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวลงไปสู่เป้าหมาย 2% แต่การที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ที่แน่ๆ ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนับต่อจากนี้ก่อนถึงกำหนดประชุมในเดือนมิถุนายนในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X