ยังคงเป็นสตาร์ทอัพไทยระดับยูนิคอร์นที่น่าจับตามองสำหรับ Flash Express ที่ได้เผยถึงทิศทางธุรกิจในปี 2565 ทั้งการเปิดบริการใหม่เจาะตลาดขนส่งขนาดใหญ่ แผนไปต่างประเทศและการระดมทุนที่คาดว่าจะมีข่าวดีอีกในช่วงกลางปี
บริการล่าสุดที่ Flash Express เพิ่งเปิดคือ Flash Bulky บริการส่งพัสดุขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 5-100 กิโลกรัม ค่าบริการเริ่มต้นเพียง 50 บาท และบริการเสริมที่มีชื่อว่า Speed Guarantee การันตีเวลาจัดส่งภายใน 2 วัน
คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า ผู้บริโภคไม่ได้เลือกซื้อแค่สินค้าในกลุ่มที่มีขนาดเล็ก เช่น เสื้อผ้า สินค้าแก็ดเจ็ต เท่านั้น แต่อัตราการเติบโตของสินค้าขนาดใหญ่กลับมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย 3 อันดับสินค้าที่มีการซื้อขายเติบโตเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคือ สินค้าประเภทของใช้สัตว์เลี้ยง อุปกรณ์ฟิตเนสเพิ่มขึ้น 71% เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่จำพวก ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โต 63% ขณะที่สินค้าของใช้ภายในบ้านประเภทเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มีการเติบโต 55% จึงเป็นที่มาของการเปิดบริการใหม่ เนื่องจากเห็นโอกาสในตลาดดังกล่าว
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดาดการณ์ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดทำให้มูลค่าในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.11% จากปี 2563
Flash Express เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งมาได้ 4 ปีแล้ว กลางปีที่ผ่านมาได้ประกาศปิดดีลยักษ์จากการระดมทุนรอบซีรีส์ D+ และซีรีส์ E ได้เม็ดเงินรวมไปกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท ทำให้ทำให้ธุรกิจมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาท จึงได้ขึ้นเป็น ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น’ ตัวแรกของไทย
“เรายังคงระดมทุนอยู่เรื่อยๆ ประมาณกลางปีนี้อาจจะมีข่าวดีใหม่ๆ จากพวกเรา” คมสันต์กล่าวในระหว่างแถลงข่าว
การขยายธุรกิจในต่างประเทศเป็นสิ่งหนึ่งที่ Flash Express กำลังโฟกัส หลังจากขยายไปยัง สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ มีการคาดว่ามาเลเซียจะเป็นประเทศที่สามที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกนี้
“ภายในปี 2565 เราจะเปิดให้บริการไม่น้อยกว่า 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่รวมประเทศที่เปิดไปแล้ว เป้าหมายของเราคือขยายให้ครอบคลุมในภูมิภาคให้เร็วที่สุด”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจขนส่งสินค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์ในปี 2564 แม้มีแนวโน้มขยายตัว 19% หรือมีมูลค่าราว 71,800 ล้านบาท แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวจากปี 2563 ที่ขยายตัวถึง 31.3% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากโควิด ราคาค่าขนส่งที่ถูกลง และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ซึ่งคมสันต์ยอมรับว่า “มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 30 บาท”
ในขณะที่ต้องลดราคาค่าขนส่งให้ถูกลงเพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการบางรายน่าจะยังประสบภาวะขาดทุน
อย่าง บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ซึ่ง บล.ทิสโก้ ประเมินว่าจะขาดทุน 156 ล้านบาทในไตรมาส 4/64 อันเกิดจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ส่งผลบวกต่อส่วนแบ่งการตลาดที่ได้กลับมาเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 35% จากคู่แข่งหลักๆ ขณะที่ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ประเมิน KEX จะขาดทุน 193 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันนี้
“การแข่งขันในปี 2565 จะมีเรื่องของราคาที่แข่งกันรุนแรงเป็นเรื่องปรกติ” แม่ทัพ Flash Express กล่าว “เรายังสามารถแข่งขันได้และเป็นผู้นำตลาดอยู่” ซึ่งในที่นี้ไม่ได้มีการเปิดเผยว่ามีส่วนแบ่งตลาดอยู่เท่าไร
รายได้รวมของปี 2564 ที่ผ่านมาของ Flash Express อยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท และยอดพัสดุทั้งปีสูงกว่า 600 ล้านชิ้น โดยปัจจุบันมีพนักงานกว่า 35,000 คน จุดรับส่งพัสดุทั่วประเทศมากกว่า 15,000 แห่ง ในส่วนของศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่มีอยู่ 40 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดยังมีแผนขยายพื้นที่เพื่อรองรับกับปริมาณสินค้าในแต่ละวันที่มีมากกว่า 2 ล้านชิ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สู่ยูนิคอร์น! Flash Express ปิดดีลใหญ่ระดมทุนซีรีส์ E มูลค่า 4,700 ล้านบาท จากทั้ง Buer Capital, SCB 10X และ OR เป็นต้น
- Flash Express ร่วมทุน AIF Group Laos เปิดตัว ‘แฟลช ลาว’ เริ่มให้บริการก่อนที่นครหลวงเวียงจันทน์
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP