ทุกวันนี้มีโรคแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย หากไม่เกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว ก็คงจะไม่คาดคิดว่าในโลกนี้มีโรคที่ชวนให้ประหลาดใจเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือโรคที่เรียกว่า ‘โรคชอบจุดไฟ’ (Pyromania / Firesetting) ซึ่งในทางการแพทย์อธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ว่า จะทำให้คนที่เป็นโรคนี้เกิดภาวะผิดปกติในการยับยั้งชั่งใจที่พบได้ยากมาก โรคนี้เป็นเรื้อรังได้ คนป่วยจะรู้สึกหลงใหลอย่างรุนแรงต่อการเกิดเพลิงไหม้ หรือรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้เห็นไฟ หรือจุดไฟ บางคนอาจถึงขั้นคิดไปว่าการจุดไฟให้เผาไหม้ช่วยคลายความทุกข์ที่มีต่อจิตใจได้
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า ‘สาเหตุของโรคนี้มันเกิดจากอะไร?’ ซึ่งคำตอบนั้นพบว่า มีสาเหตุมาจากได้ทั้งปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อโรคนี้ เช่น ในคนที่คิดลบ มีทัศนคติต่อต้านสังคม เข้าสังคมไม่เป็น ต้องการเรียกร้องความสนใจ เป็นคนที่ไม่สามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ มีปมในชีวิต ถูกละเลยจากพ่อแม่ ครอบครัว หรือถูกปฏิเสธความรู้สึก บางคนได้รับความกดดันสะสมจากสังคมเพื่อนในโรงเรียน จนเกิดอาการเครียดสะสม ซึ่งโรคนี้มีความเสี่ยงจะเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่
โดยในเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคนี้ การจุดไฟคือสัญญาณแห่งการขอความช่วยเหลือ ซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติ มันอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงได้ ส่วนในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคชอบจุดไฟ จะเชื่อมโยงกับอาการต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า มีอาการทางจิต หรือเป็นคนที่ย้ำคิดย้ำทำ
‘ทำไมการจุดไฟถึงเป็นวิธีที่คนเป็นโรคนี้เลือกใช้?’ เพราะการจุดไฟจะตอบสนองต่อแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดความพอใจอย่างเกินจะห้ามใจได้ นำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจ มีความสุข และผ่อนคลายที่ได้เห็นไฟ ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟกลายเป็นสิ่งที่คนเป็นโรคนี้หลงใหล ไม่ว่าจะเป็นไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก ดอกไม้ไฟ สิ่งที่ทำให้เกิดไฟ ยิ่งเครียดก็ยิ่งอยากเห็นประกายไฟ อยากจุดไฟ ถามว่าโรคนี้อันตรายไหม? ต้องบอกว่าอันตรายต่อทั้งตัวบุคคลและอันตรายต่อทรัพย์สิน ปัญหาของโรคนี้ US Municipal Fire Departments (ระหว่างปี 2010-2014) เคยเปิดเผยว่า มีการรับแจ้งเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาประมาณ 261,330 ครั้ง ต่อหน่วยดับเพลิงเทศบาลของสหรัฐฯ ในแต่ละปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 440 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,310 ราย นั่นส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า หากผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ไม่เข้ารับการรักษาก็อาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเอง และอาจเป็นอันตรายต่อสังคมรวมถึงทรัพย์สิน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสร้างความวุ่นวายที่คาดไม่ถึงได้
วิธีการรักษา ต้องส่งเข้ารับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมควบคู่กัน โดยในผู้ป่วยที่เป็นเด็กต้องปรับการรักษาให้เหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้เกิดทักษะการแก้ปัญหาและการสื่อสาร ให้เขาได้รู้จักวิธีจัดการกับความโกรธ ฝึกควบคุมความก้าวร้าว และปรับโครงสร้างความรู้ ความเข้าใจ และใช้จิตบำบัดเชิงลึกในระยะยาวสำหรับผู้ใหญ่
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง:
- How Psychology Works
- https://psychiatryonline.org/doi/10.1176/appi.ajp-rj.2016.110707
- https://www.psychiatrictimes.com/view/understanding-adult-fire-setting-pyromania-arson