×

FinTech กับการก้าวสู่ยุค Decentralized Finance (DeFi) แล้ว DeFi คืออะไร เกี่ยวข้องกับ Blockchain อย่างไร

โดย SCB 10X
15.03.2021
  • LOADING...
FinTech กับการก้าวสู่ยุค Decentralized Finance (DeFi) แล้ว DeFi คืออะไร เกี่ยวข้องกับ Blockchain อย่างไร

DeFi หรือ Decentralized Finance ซึ่งเป็นแนวคิดทางการเงินแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรมแทนตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ธนาคาร หรือศูนย์รับแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งจุดแข็งของ DeFi คือการบันทึกและดำเนินธุรกรรมอัตโนมัติ สามารถบันทึกได้ทันทีที่มีการตกลงและมีความเสี่ยงต่อการโดนโจมตีและบิดเบือนข้อมูลในระบบที่ต่ำกว่า

 

ปัจจุบัน DeFi มีบริการทางการเงินที่ครอบคลุมการใช้งานที่หลายคนคุ้นเคย เช่น บัญชีเงินฝาก การกู้ยืมเงินระหว่างรายย่อย (Peer-to-Peer Lending) ไปจนถึงการประกันภัย ด้วยบริการแบบเดิมที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น พร้อมกับแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์ม ทำให้ DeFi ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2020 ซึ่ง Bloomberg ระบุว่า DeFi เป็นบริการทางการเงินที่เร่งมูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซีให้สูงขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อเดือนกันยายน 2020 สินทรัพย์ค้ำประกันในบริการของ DeFi มีมูลค่าอยู่ที่ราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เส้นทางสู่โลกการเงินในยุค DeFi

ระบบการเงินในปัจจุบันเป็นการเงินแบบรวมศูนย์ หรือ Centralized Finance ที่เรียกอย่างย่อว่า CeFi ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยศตวรรษที่ 17 เมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศจัดตั้งธนาคารกลางเพื่อออกธนบัตร (Banknote) อ้างอิงกับสินทรัพย์มีค่าเพื่อควบคุมให้เงินตราอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีบรรดาธนาคารเป็นผู้ดำเนินการแจกจ่ายธนบัตรให้ประชาชนใช้เป็นเงินตราอย่างทั่วถึง ธนาคารเหล่านี้เองจึงถือเป็นตัวกลางที่คอยดำเนินการทางการเงินให้เราอย่างในปัจจุบัน

ต่อมาการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ผสานภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคการเงิน ทำให้ Financial Technology มีส่วนผลักดันโลกการเงินให้ก้าวไปอีกขั้น หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกจับตามากที่สุดคือบล็อกเชน เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลอัตโนมัติที่สถาบันการเงินใช้ลดหรือรวบขั้นตอนดำเนินการ ส่งผลให้ต้นทุนของธุรกรรมต่างๆ ลดลง บริการได้รวดเร็วและมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญของคริปโตเคอร์เรนซี สกุลเงินเข้ารหัสที่อยู่ในความสนใจของหลายๆ คน

 

อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนมีศักยภาพมากกว่าแค่ลดขั้นตอนดำเนินงานที่ตัวกลางทำระหว่างกัน แต่ยังสามารถเข้ามาทำงานแทนหน้าที่หลักๆ ของตัวกลางได้เลย ทำให้เกิดการพัฒนาบริการทางการเงินบนบล็อกเชนมากมาย ทั้งบัญชีเงินฝาก การโอนเงิน การชำระเงิน สินเชื่อระหว่างรายย่อย ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ จุดแข็งของโครงการเหล่านี้คือมีผลลัพธ์เหมือนกับการทำงานโดยตัวกลาง ทุกธุรกรรมจะได้รับการยืนยันความถูกต้องและบันทึกลงในระบบทันที มีการปกป้องตัวรายการธุรกรรมในระดับสูงผ่านการเข้ารหัสและการกระจายบัญชีที่ถูกต้องไปยังผู้ใช้ส่วนใหญ่ในระบบ และที่สำคัญคือทุกคนในระบบมีสิทธิ์ทำธุรกรรมระหว่างกันด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยการยืนยันจากตัวกลาง จึงเป็นที่มาของ DeFi หรือ การเงินแบบกระจายศูนย์หรือ Decentralized Finance นั่นเอง

 

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาสู่ DeFi

แนวคิดการเงินแบบ DeFi ใช้คุณสมบัติจากเทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็น Distributed Ledger และ Smart Contract แน่นอนว่าด้วยความเป็นดิจิทัลทำให้สามารถต่อยอดและผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้อีกมาก แต่หากถามถึงประโยชน์หลักๆ ที่จะเกิดขึ้นจากแนวคิด DeFi ในปัจจุบัน จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่

 

ใช้งานได้ทั่วโลกตั้งแต่แรก เดิมทีการทำบริการทางการเงินจะอยู่จำกัดบนเครือข่ายของตัวกลางเท่านั้น กล่าวคือ หากตัวกลางไม่ได้เชื่อมเครือข่ายกับปลายทาง เราก็ไม่สามารถทำธุรกรรมไปยังปลายทางนั้นได้ ต่างจาก DeFi ส่วนใหญ่ที่ใช้บล็อกเชนบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ทุกคนที่ใช้บริการระบบเดียวกันนี้สามารถใช้บริการได้จากทุกที่บนโลก

 

ทำงานอัตโนมัติได้ทุกขั้นตอน แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น แต่การเงินแบบรวมศูนย์ก็ยังไม่สามารถทำงานเป็นอัตโนมัติได้ทุกขั้นตอน ทำให้นอกจากจะมีต้นทุนแล้ว ยังอาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดได้ ส่วน DeFi ยืนพื้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมาตั้งแต่แรก และมักออกแบบให้ตัวกลางทำงานได้อัตโนมัติ จึงทำงานได้แม่นยำกว่า

 

ต้นทุนธุรกรรมต่ำกว่า ค่าบริการต่ำกว่า ผลตอบแทนน่าสนใจกว่า แนวคิด DeFi ใช้เทคโนโลยีที่มีความพร้อมทั้งการเข้าถึงและการทำงานโดยอัตโนมัติเพื่อบันทึกธุรกรรม โดยส่วนมากจึงมีค่าใช้จ่ายดำเนินการที่ต่ำกว่าการทำงานของตัวกลางแบบรวมศูนย์ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่จัดทำโครงสร้างพื้นฐานจนถึงการสร้างระบบ เมื่อต้นทุนธุรกรรมต่ำลง จึงสามารถกำหนดค่าบริการที่ต่ำกว่า รวมถึงให้ผลตอบแทนอย่างดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าเดิมได้

 

ขยายขีดจำกัดของโลกการเงิน เมื่อ DeFi มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทุกคนจึงมีส่วนร่วมกับการทำงานของระบบได้มากกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขผ่าน Smart Contract ทำให้การกู้เงินหรือการเคลมประกันภัยเป็นไปโดยอัตโนมัติ การแบ่งสิทธิถือครองหลักทรัพย์ในหน่วยย่อยกว่าเดิมทำให้เข้าถึงนักลงทุนได้มากขึ้น หรือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างกันด้วยค่าธรรมเนียมดำเนินการที่ต่ำลง

 

CeFi และ DeFi กับข้อถกเถียงถึงมาตรฐานการดูแลด้านการเงิน

แม้ว่า DeFi จะเป็นแนวคิดทางการเงินที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดนี้จะเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้กำกับดูแลที่ต้องเผชิญความท้าทายในการป้องกันธุรกรรมไม่พึงประสงค์ 

 

เนื่องจากระบบการเงินแบบ CeFi สิทธิการบันทึกและจัดการทั้งหมดจะอยู่ที่บรรดาผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งหากเป็นธุรกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ผู้กำกับดูแลจะสามารถควบคุมผ่านตัวกลางได้โดยตรง จึงระงับเหตุและยับยั้งความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้หากธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นบนระบบ DeFi ผู้กำกับดูแลอาจไม่สามารถควบคุมความเสียหายผ่านการทำงานร่วมกับตัวกลางได้ ทำให้หลายประเทศยังชะลอโครงการทางการเงินแบบ DeFi และสนับสนุนกับการเพิ่มประสิทธิภาพของ CeFi แทน

 

อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์การควบคุมดูแลทั้งหมดไว้ที่ตัวกลางก็เป็นความเสี่ยงไม่แพ้กัน เนื่องจากผู้กระทำผิดสามารถโจมตีระบบของตัวกลางได้โดยตรง อันจะนำมาสู่ความเสียหายที่รุนแรงจนถึงขั้นที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ โดยธนาคารกลางยุโรปอ้างอิงรายงานประเมินว่าหากเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ไปยังธนาคารสำคัญของโลก อาจนำมาสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 654 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และแน่นอนว่า DeFi ซึ่งใช้คุณสมบัติกระจายศูนย์ของข้อมูลจะสามารถลดความเสี่ยงจากการโจมตีรูปแบบดังกล่าว

 

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงตื่นเต้นกับศักยภาพในอนาคตของ DeFi ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับแนวคิด DeFi อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบสำคัญและตัวอย่างการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง ซึ่ง SCB 10X จะขอนำเสนอให้ทุกท่านได้ติดตามกันในโอกาสต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X