- GDP สหรัฐฯ ขยายตัว 2.0% โดยวานนี้ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาสที่ 2/2019 ซึ่งโต 2.0% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.1% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 11 ปี ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัว 4.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2014 จากภาคการจ้างงานที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามการลงทุนจากภาคธุรกิจลดลง 0.6% สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในการสร้างบ้าน จากความกังวลผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี
- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ โดยญี่ปุ่นมีกำหนดประกาศตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.3% (MoM) ฟื้นตัวจากครั้งก่อนหน้าที่หดตัว 3.3% ขณะที่ตัวเลขยอดค้าปลีกคาดว่าจะหดตัว 0.6% (MoM) ลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.5% สืบเนื่องจากแนวโน้มการบริโภคที่ลดลงจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการผลิตที่ฟื้นตัวขึ้นจากการหดตัวแรงในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ขณะที่สหภาพยุโรปมีกำหนดประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้น (Consumer Price Index) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรปใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงิน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.0% (YoY) ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับใกล้เคียง 2.0% 8 เดือนต่อเนื่อง
- สงครามการค้าส่งสัญญาณคลายความตึงเครียด โดยวานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยว่า จีนและสหรัฐฯ มีกำหนดการหารือระดับเจ้าหน้าที่ร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งสอดคล้องในทิศทางเดียวกันกับคำกล่าวของ สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า ทางการจีนมีอีกหลายมาตรการเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ แต่สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือ การหารือเพื่อระงับการจัดเก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่ เพื่อป้องกันสงครามการค้าที่อาจปะทุขึ้นได้
- สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ระบุ รัฐบาลออกมาตรการถูกทาง โดย ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ระบุว่า ท่ามกลางกรณีสงครามการค้าที่กดดันการค้าและการส่งออกทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทางรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่มองว่าโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจยังอยู่ที่ระดับ 50% อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูมาตรการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจต่อไปว่าจะมีนโยบายเช่นไร หลังจากที่การกระตุ้นใน 2 ส่วนดังกล่าว ยังไม่ชัดเจนและขาดหายไป
- แกนนำประท้วงฮ่องกงถูกจับ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือน โดยเช้านี้ โจชัว หว่อง แกนนำปฏิวัติร่มถูกจับและนำตัวไปสถานีตำรวจ โดยที่ยังไม่ระบุข้อหา สร้างความกังวลต่อสถานการณ์ที่ส่อเค้ารุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประท้วงเตรียมนัดชุมนุมครั้งใหญ่ในสุดสัปดาห์นี้
- ชาวอังกฤษลงชื่อในเว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อคัดค้านคำสั่งขยายเวลาปิดประชุมสภาฯ รวมกว่า 1.4 ล้านรายชื่อภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงแรก พร้อมกับเดินขบวนประท้วงหน้ารัฐสภาหลายพันคน
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดกลับมาฟื้นรับข่าวดี หลังสหรัฐฯ-จีนเตรียมเข้าสู่โต๊ะเจรจาในเดือนหน้า ขณะที่ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยยังคงอยู่ จากสัญญาณ Inverted Yield Curve แต่ความกังวลในตลาดหุ้นวานนี้ส่งสัญญาณผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นพร้อมกันเกือบทุก Sector เช่น Communication Services (+1.34%), Consumer Discretionary (+1.48%), Energy (+1.45%), Financials (+1.48%), Health Care (+0.77%), Industrials (+1.77%), Information Technology (+1.73%), Materials (+1.17%) เป็นต้น ขณะที่ VIX Index ปรับตัวลงสู่ระดับ 17.88 จุด จากระดับสูงสุด 21.3 จุด เช่นเดียวกับราคาทองคำ ลงมาอยู่ที่ 1,529.75 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง -19.35 หรือ (-1.25%)
ยุโรป
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3411.33 เพิ่มขึ้น 45.95 (1.37%)
- DAX ปิดที่ 11838.88 เพิ่มขึ้น 137.86 (1.18%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7184.32 เพิ่มขึ้น 69.61 (0.98%)
- FTSE MIB ปิดที่ 21398.17 เพิ่มขึ้น 407.46 (1.94%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 20460.93 ลดลง -18.49 (-0.09%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6507.4 เพิ่มขึ้น 6.8 (0.1%)
- Shanghai ปิดที่ 2890.92 ลดลง -2.84 (-0.1%)
- Hang Seng ปิดที่ 25703.5 เพิ่มขึ้น 88.02 (0.34%)
- SET ปิดที่ 1639.14 เพิ่มขึ้น 22.21 (1.37%)
- KOSPI ปิดที่ 1933.41 ลดลง -7.68 (-0.4%)
- BSE Sensex ปิดที่ 37068.93 ลดลง -382.91 (-1.02%)
อเมริกา
- Dow 30 ปิดที่ 26362.25 เพิ่มขึ้น 326.15 (1.25%)
- S&P500 ปิดที่ 2924.58 เพิ่มขึ้น 36.64 (1.27%)
- Nasdaq ปิดที่ 7973.39 เพิ่มขึ้น 116.51 (1.48%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 56.73 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.95 (1.7%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 60.52 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.59 (0.98%)
- ราคาทองคำ ปิดที่ 1529.75 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง -19.35 (-1.25%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing